ท่องแดนวิทยาศาสตร์เทคโนธานี

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2011 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กระทรววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้อนรับปิดเทอม ชวนเยาวชนร่วมตะลุยโลกวิทยาศาสตร์กับกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร “ท่องแดนวิทยาศาสตร์เทคโนธานี” เปิดโลกความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมสัมผัสประสบการณ์ใหม่จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ไม่มีวันจบสิ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร “ท่องแดนวิทยาศาสตร์เทคโนธานี” ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารผดุงมาตร สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(มว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) ร่วมให้ความรู้กับเยาวชน พร้อมชมมินิคอนเสิร์ตจากค่ายอคาเดมี่แฟนตาเซีย พี่พริ้ง AF5 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กและเยาวชนจะต้องมีการเรียนรู้ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรอบด้านหรือในหลายมิติองค์ความรู้ มิใช่รู้เพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในแต่ละองค์ความรู้สามารถนำมาประกอบหรือร้อยเรียงกันให้เป็นองค์ความรู้ในบริบทที่ประกอบด้วยองค์ความรู้ในหลายมิติ อีกทั้งองค์ความรู้ในแขนงหนึ่งๆ ก็สามารถเชื่อมโยงต่อยอดไปยังองค์ความรู้แขนงอื่นๆ ได้อย่างไม่จบสิ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นหน่วยงานซึ่งมีนโยบายหลักในการมุ่งส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ตระหนักถึงความสำคัญของกาการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกมิติ เพื่อให้เด็กและเยาวชนของชาติมีความสนใจที่จะมุ่งแสวงหาความรู้ต่อไปอย่างไม่รู้จบ ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม “คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร” ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการที่จะนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่เด็กและเยาวชนให้ได้มากที่สุด เพื่อเติมเต็มความรู้และต่อยอดความคิดของเยาวชนไทยให้พัฒนาก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ทั้งความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี 3G ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ความรู้ในหลักฟิสิกส์อากาศพลศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และความรู้ในเรื่องของนาโนเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์แนวทางการศึกษาของชาติที่มุ่งหวังให้เยาวชนไทยมีการเรียนรู้ในลักษณะที่รู้ลึก รู้จริง และรู้รอบด้าน ได้เป็นอย่างดี โดยการจัดกิจกรรม “คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร” หัวข้อ “ท่องแดนวิทยาศาสตร์เทคโนธานี” ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เหมือนอย่างที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองและสภาวะแวดล้อมรอบตัวเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่การเรียนรู้ของเยาวชนก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งเชื่อว่าเด็ก เยาวชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรม จะนำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งประโยชน์ต่อตนเองและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต พล.อ.ต.ดร. เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กล่าวว่ามาตรวิทยา” เป็นวิชาว่าด้วยการวัดที่มีมานานและมีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ หากไม่มีการวัดก็คงไม่สามารถอธิบายลักษณะหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ ไม่สามารถทำการค้า แลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันได้ ซึ่งในการวัดต้องใช้เครื่องมือต่างๆ แล้วแต่ปริมาณที่ต้องการจะวัด เช่น เมื่อต้องการวัดความยาว ก็อาจใช้ตลับเมตร ไม้เมตร หรือไม้บรรทัด ถ้าจะต้องชั่งน้ำหนักก็ใช้เครื่องชั่ง หรือถ้าจะจับเวลาก็ใช้นาฬิกา เครื่องมือแต่ละชนิดมีหน่วยวัดหรือสเกลต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะใช้วัดปริมาณของสิ่งใด ผู้วัดควรเลือกเครื่องมือวัดให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะวัด เช่น ในการวัดความยาวของเชือกเส้นสั้นๆ อาจใช้ไม้บรรทัดที่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร แต่ถ้าต้องการวัดระยะทางยาวๆ ก็ควรใช้ตลับเมตร หรือสายวัดที่มีหน่วยเป็นเมตร หรือเซนติเมตร อย่างไรก็ดี เมื่อโลกพัฒนาขึ้น มาตรวิทยาก็มีพัฒนาการตามไปด้วย เช่น ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์สามารถสร้างเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงใช้ศึกษาวัสดุที่มีขนาดเล็กมากๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และวัดขนาดได้ในระดับนาโนเมตร ซึ่งมีค่าเท่ากับหนึ่งในพันล้านส่วนของเมตร เป็นต้น โดยในการกำหนดหน่วยวัดในแต่ละประเภทนั้น ในปี ค.ศ.1875 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ และนำไปสู่สนธิสัญญาเมตริก มีใจความสำคัญว่าให้สร้างมาตรฐานต้นแบบที่มีคำจำกัดความชัดเจนสำหรับเป็นหน่วยวัดพื้นฐาน 7 หน่วย เรียกว่า ระบบหน่วยวัดสากล หรือ ระบบหน่วยวัดเอสไอ (International System of Units: SI) ดังนี้ 1. เมตร เป็นหน่วยวัดของปริมาณความยาว 2.กิโลกรัม เป็นหน่วยวัดของปริมาณมวล 3.วินาที เป็นหน่วยวัดของปริมาณเวลา4.แอมแปร์ เป็นหน่วยวัดของปริมาณกระแสไฟฟ้า 5.เคลวิน เป็นหน่วยวัดของปริมาณอุณหภูมิ 6.แคนเดลาเป็นหน่วยวัดของปริมาณอุณหภูมิ และ 7.โมล เป็นหน่วยวัดของปริมาณสาร โดยหน่วยวัดพื้นฐานเหล่านี้ คือ หน่วยซึ่งหน่วยวัดอื่นๆ สามารถสอบกลับได้ หรืออ้างอิงกลับได้ เช่น หน่วยวัดของพื้นที่ เรียกว่า ตารางเมตร เขียนว่า เมตรยกกำลัง 2 สอบกลับได้เป็น หน่วยเมตรคูณด้วยหน่วยเมตร หน่วยของปริมาตรหรือความจุ เรียกว่า ลูกบาศก์เมตร เขียนว่า เมตรยกกำลัง 3 สอบกลับได้เป็น หน่วยเมตรคูณด้วยหน่วยเมตรคูณด้วยหน่วยเมตร และนอกเหนือจากหน่วยวัดพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น ยังมีหน่วยวัดอนุพันธ์ ซึ่งได้แก่ หน่วยวัดที่ประกอบด้วยหน่วยวัดพื้นฐานหลายๆ หน่วย เช่นหน่วยของความเร็ว เรียกว่า เมตรต่อวินาที เขียนว่า เมตร/วินาที ประกอบด้วย หน่วยเมตรหารด้วยหน่วยวินาที เป็นต้น “ทั้งนี้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมีความสำคัญและจำเป็นมากในโลกยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะในด้านการค้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติที่ได้มาตรฐานตามหลักสากลย่อมได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากนานาประเทศ และเป็นหลักประกันในคุณภาพสินค้าด้วย ทำให้การค้าขายเป็นไปอย่างราบรื่น จำหน่ายสินค้าได้มาก จึงนับเป็นทางหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของชาติ อีกทั้งยังมีความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้า และการบริการที่มีมาตรฐาน มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2540 มีหน้าที่ดำเนินการทั้งทางด้านเทคนิค และด้านการให้บริการแก่ผู้ใช้งานทั่วไป งานด้านเทคนิคคือ การสร้างห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานการวัดที่ถูกต้องและแม่นยำตามหลักสากล จัดหาและเก็บรักษามาตรฐานการวัดแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งสำหรับอ้างอิงของกิจกรรมต่างๆ ในประเทศ และจัดการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติให้ทันสมัยและสอดคล้องตามระบบมาตรวิทยาสากล ด้านงานบริการ เช่น ให้บริการสอบเทียบ ให้คำปรึกษา รวมทั้งเปิดการฝึกอบรมและจัดสัมมนาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่ผู้ใช้งาน ผู้ที่จะเข้าสู่ระบบงาน และให้บริการด้านสารสนเทศแก่สาธารณชนทั่วไป จึงถือได้ว่าสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเป็นทั้งหน่วยงานของชาติที่รับผิดชอบในการรักษาและถ่ายทอดมาตรฐานการวัด และมีบทบาทหน้าที่ในการทำให้เกิดการยอมรับของมาตรฐานการวัดแห่งชาติในระดับสากล” ขณะเดียวกัน ทุกประเทศในโลกมีระบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (Bureau International des Poids et Mesures: BIPM) ที่ว่า One Measurement, accepted everywhere หนึ่งการวัด ยอมรับทั่วโลก ซึ่งระบบมาตรวิทยาจะสนับสนุนให้ระบบคุณภาพต่างๆ (ได้แก่ ISO ต่างๆ) เกิดขึ้น นั้นคือ ระบบคุณภาพต้องการการสอบกลับได้ทางการวัด (Quality system requires the measurement traceability.) และมาตรวิทยาเป็นการดำเนินการที่ทำให้เกิดการสอบกลับได้ทางการวัด (Metrology provides that measurement traceability.) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีระบบมาตรวิทยา (Metrology System) หรือระบบการวัดแห่งชาติ (National Measurement System) ซึ่งประกอบด้วย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่สถาปนาและรักษามาตรฐานการวัดของประเทศ และห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความถูกต้องของมาตรฐานการวัดจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติสู่ผู้ใช้งาน เพื่อยืนยันผลการวัดและความถูกต้องของการตรวจ วิเคราะห์ และทดสอบ ที่กำกับไปกับสินค้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ดังนั้น ระบบการวัดแห่งชาติจึงเป็นระบบที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องสร้างให้มีขึ้น และต้องพัฒนาให้มีความสามารถในการวัดที่เที่ยงตรงแม่นยำ เพื่อลดการทดสอบซ้ำจากปลายทาง และเพื่อให้สินค้าสามารถแข่งขันได้ หากปราศจากระบบการวัดแห่งชาติที่เข้มแข็งก็อาจกล่าวได้ว่า ประเทศจะไม่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในยุคการกีดกันทางการค้า โดยอาศัยความได้เปรียบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นข้อกำหนดทางคุณภาพของสินค้าได้ ทางด้านนายเทพบดินทร์ บริรักษ์อราวินท์ นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้ากล่าวถึงความสำคัญของเวลา ว่า การวัดเวลาในแง่มุมของการทหาร เช่น การใช้ RADAR ตรวจจับและระบุตำแหน่งของเครื่องบินรบของข้าศึก ซึ่งจะใช้การวัดผลต่างของ “เวลา” ในการสะท้อนกลับของคลื่นความถี่สูง แล้วนำมาคำนวณหาพิกัดและความเร็วของเครื่องบินรบข้าศึก หากการวัด “เวลา” ผิดพลาดเพียงเสี้ยววินาที การระบุตำแหน่งก็จะผิดพลาดไปได้มาก เนื่องจากวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ทำให้ไม่สามารถทำลายเครื่องบินรบของข้าศึกได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติโดยตรง ขณะที่ ดร. สุเมธ เหมะวัฒนาชัย นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล ให้ข้อมูลการวัดด้านแรงว่า การทดสอบด้านแรง เช่น ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าขนาดใหญ่สำหรับใช้เป็นโครงสร้างสะพาน จำเป็นต้องมีการทดสอบหาคุณสมบัติของเหล็กว่าสามารถรับแรงได้ตามมาตรฐานหรือไม่ โดยใช้เครื่องทดสอบแรงดึงแรงกด (Universal Testing Machine) ในการดึงหรือกดวัสดุ แล้วบันทึกค่าแรง (Force) กับระยะยืด (Deflection) ของวัสดุเพื่อนำไปคำนวณหาความเค้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลโดยตรงกับการออกแบบขนาดเหล็กที่เหมาะสมกับสะพาน ขณะที่นายทัศนัย แสนพลพัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการความแข็งและแรงบิด ฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล กล่าวถึงการวัดแรงบิด ว่า ในปัจจุบัน การวัดแรงบิดมีความสำคัญต่อภาคการผลิต เพราะแทบจะหาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากชิ้นงานเพียงชิ้นเดียวไม่ได้เลย รอบๆ ตัวเรานั้นมีแต่ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการประกอบของชิ้นงาน อย่างน้อย 2 ชิ้นขึ้นไป เช่น ปากกา แว่นตา รถยนต์ มือถือ เป็นต้น และเทคนิคที่ภาคอุตสาหกรรมนิยมใช้ คือ การประกอบแบบชิ้นอัดด้วยน๊อตหรือสกรู แรงบิดจึงเป็นปริมาณการวัดที่จำเป็นเพื่อควบคุมแรงประกอบของชิ้นงานต่างๆ เพื่อความสวยงาม ประหยัด และปลอดภัย ส่วนในการวัดความแข็งนั้น ความแข็งเป็นปริมาณการวัดเชิงอันดับ (Ordinal quality) ที่มึความสัมพันธ์ และใช้บอกคุณสมบัติทางกลของวัสดุทางอ้อม เช่น ความเค้น, ความแกร่ง, ความยืดหยุ่น, ความเปราะของวัสดุ เป็นต้น การวัดความแข็งยังถูกพัฒนาเพื่ออธิบายคุณสมบัติในระดับจุลภาคเพื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย เหตุที่การวัดความแข็งนิยมใช้แทนการวัดคุณสมบัติทางกลโดยตรง เนื่องจากเป็นวิธีการที่รวดเร็ว ประหยัด และสามารถนำชิ้นงานทดสอบกลับไปใช้หรือสามารถทดสอบได้ทุกชิ้นงาน ส่วนนายวีระ ตุลาสมบัติ หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล กล่าวถึงผลกระทบของแรงพยุงอากาศว่า เพราะเครื่องชั่ง (Balance) เป็นเครื่องวัดแรงที่แรงดึงดูดของโลกกระทำต่อวัตถุ มิใช่วัดมวล (Mass) ของวัตถุโดยตรง หลายคนจึงไม่ทราบว่า อากาศรอบวัตถุที่ถูกวัดมีผลกระทบต่อผลการวัดมวลโดยตรง อากาศรอบตัววัตถุทำให้เกิดแรงพยุงอากาศ จึงทำให้แรงน้ำหนักของวัตถุที่เครื่องชั่งอ่านได้น้อยลง ผลกระทบนี้ ยังขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัตถุและความหนาแน่นของอากาศรอบวัตถุอีกด้วย ด้าน น.ส.นงลักษณ์ ตั่งไพศาลกุล นักมาตรวิทยาเคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวถึง การผลิตอินดิเคเตอร์จากธรรมชาติ ว่า การวัดค่าความเป็นกรด — เบส หรือ ค่า pH นั้น เป็นกิจกรรมซึ่งสามารถพบได้ทั้งในห้องปฏิบัติการ และในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมผลิตสารเคมี อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมอาหาร น้ำดื่ม ยา และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งการวัดค่าความเป็นกรด — เบส มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความถูกต้องที่ต้องการ เช่น การใช้กระดาษวัดค่า pH หรือ การใช้อินดิเคเตอร์ สำหรับการผลิตอินดิเคเตอร์อย่างง่ายสามารถนำเอาของรอบตัวมาประยุกต์ใช้ได้ คือ นำเอากะหล่ำปลีสีม่วง หรือ ดอกอัญชันมาใช้ได้ สำหรับการวัดค่าความหวาน ดร. ปรียาภรณ์ พุกรอด หัวหน้าห้องปฏิบัติการอินทรีย์เคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวให้ความรู้ว่า เครื่องวัดค่าความหวาน หรือ Brix Refractometer ถูกนำมาใช้สำหรับวัดปริมาณร้อยละโดยน้ำหนักของของแข็งทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งวัดเป็นองศาบริกซ์ (?Brix) ตัวอย่างเช่น การวัดค่าความหวานในน้ำอ้อย สารละลายน้ำตาล น้ำหวาน น้ำผลไม้ และเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งก่อนที่เราจะนำเครื่องวัดค่าความหวานมาวัดตัวอย่างดังกล่าว ควรมั่นใจว่าเครื่องวัดค่าความหวานนั้นสามารถวัดค่าได้อย่างถูกต้องและพร้อมใช้งาน โดยการสอบเทียบด้วยสารละลายมาตรฐานน้ำตาลซูโครส ขณะทีน.ส.ปณัฐดา ปานเพ็ชร นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิ กล่าวถึงการวัดอุณหภูมิ ว่าLiquid in Glass Thermometer เป็นเทอร์โมมิเตอร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยหลักการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเชิงกลของของเหลวภายในเทอร์โมมิเตอร์ โดยสามารถอ่านค่าอุณหภูมิได้จากขีดสเกลที่อยู่บนก้านแก้ว ดังนั้นเพื่อให้ค่าอุณหภูมิที่อ่านได้มีความถูกต้อง จึงต้องนำเทอร์โมมิเตอร์นี้ไปสอบเทียบกับเทอร์โมมิเตอร์มาตรฐานก่อนนำมาใช้งาน ส่วนการวัดอุณหภูมิเชิงแผ่รังสี ดร. นฤดม นวลขาว นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันการวัดอุณหภมิเชิงแผ่รังสีได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากต่อชิวิตประจำวันของทุกคน เช่น เมื่อเราไปโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็จะวัดอุณหภูมิของเราโดยใช้เทอร์โมมิเตอร์ที่ไม่ต้องอาศัยการสัมผัส ซึ่งทำให้สามารถวัดอุณหภูมิได้อย่างรวดเร็ว หรือเมื่อมีการระบาดของไข้หวัดชนิดต่างๆ ก็จะมีการติดตั้งเครื่องมือที่เรียกว่า “Thermal imaging camera” ณ สนามบินเพื่อคัดกรองผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดเหล่านี้ นอกจากนี้ ในด้านอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสากรรมที่ต้องวัดอุณหภูมิต่ำๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมที่ต้องวัดอุณหภูมิสูงๆ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กหรือเซรามิก ก็ได้ใช้ประโยชน์จากการวัดอุณหภูมิเชิงแผ่รังสีในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เช่นกัน ขณะที่นางธสร สิงหะเนติ นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิ กล่าวถึงการวัดความชื้นว่า เมื่อน้ำในอากาศได้ถูกให้ความร้อน/เย็น ไอที่ระเหยออกมาจะกลายเป็นไอน้ำต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั้งเกิดเป็นไอน้ำอิ่มตัว และควบแน่นออกมาเป็นหยดน้ำ ปรากฎการณ์ที่เรารู้จักกันดีในเรื่องของการควบแน่นเมื่ออากาศอิ่มตัวก็คือการตกของฝน ด้วยหลักการควบแน่นของไอน้ำ ทำให้เราสามารถวัดความชื้นในอากาศออกมาได้หลากหลายหน่วย ทั้งที่เป็นอุณหภูมิหยดน้ำค้าง (dew-point temperature) และที่เป็นเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) เป็นต้น กิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ “มหัศจรรย์แห่งสาหร่าย” ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติดร.สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้สั่งสมประสบการณ์วิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายมาเป็นเวลากว่า 25 ปี มีคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและจีน มีคลังสาหร่ายเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายที่แยกจากระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ และมีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100 — 10,000 ลิตร รวมทั้งมีนักวิชาการและทีมงานที่เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์ในการวิจัยพัฒนาด้านสาหร่าย ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนามมากกว่า 25 ปี และยังมีผลงานเป็นรูปธรรมทั้งด้านองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายชนิด อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน ดังนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงมีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทางด้านวิชาการและงานวิจัยที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบถึงผลงานวิจัยในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเกษตร ด้านอาหาร ด้านพลังงานทดแทน และ ด้านการลดภาวะโลกร้อนและเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง ซึ่งผลงานวิจัยทุกชิ้นที่ได้มามีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการวิจัยในเรื่องพลังงานทดแทนจากสาหร่ายเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกให้กับประเทศชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ด้าน ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการ 10 ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยสาหร่าย กล่าวให้ความรู้ถึงผลงานวิจัยสาหร่ายของ วว. ว่า ได้สั่งสมประสบการณ์วิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายมาเป็นเวลากว่า 25 ปี มีคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียที่มีการเก็บรักษาสายพันธุ์ที่แยกจากระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ มีผลงานเป็นรูปธรรมทั้งด้านองค์ความรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายหลายชนิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน ทั้งผลงานวิจัยที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ ด้านการเกษตร มีการวิจัยปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในนาข้าว ภายใต้ชื่อ “อัลจินัว” มีประโยชน์ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ 20-30% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 25-30% เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโน “ไลซีน”ที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้น ช่วยฟื้นฟูสภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน การวิจัยสารปรับปรุงดินจากสาหร่ายสกุลนอสตอค มีประโยชน์ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน รักษาความชุ่มชื้นของดิน ช่วยป้องกันการกัดเซาะผิวดินโดยน้ำและการกัดกร่อนผิวดินโดยลม รวมทั้งฟื้นฟูและอนุรักษ์ดิน ซึ่ง วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท อัลโกเทค จำกัดส่วนด้านอาหารได้มีการวิจัยสาหร่ายมุกหยกที่มีคุณค่าอาหารสูง โดยมีโปรตีน 20% กรดอะมิโน วิตามินเอ ขณะที่มีไขมันต่ำเพียง 0.02% และใยอาหารสูงถึง 43% รวมทั้งคลอโรฟิลล์และ ไฟโคไซยานินที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารต่างๆ ได้ ทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่ง และ อาหารญี่ปุ่น ซึ่ง วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท อัลโกเทค จำกัด และ บริษัทสยามนอสตอค แอนด์ ไมโครแอลจี จำกัด ด้านพลังงานทดแทนได้มีโครงการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายเพื่อการจำหน่ายทางการค้า โดยการสนับสนุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนิน “โครงการวิจัยพัฒนาการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย Botryococcus spp.” ซึ่งประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศไทย นับเป็นการวิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายผลิตน้ำมันแบบก้าวกระโดด โดยสามารถคัดเลือกสาหร่ายสายพันธุ์ที่ผลิตเม็ดน้ำมันสูงได้รวดเร็วเป็นจำนวนกว่า 40 สายพันธุ์ นำไปสู่การวิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงระดับขยายเชิงพาณิชย์กลางแจ้ง เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ผลิตน้ำมันสูงที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยต่อไป ซึ่งเทคนิคดังกล่าวจะส่งผลให้มีการวิจัยสาหร่ายผลิตน้ำมันเพื่อเป็นพลังงานทดแทนในอนาคตได้เป็นรูปธรรมรวดเร็วขึ้น ดร.อาภารัตน์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ วว. คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันและพัฒนาการเพาะเลี้ยงในระดับขยายเชิงพาณิชย์กลางแจ้งแล้ว ในส่วนของน้ำมันที่ได้ ปตท. จะนำไปวิเคราะห์คุณสมบัติและพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความเหมาะสมในการใช้งานต่อไป โดย ปตท. สนับสนุนทุนวิจัย 140 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย(คพท.) มีระยะเวลาดำเนินงาน 7 ปี (พ.ศ. 2551-2558) โดยมีเป้าหมายเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และเป้าหมายเชิงเทคนิคให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันประมาณ 40% หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่าย 6 ตันน้ำมันต่อไร่ต่อปี ไม่รวมผลิตภัณฑ์พลอยได้จำพวกโปรตีนคุณภาพสูง สารสกัดจำพวกกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งเบื้องต้นได้ประเมินต้นทุนการผลิตซึ่งมวลสาหร่ายอยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง โดยมีปริมาณน้ำมัน 20-30% ของสาหร่ายแห้ง แต่ก็ยังเป็นต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงจึงจะทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ขณะที่การวิจัยด้านการลดภาวะโลกร้อน และเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่า ได้แก่ ใช้กระบวนการผลิตร่วมโดยการใช้ของเสียคือน้ำเสียมาเพาะเลี้ยงสาหร่าย เพื่อลดต้นทุนค่าน้ำและค่าปุ๋ย และนำชีวมวลสาหร่ายที่เหลือจากการสกัดมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ปุ๋ย และ อาหารสัตว์ ฯลฯ “จุดเด่นงานวิจัยด้านสาหร่าย มีคลังสาหร่ายน้ำจืดขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและจีน มีคลังสาหร่ายเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายที่แยกจากระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ และมีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100 — 10,000 ลิตร รวมทั้งมีนักวิชาการและทีมงานที่เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์ในการวิจัยพัฒนาด้านสาหร่าย ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนามมากกว่า 25 ปี ทำให้มีข้อได้เปรียบสูงด้านการคัดเลือกหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดในการต่อยอดงานวิจัยแขนงต่างๆ โดยมีผลงานเป็นรูปธรรมทั้งด้านองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายชนิด ซึ่งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนในการนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน วว.ยังได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ และประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ได้แก่ 1.อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในการเป็นที่ตั้งของคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ เพื่อการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และพัฒนาสาหร่ายมุกหยกเพื่อเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ 2.อนุสัญญาว่าด้วย การต่อต้านการเป็นทะเลทราย โดยการพัฒนาสาหร่ายเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรในรูปแบบปุ๋ยชีวภาพและวัสดุปรับปรุงดิน และ 3.อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการผลิตพลังงานจากสาหร่ายด้วยกระบวนการผลิตโดยใช้ของเสีย ได้แก่คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำเสีย และการผลิตผลิตภัณฑ์ร่วมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายของ วว. ได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้า วว. โทร. 0-2577-9300 หรือโทร. 0-2577-9000 โทรสาร 0-2577-9009 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ www.tistr.or.th และ E-mail : tistr@tistr.or.th” ดร.อาภารัตน์ กล่าวในตอนท้าย กิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ในหัวข้อ “ตะลุย!!..พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ “ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” นายธนากร พละชัย รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) กล่าวว่า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีพันธกิจและหน้าที่หลักในการกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และปลูกฝังให้เยาชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสถานที่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินของครอบครัว รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งผู้เข้าชมจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินจากกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนช่วยบุกเบิกโลกวิทยาศาสตร์ ห้องอินเตอร์เน็ต ประวัติการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การปฏิบัติภารกิจของมนุษย์อวกาศ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและพลังงานที่สามารถทดลองเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง การจัดแสดงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน รวมถึงความรู้ที่จะได้รับจากส่วนแสดงนิทรรศการอีกด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไปมาแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้แล้ว ยังถือเป็นการช่วยยกระดับภูมิปัญญาของเยาวชนไทยให้มีความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ รู้จักหลักการของเหตุและผล มีความรู้ ความสามารถในกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์มากขึ้น ที่สำคัญยังทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อให้คุ้นเคยกับวิชาความรู้ในแขนงนี้ ไม่หวั่นกลัวที่จะต้องเข้าเรียนวิทยาศาสตร์และได้รับความสนุกสนานจากการได้ทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองต่อไปอย่างไม่รู้จบ ขณะที่นายวัชรพงษ์ เพ็ชรธรรมชาติ อาสาสมัคร องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ว่า ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หรือ “ตึกลูกเต๋า” พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรม ซึ่งใช้รูปทรงเรขาคณิตเป็นอาคารรูปลูกบาศก์จำนวน 3 ลูก ยึดติดกัน โดยมุมแหลม 3 จุดเป็นจุดรับน้ำหนัก ในแต่ละจุดรับน้ำหนักถึง 4,200 ตัน ผนังภายนอกกรุด้วยแผ่นเหล็กเคลือบด้วยเซรามิก มีทั้งหมด 6 ชั้น ความสูง 45 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 18,000 ตารางเมตร โดยผู้เข้าชมจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินจากกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนช่วยบุกเบิกโลกวิทยาศาสตร์และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ห้องอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จัดอบรมความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ที่สนใจ และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังมีประวัติการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ บุคคลสำคัญ และผลงานการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การกำเนิดมนุษยชาติ ซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์อายุ 3.5 ล้านปี การปฏิบัติภารกิจของมนุษย์อวกาศ ประวัติและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลาต่างๆ นักวิทยาศาสตร์เด่นของโลก และการค้นพบในแต่ละยุค โลกที่เปราะบางเป็นการแสดงพลังของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติและผลกระทบของการใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและพลังงานที่สามารถทดลอง เรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น ความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ความร้อน แสง เสียง ไฟฟ้า แม่เหล็ก แม่เหล็กไฟฟ้า แรงและการเคลื่อนที่ความเสียดทาน สสาร และโมเลกุล เป็นต้น รวมถึงมีการจัดแสดงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน ประเทศไทย ในเรื่องของที่ตั้งทางภูมิทัศน์, ภูมิศาสตร์, ธรณีวิทยา, นิเวศวิทยา, อุตุนิยมวิทยา, การใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เรียนรู้เทคโนโลยีสิ่งก่อสร้างและโครงสร้าง “ส่วนกิจกรรมที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมได้อย่างมากก็คือ ส่วนของการจัดแสดงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นการประยุกต์วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเราสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากเรื่องใกล้ตัวของเรา เกี่ยวกับร่างกายของเรา การดูแลรักษาสุขภาพ และยังมีการศึกษาประวัติและพัฒนาการด้าน การคมนาคม การตกแต่งบ้านและสำนักงานที่แสดงให้เห็นถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ใน การออกแบบและสร้างอาคารบ้านเรือน ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ระบบการทำงานของเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน แสดงให้เห็นชิ้นส่วนและการทำงานที่อยู่ด้านใน, เรียนรู้ปัญหาเกี่ยวกับมลภาวะและการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งมีการจัดแสดงเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยที่นำเสนอการประยุกต์วิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตของไทยภูมิปัญญาไทยและความสามารถของบรรพบุรุษไทยในด้านต่าง ๆ ได้แก่ วิถีชีวิตไทยที่ผูกพันกับธรรมชาติเทคโนโลยีการแกะสลัก เทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผา เทคโนโลยีโลหะกรรม เทคโนโลยีการทอผ้าเทคโนโลยีเครื่องจักสาน และมุมของเล่นพื้นบ้านของไทย” นายพัทธนันท์ พุ่มประเสริฐ อาสาสมัคร อพวช. กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จะมีส่วนแสดงนิทรรศการ 4 ส่วน และส่วนชิ้นงานสำหรับเล่นเพื่อการเรียนรู้ (Interactive) โดยใช้ชื่อว่า "หลากหลายธรรมชาติไทย เพื่อความเข้าใจปวงประชา" โดยมีการจัดแสดงการกำเนิดโลก และระบบสุริยะจักรวาล การนำเสนอองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้เข้าใจว่าเมื่อมีสิ่งมีชีวิตแล้วจะต้องมีองค์ประกอบหรือคุณสมบัติที่สำคัญอะไรบ้าง จัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่กำเนิดในยุคต่างๆ ได้แก่ มหายุคพรีแคมเบรียน (มหายุคแห่งการซ่อนเร้น ประมาณ 2,500 — 600 ล้านปี) มหายุคพาลีโอโซอิก (มหายุคแห่งดึกดำบรรพ์ ประมาณ 545 — 240 ล้านปี) มหายุคมีโซโซอิก (มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลาน ประมาณ 248 — 65 ล้านปี) และมหายุคโซโนโซอิก (มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประมาณ 65 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน) และบทสรุปแสดงความหลายหลากของสิ่งมีชีวิต พร้อมทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ยูเรก้า (Heureka Science Center) ประเทศฟินแลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี การสื่อสาร รวมถึงขีดความสามารถและพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร อาทิการส่งสัญญาณวิทยุ สัญญาณโทรทัศน์ การสร้างรหัส และถอดรหัส ประสิทธิภาพของสายสัญญาณประเภทต่าง ๆ การส่งสัญญาณโทรศัพท์ ระบบสัญญาณต่าง ๆ เทคโนโลยีการสื่อสารระยะไกล รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารสำหรับผู้พิการ โดยนิทรรศการชุดนี้ได้ถูกนำไปจัดแสดงในยุโรปมาแล้วรวม 13 ประเทศ ประกอบด้วยชิ้นงานที่ผู้ชมสามารถเรียนรู้ด้วยการสัมผัสและทดลองเล่นได้ด้วยตนเองกว่า 25 ชิ้น อีกด้วย ? ท่านสามารถติดตามข่าวสาร การจัดกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ http://www.most.go.th/scitalk สนับสนุนข้อมูลโดย: สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ผู้เขียนข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ กระทรววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 0 86021 9521 หรือ Call Center : 1313

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