กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--สสวท.
เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า การศึกษาปฐมวัย คือ การวางรากฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กเพื่อพัฒนาศักยภาพในการคิด และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดั้งนั้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงริเริ่มให้มี โครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีปฐมวัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงวันนี้ ได้นำมาสู่การพัฒนากรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ปฐมวัย ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดให้มีการเปิดตัวกรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ปฐมวัย ขึ้น ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร โดยมีครูปฐมวัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
หนึ่งในกิจกรรมคือ การจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “วิทย์-คณิตปฐมวัย สำคัญอย่างไรต่ออนาคตของชาติ” โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาปฐมวัยและการพัฒนาเด็ก ได้แก่ รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต นายแพทย์ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ และ ดร.เขมสิริ ประภามนตรีพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนประภามนตรี เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้
รศ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เริ่มด้วยภาพกว้างของแนวทางจัดการศึกษาในปัจจุบันว่า ในทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับว่า การเรียนรู้ในช่วงชีวิต 0-6 ขวบ นั้นจะเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง มนุษย์แต่ละคนจะโตขึ้นเป็นคนอย่างไรขึ้นอยู่กับช่วงวัยนี้ เพราะเซลล์สมองจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เราจึงให้ความสำคัญต่อเด็กในวัยนี้
“คุณภาพของครูเป็นเรื่องที่สำคัญ ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ต้องมีโอกาสก้าวหน้า และมีแรงจูงใจให้แก่ครู หลักสูตรต้องเปลี่ยนแปลง คือ 70-30 เปอร์เซ็นต์ระหว่างเล่นและเรียน เด็กปฐมวัยต้องเน้นที่การเล่นมากกว่า ที่สำคัญการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง ศึกษาธิการอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ร่วมกันของผู้ปกครอง และทุกส่วนในสังคม”
ด้านนายแพทย์ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ในฐานะจิตแพทย์ พูดถึงพัฒนาการทางสมองของเด็กในการเรียนรู้ วิทย์-คณิตว่า ปัจจุบันเราไม่สามารถแยกหน้าที่ของสมองซ้าย-ขวา ออกจากกันได้ และมีการค้นพบที่ต่างออกไปคือ สมองเด็กมีการพัฒนาจากด้านหลังไปด้านหน้า และกระบวนการทำงานของสมองจะมีการจัดระเบียบใยประสาท และเชื่อมใยประสาทซีกซ้าย-ขวา เข้าหากัน โดยเฉพาะในช่วง อายุ 3-5 ปี ทำให้เกิดความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เราจึงค้นพบว่าเด็กปฐมวัยสามารถเรียนภาษาพร้อมๆกันได้หลายภาษา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ปฐมวัย และบูรณาการกิจกรรม ไม่ใช่การแยกกิจกรรม เช่น การใช้ดนตรีในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้
นพ.ยงยุทธ์ ได้กล่าวถึง วิกฤตที่เกิดขึ้นของเด็กวัยนี้ว่า “การที่เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้ใยประสาทที่มากเกินไปถูกตัดทิ้ง และหากเกิดการเรียนรู้ หรือกระตุ้นในสิ่งผิดจะทำให้เกิดการเรียนรู้ผิดๆไปด้วย เราค้นพบว่า ถ้าจะแก้ปัญหาไอคิว อีคิว สมาธิสั้น หรือปัญหาอื่นๆที่เกิดกับเด็กปัจจุบัน การแก้ที่ดีที่สุดคือแก้ในช่วงปฐมวัย เพราะสมองเด็กสามารถเปลี่ยนแปลง ชดเชยความผิดพลาดเดิมๆ ได้ดีที่สุด”
