กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
จับตาตลาดส่งออกอาหารไทยไปสหรัฐฯ สะเทือน! เหตุถูกกักกัน ปฏิเสธนำเข้า ซ้ำเวียดนาม จีน แย่งตลาดคนเอเชียในสหรัฐฯ สถาบันอาหาร — กระทรวงการต่างประเทศ ติวเข้มผู้ประกอบการไทยเร่งสร้างมาตรฐานการผลิต
สถาบันอาหาร ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เร่งพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารไทยอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อรักษาตลาดอาหารส่งออกอันดับ 1 ของไทยมูลค่าแสนล้านบาท พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยพลิกตัวหนีคู่แข่ง หาลู่ทางทำตลาดใหม่ หันยกระดับปรับเปลี่ยนช่องทางการตลาดจับตลาดคนอเมริกันในสหรัฐฯ (Mainstream Market) ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและมีขนาดใหญ่ทดแทนตลาด Ethnic Market หลังถูก เวียดนาม และจีน แย่งตลาดคนเอเชียที่อาศัยในสหรัฐฯ เหตุราคาสินค้าถูกกว่าไทย
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงการสัมมนาเรื่อง “กฎ ระเบียบ และ เส้นทางนำเข้าสินค้าอาหารในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ประกอบการควรทราบ เพื่อป้องกันการปฏิเสธนำเข้า” ว่า สถาบันอาหาร ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้จัดทำโครงการสินค้าอาหารไทย เพื่อป้องกันการกักกัน สินค้าไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการกำหนดกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าที่มีความเข้มงวด ทั้งยังได้มีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มหน่วยงานและกฎระเบียบการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทางสถาบันอาหาร และกระทรวงการต่างประเทศ จึงได้ร่วมมือกันจัดสัมมนาในหัวข้อดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจใน กฎ ระเบียบการนำเข้าและมาตรฐานสินค้าอาหารของสหรัฐอเมริกาให้แก่ผู้ประกอบการอาหารของไทย และป้องกันปัญหาการปฏิเสธนำเข้าสินค้าอาหารในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอาหารที่สำคัญของไทย
“สหรัฐอเมริกานับเป็นตลาดนำเข้าสินค้าอาหารของไทยที่ติดอันดับ 1 — 3 มาโดยตลอด ช่วง 5 ปี ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวด้านมูลค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 8 และด้านปริมาณขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งเข้าตลาดสหรัฐที่สำคัญคือ สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ และกลุ่มข้าวและธัญพืช เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งเข้าตลาดสหรัฐฯ สูงสุด 3 อันดับแรกมาตลอด 5 ปี ในปี 2549 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทยอันดับ 1 โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 104,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 14.4 ในขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเดิมเคยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในปี 2549 ลดลงมาอยู่อันดับ 2 คือ มีมูลค่าราว 92,058 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 4.3 โดยสินค้าอาหารส่งออกไปสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ กุ้ง ทูน่ากระป๋อง ข้าว ปูกระป๋อง ผักผลไม้กระป๋อง เป็นต้น”
ทั้งนี้ สินค้าอาหารไทยที่ถูกปฏิเสธการนำเข้า โดยสาเหตุอันดับหนึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คือ การตรวจพบ FILTHY หรือสิ่งน่ารังเกียจ สิ่งเน่าเสีย มีมากถึงร้อยละ 33.47 ของจำนวนรายการที่ไทยถูกปฏิเสธการนำเข้า ทั้งหมด สินค้าอาหารไทยอีกร้อยละ 15.63 ของผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่ถูกปฏิเสธนำเข้าสหรัฐฯ เพราะตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค หรือ SALMONELLA
ปี พ.ศ. 2545-2549 มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอาหารไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เป็นจำนวนรวม 1,293 ราย เฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้า 4 กลุ่มหลัก คือ สัตว์น้ำ ธัญพืช ผักผลไม้ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรสถูกปฏิเสธการนำเข้าในสหรัฐฯ เป็นจำนวนรวม 346 ราย ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ร้อยละ 11 ขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ถึงร้อยละ 89
