สภาอุตสาหกรรม ฯ ใช้กลยุทธ์เชิงรุก จัดโครงการ “จับคู่ธุรกิจ” และ “กองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร”กระตุ้นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ SMEs

ข่าวทั่วไป Tuesday March 13, 2007 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระตุ้น การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน SMEs ไทย ด้วยการใช้กลยุทธ์เชิงรุกจัด 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ซื้อได้พบผู้ขาย ตั้งเป้าจัดขึ้น 5 ภาคทั่วประเทศ ครั้งแรกที่ภาคกลาง ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 18-20 พค.นี้ และ โครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร (Machine Fund) เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักร
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจ SMEs เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs
โดยโครงการจับคู่ธุรกิจ เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ส่งเสริม กิจกรรมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นและสร้างดีมานด์ต่อสินค้าอุตสาหกรรมของ SMEs ตลอดจนหาตลาดเป้าหมายใหม่ๆ และพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม 2) ส่งเสริมผู้ซื้อพบผู้ขาย เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น 3) ส่งเสริมให้มีตลาดกลางซื้อขายวัตถุดิบและชิ้นส่วน เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ 4) ส่งเสริมการจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนระหว่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลความต้องการจัดซื้อของบริษัทข้ามชาติ สร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้มีช่องทางการตลาดมากยิ่งขึ้น
โครงการครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม — กันยายนนี้ ซึ่ง SMEs ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง โดยกิจกรรมครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับต่างจังหวัดจะจัดขึ้นทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยภาคเหนือจัดที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่นครราชสีมา ภาคตะวันออกจัดที่ชลบุรี ภาคใต้จัดที่สงขลา นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมขึ้นในต่างประเทศ อีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และแอฟริกา
“นอกจากจะมีการจับคู่ธุรกิจแล้ว โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ SMEs นำสินค้ามานำเสนอในส่วนของ Showcase Zone และยังมีกิจกรรมการนำเสนอ Best Practice และอบรมในหัวข้อต่างๆ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรมไทย” นายสันติ กล่าว
นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรว่า เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ใช้เครื่องจักรในการผลิตที่ทันสมัยมากขึ้น และยังเป็นลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ซึ่งในปี 2548 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 6.8% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยสนับสนุนดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 5 ปี และมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม — กันยายนนี้
SMEs ที่เข้าร่วมโครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาเครื่องจักร โดยนำไปต่อยอดงานวิจัยพัฒนาต้นแบบของเครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อนำไปสนับสนุนและก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาเครื่องจักรเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมทั้งเป็นการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบการทำงาน ว่าสามารถใช้งานได้จริงตามมาตรฐานและเหมาะสมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2) ซ่อมบำรุง ติดตั้ง ทดแทน ชิ้นส่วน ระบบต่างๆ รวมทั้งการขยายหรือปรับแต่งชิ้นส่วน อุปกรณ์ ระบบ โดยยังใช้โครงสร้างเครื่องจักรเดิม 3) เพื่อนำเงินไปใช้ในการติดตั้งเครื่องจักร หรือระบบควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม
“สภาอุตสาหกรรมฯมั่นใจว่าทั้งโครงการจับคู่ธุรกิจ และโครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร จะทำให้ ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย มีขีดความสามารถมากขึ้นและเพียงพอที่จะเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง รวมทั้ง ยังสามารถแข่งขันได้ทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ ทั้ง 2 โครงการกำลังเปิดรับสมัคร สำหรับ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่สำนักวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” นายสันติ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