ส่วน อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข พูดถึงการเรียนรู้วิทย์-คณิตของเด็กในช่วงปฐมวัยว่า มีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน คือ เนื้อหาความรู้ ,กระบวนการ และเจตคติ ในช่วงเริ่มต้นเจตคติเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเรียนอะไรด้วยความรักจะนำมาซึ่งความสุข จากนั้นควรมีกระบวนการที่สร้างให้เด็กเป็นนักวิทยาศาสตร์ รู้จักการสืบค้น แต่ปัญหาจากการทำวิจัยเด็กไทยทั่วประเทศ พบว่า ทางด้านสังคมนั้นเด็กไทยปรับตัวได้ดี แต่เรื่องสติปัญญา พื้นฐานด้านคณิต-วิทย์นั้นต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งสาเหตุใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูในครอบครัวที่ไม่ได้ปลูกฝังให้ใช้เหตุผล โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อเด็กหกล้ม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ยังใช้วิธีการกล่าวโทษว่าเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบ แทนที่จะมองว่าเด็กขาดความระมัดระวัง เป็นต้น
อ.ธิดา ยังได้เสนอการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทย์-คณิตกับเด็กปฐมวัยว่า ควรจัดการเรียนรู้แบบเป็นไปตามธรรมชาติ ขณะที่เด็กเล่น คุณครูควรจะสังเกต และจดบันทึกพฤติกรรมของเด็ก จะทำให้ครูเกิดแรงจูงใจภายในเมื่อเห็นพฤติกรรมของเด็ก และนำสิ่งที่เห็นมาชวนเด็กพูดคุยในห้องเรียน วิธีที่สองครูอาจเข้าไปแทรกแซงอย่างเหมาะสม ชวนเด็กตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เด็กจะพยายามค้นหาคำตอบ หรือพยายามทดลองทำเพื่อหาคำตอบ กระบวนการเช่นนี้จะทำให้เด็กรู้จักการตั้งคำถามของตัวเอง และครูควรจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ มีการเชื่อมโยง ดนตรี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เข้าด้วยกัน สิ่งที่สำคัญในช่วงปฐมวัยคือ เด็กต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
สิ่งที่กล่าวมานี้ สอดคล้องกับสิ่งที่นพ.ยงยุทธ์ ได้พูดถึงการเรียนรู้ของสมองว่า สมองจะเรียนรู้จากการได้ลงมือทำจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์เด็กเล็กหลายๆแห่งคือ คุณครูให้เด็กทำกิจกรรมในกระดาษ ดังนั้นสิ่งที่ต้องส่งเสริมคือการให้เด็กได้ลงมือทำจริง เขาจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น คุณครูต้องบูรณาการการเรียนการสอนมากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆในการสอน โดยการต่อยอดจาก 6 กิจกรรมหลักที่กำหนดไว้ในการศึกษาปฐมวัย
นอกจากนี้ ดร.เขมสิริ ประภามนตรีพงศ์ ในฐานะเจ้าของโรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก เห็นว่า บุคลิกภาพของครูผู้สอนเป็นสิ่งสำคัญ ครูผู้สอนเองจะต้องมีบุคลิกภาพที่สามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ ทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ กล้าคิด กล้าตอบ กล้าถาม มีท่าทีที่อ่อนโยน จริงใจ ไม่เลือกถามเฉพาะเด็กเก่งเท่านั้น เพราะคำตอบทุกคำตอบของเด็กมีความหมาย ครูเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขาได้
วิทยากรทั้ง 4 ท่านสรุปตรงกันว่า การให้การศึกษาวิทย์-คณิต นั้น เรื่องของกระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญกว่าเนื้อหา และแบบฝึกหัด ดังนั้นจึงต้องมีการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะหลายคนเมื่อส่งลูกเข้าเรียนอนุบาลมักจะคาดหวังว่าลูกจะอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.วรากรณ์ เห็นว่า การอ่านออกเขียนได้เป็นสิ่งสำคัญก็จริง เพราะการคิด การอธิบายความจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความสามารถทางภาษา แต่ไม่ใช่ในระดับอนุบาล แต่ควรจะเริ่มต้นในประดับประถมศึกษาปีที่ 2 ขึ้นไป
ทั้งนี้ อ..ธิดา เห็นว่า ในระดับปฐมวัยนั้น การเรียนการสอนควรจะเป็นการกระตุ้นให้เขาค้นหา ค้นคว้า ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างนักวิทยาศาสตร์น้อยขึ้นมามากกว่า อย่าสกัดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องรู้ว่าลูกในวัยนี้กำลังเรียนรู้อะไร เราควรจะส่งเสริมอย่างไร
สุดท้าย นพ.ยงยุทธ์ ฝากข้อห่วงใยไปยังผู้ปกครองที่มีลูกในช่วงปฐมวัยว่า การใช้สื่อโทรทัศน์มากเกินไปทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาสมาธิได้ตามวัย และในระดับปฐมวัยไม่จำเป็นต้องให้ใช้สื่อ ICT จนกว่าจะขึ้นชั้นประถมศึกษา
อนึ่ง สสวท. ได้มีการสร้างกรอบมาตรฐาน และคู่มือกรอบมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ปฐมวัย โดยนำเสนอตัวอย่าง การบูรณาการกิจกรรมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และยังได้มีการจัดอบรมครู และวิทยากรแกนนำ เพื่อนำไปขยายผล ทั้งนี้ มีโรงเรียนทั่วประเทศจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง และ ครูปฐมวัยเข้าร่วมอบรมแล้วจำนวน 18,679 คน