กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ก.ไอซีที
นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่า จากประกาศกระทรวงฯ เรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 28 ได้กำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ ต้องผ่านการอบรมด้านจริยธรรม สืบสวนสอบสวน ความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Security) และการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensics) แล้วแต่กรณี และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการตามประกาศแนบท้ายพระราชบัญญัติฯ ด้วย ดังนั้น กระทรวงฯ จึงต้องมีการส่งเสริมสมรรถนะของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
“กระทรวงฯ มีหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติฯ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจตั้งแต่การรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษทางอาญา และมีอำนาจในการสอบสวนด้วย โดยที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงฯ เคยปฏิบัติภารกิจในลักษณะนี้มาก่อน” นายวินัย กล่าว
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ภายใต้โครงการส่งเสริมสมรรถนะของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในการบังคับใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ขึ้น เพื่อจัดการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เหมาะสมในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรตามหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยอ้างอิงหลักสูตรตามภาคผนวกของประกาศกระทรวงฯ เรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ และหลักสูตรอื่นๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งจัดการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติฯ และสามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมข้าราชการ ส่วนราชการ องค์กรห้างร้านต่างๆ ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต ร้านอินเทอร์เน็ต และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติฯ อีกด้วย
นายวินัย ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงฯ ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยได้เชิญวิทยากร ผู้มีความรู้ความสามารถจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมกันนี้ ยังได้มีการวางแนวทางกระจายกำลังพนักงานเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ให้ขยายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่ประชาชนจะได้มีที่พึ่งพาเมื่อประสบปัญหาทางด้านอินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังจะจัดให้มีการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังการแต่งตั้ง เพื่อให้มีการปรับความรู้และมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
นอกจากการดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ แล้ว กระทรวงฯ ยังได้มีการจัดทำ (ร่าง) คู่มือแนะแนวทางปฏิบัติทางเทคนิคที่สอดคล้องกับกฎหมายตามพระราชบัญญัติฯ อีกด้วย โดยในคู่มือดังกล่าวได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการทั่วไปในการสืบสวนคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น ความผิดในลักษณะต่างๆ พยานหลักฐานที่อาจพบตามลักษณะความผิดนั้นๆ ขั้นตอนปฏิบัติในกรณีความผิดลักษณะต่างๆ การแจ้งเบาะแสในคดีความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาในเรื่องรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติในกรณีความผิดลักษณะต่างๆ เช่น การสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต การประสานงานให้ได้มาซึ่งข้อมูล การเข้าค้นและยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเก็บรักษาพยาน การส่งต่อพยานหลักฐาน เป็นต้น
“ส่วนในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้น กระทรวงฯ ได้มีแนวทางเผยแพร่หลักการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ โดยจะให้ความรู้ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ของกระทรวงฯ ขณะที่การเผยแพร่ความรู้ให้กับร้านให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น กระทรวงฯ ได้ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ตสามารถดำเนินการได้ถูกต้อง โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากร้านต่างๆ ที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ให้บริการที่ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง ซึ่งกระทรวงฯ ก็ได้ดำเนินการประสานงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับร้านอินเทอร์เน็ต เช่น กระทรวงวัฒนธรรม ให้ช่วยกระจายองค์ความรู้สู่ร้านอินเทอร์เน็ตเหล่านั้น เพื่อกวดขันให้มีการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องต่อไป” นายวินัย กล่าว