นายรณชัย ชัยบัตร์ กรรมการ บริษัท ASIA etc. จำกัด เปิดเผยว่า ในปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารในสหรัฐอเมริกา แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1. Ethnic Market ซึ่งเป็นตลาดที่สินค้าอาหารไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ ส่งเข้าสู่ตลาดนี้ โดยตลาดนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ Oriental market คือ ผู้บริโภคชาวไทย ลาว เวียดนาม Hispanic market คือ ผู้บริโภคชาวละตินอเมริกา และอเมริกาใต้ Indian market คือ ผู้บริโภคชาวอินเดีย และ Mexican market คือ ผู้บริโภคแม็กซิกัน 2. Mainstream Market เป็นตลาดที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน มีกำลังซื้อสูงและมีขนาดใหญ่กว่าตลาด Ethnic Market ซึ่งในปัจจุบันอาหารไทยเข้าถึงตลาดประเภทนี้น้อยมาก ทว่าในอนาคตตลาดของคนอเมริกันจะเป็นตลาดเป้าหมายใหม่ที่ประเทศไทยต้องหันมารุกทำตลาดอย่างจริงจัง สืบเนื่องจากประเทศไทยถูกเวียดนาม และ จีน แย่งตลาดคนเอเชียที่อาศัยในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากราคาสินค้าถูกกว่าไทย จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องหันมาจับตลาด Mainstream Market ที่เป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูงแทน
ดร.ยุทธศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงแนวนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าประเภทอาหารสู่ต่างประเทศ โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ทั้งในส่วนของการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามกฎระเบียบการนำเข้าของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันกับตลาดคู่แข่งที่สำคัญ คือ ประเทศจีน และเวียดนาม ที่ได้เปรียบในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ต้องเร่งปรับตัวให้ทันตลาดคู่ค้า ก่อนที่จะถูกประเทศเพื่อนบ้านแย่งตลาดไป”
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา ทางสถาบันอาหาร และกระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการกักกันสินค้าอาหารไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะยาว ซึ่งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ 1. ควรนำระบบ GAP มาใช้ในการควบคุมสุขลักษณะการผลิต และเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต การปรับปรุงมาตรฐานสินค้าอาหารไทยให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานการนำเข้าสินค้าอาหารของสหรัฐ ทั้งนี้รัฐบาลควรออกมาตรการลดภาษีการสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการนำระบบ GMP/HACCP ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเร่งเจรจากับสหรัฐเพื่อมอบอำนาจการตรวจสอบหรือตรวจวิเคราะห์สินค้าอาหารส่งออกให้แก่รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการแทน 2.เนื่องจากเจ้าหน้าที่ US-FDA ไม่เข้าใจและไม่รู้จักสินค้าอาหารของไทยดีพอ จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าจึงต้องการให้รัฐบาลเชิญเจ้าหน้าที่ของ US-FDA และศุลกากรสหรัฐมาตรวจโรงงานผลิตเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสของฝ่ายไทย
3.ขอให้ภาครัฐจัดตั้งหน่วยงานกลาง เพื่อทำหน้าที่แจ้งเตือนกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ที่ประเทศคู่ค้าจะนำมาใช้ในอนาคต เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 4. ผู้ส่งออกสินค้าผัก/ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ อ้างถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหลักเรื่องการติดฉลากอาหารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนว่า เกิดจากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและกฎระเบียบบ่อยครั้ง รวมทั้งยังกำหนดให้ต้องแสดงรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไป และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ ผู้ส่งออกได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรของไทยในสหรัฐเพื่อการติดต่อได้สะดวก ดำเนินการรับจดทะเบียนให้แก่ผู้ประกอบการไทย
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทร. 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2, 0 89484 9894
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net