กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำ ให้เตรียมรับมือกับภาวะฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2550 พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคอื่นๆปริมาณฝนจะมากกว่าเดือนที่ผ่านมาและอาจมีพายหมุนเขตร้อน (พายุดีเปรสชั่น พายุโชนร้อน หรือพายุไต้ฝุ่น) ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและมีโอกาสค่อนข้างสูงที่พายุหมุนเขตร้อนบางลูกจะเคลื่อนเข้าใกล้หรือเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือของประเทศไทย จึงขอเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำ ให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก พายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มตามแนวเชิงเขา เบื้องต้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มและคลื่นลมแรง โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มความระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนัก จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา กรมปภ.ได้รับรายงานจากจังหวัด ที่ประสบภัย ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 2550 มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 5 จังหวัด 37 อำเภอ 7 กิ่งอำเภอ 268 ตำบล 2,403 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ หนองคาย สกลนคร และกาฬสินธุ์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 349,501 คน 77,137 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 คน ที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ สถานที่ราชการ/วัด 4 แห่ง สะพาน 9 แห่ง ฝาย/ทำนบ 10 แห่ง ถนน 608 สาย พื้นที่การเกษตร 140,316 ไร่ บ่อปลา/กุ้ง 366 บ่อ มูลค่าความเสียหาย 272,757,962 บาท ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงจังหวัดอุบลราชธานีและศรีเกษ ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากมีน้ำท่วมขังและเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมปภ.ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัด จัดเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในเบื้องต้น พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกล รวมทั้งอาหารและน้ำดื่มสะอาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯโดยด่วน สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดประสบความเดือดร้อนจากสาธารณภัยติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานขอให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป