การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีการทำบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยาย โดย ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ข่าวทั่วไป Wednesday March 30, 2011 12:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--ไอเดีย คอมมิวนิเคชั่น ‘โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ’ เป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของประชากรโลก ขณะที่ในประเทศไทย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบนับเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุด ในอัตราที่รองจากโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ นพ. วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบ เป็นผลจากการสะสมของไขมันบนผนังหลอดเลือด โดยวงการแพทย์ทุกวันนี้ยังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุการเกิดที่แท้จริง “เราบอกได้แค่ว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักมีความเกี่ยวพันกับประวัติการเป็นโรคในกลุ่มเบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิต ของคนในครอบครัว รวมถึงการสูบบุหรี่ โดยมีปัญหาเรื่องความอ้วน ความเครียด และการขาดการออกกำลังกาย เป็นส่วนในการหนุนปัจจัยหลักอีกต่อหนึ่ง “ที่น่าสังเกตคือการตีบของหลอดเลือดไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่มีไขมันในเลือดสูง เราพบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจจะมียีนส์ผิดปกติบางอย่างที่เชื่อมโยงให้เกิดโรคขึ้น กรรมพันธุ์จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งมีส่วนกำหนดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบของคนแต่ละคน” จากสถิติของกระทรวงสาธารณะสุข ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอันเป็นผลจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ที่ 15-20 % ส่วนในรายที่ไม่เสียชีวิตก็อาจได้รับความพิการ หรือมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลง “ยังมีแนวโน้มว่าอัตราผู้ป่วยจะยังคงเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่การดูแลป้องกันตนเองและความรู้เท่าทันโรคยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะในรายที่ผู้ป่วยถูกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานเกินไปก่อนถึงมือหมอ” ‘เจ็บน้าอก’ ...สัญญาณอันตราย อาการสำคัญที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือเจ็บแน่นลักษณะเหมือนมีอะไรไรกดทับในหน้าอก โดยเฉพาะขณะออกกำลังกายหรือออกแรงอย่างหนัก บางรายอาจเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม ประกอบกับมีเหงื่อออกท่วมตัว คลื่นไส้ หน้ามืด และใจสั่น ทั้งนี้หากเกิดขึ้นแบบฉับพลันและรุนแรง จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Heart Attack) ซึ่งเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เทคนิควิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก คือ 1.การใช้ยา 2.การผ่าตัดตัดต่อเส้นเลือด (Coronary Artery Bypass Graft) คือการนำหลอดเลือดดำที่ขา หรือหลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกมาตัดต่อกับหลอดเลือดที่อุดตันเพื่อทำทางเดินของเลือดใหม่ และ 3. การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด (Endovascular Intervention) โดยสอดเครื่องมือเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อถ่างขยายทางเดินเลือดให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น “วิธีนี้มีขั้นตอนเริ่มต้นที่การฉีดสีและถ่ายภาพเอ็กซเรย์หลอดเลือดหัวใจเพื่อวินิจฉัย (Coronary Angiography) ซึ่งหากพบว่ามีอาการหลอดเลือดสมองตีบในขั้นรุนแรงจริง แพทย์จึงจะตัดสินใจทำ” การทำบอลลูนเพื่อถ่างขยายหลอดเลือด คือการสอดเส้นลวดขนาดเล็กท่าเส้นผมที่มีบอลลูนอยู่ตรงปลายผ่านเข้าไปจนปลายเส้นลวดเลยจุดที่หลอดเลือดตีบ โดยใช้ภาพจากการเอ็กซเรย์ช่วยในการวางตำแหน่งบอลลูนจนตรงกับ จุดที่หลอดเลือดหัวใจตีบ แล้วใช้แรงดันทำให้บอลลูนขยายตัวถ่างหลอดเลือดออกให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น บางกรณีที่หลอดเลือดยังไม่กว้างพอหรือมีโอกาสสูงที่จะเกิดการตีบซ้ำ แพทย์จะใส่ขดลวด (Stent) เข้าไปยังบริเวณที่เคยตีบ จากนั้นขยายขดลวดให้กางออกเพื่อยึดติดกับผนังหลอดเลือด ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือผู้ป่วยไม่ต้องรับการผ่าตัดและดมยาสลบ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจึงต่ำกว่าการผ่าตัดตัดต่อเส้นเลือด อีกทั้งผู้ป่วยยังใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 วัน และในกรณีที่เกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือดในตำแหน่งเดิม ผู้ป่วยสามารถถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวดซ้ำได้อีก ด้วยความปลอดภัยเช่นเดียวกับการทำครั้งแรก ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ริเริ่มการทำบอลลูนถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจตีบมาแล้วกว่าสิบห้าปี จนปัจจุบันมีผู้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ราว 600 กว่ารายต่อปี และมีแนวโน้มผู้เข้ารับการรักษาที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 15% ในทุก ๆ ปี และด้วยประสบการณ์ ทางโรงพยาบาลจึงมั่นใจในทีมบุคลากรของทางศูนย์ ฯ ว่าสามารถปฏิบัติการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ในศักยภาพที่เท่าเทียมกับแพทย์ทั่วโลก “สิ่งหนึ่งซึ่งพิสูจน์ได้ถึงการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของศูนย์ คือ ‘ระบบ’ ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกอาการ ตั้งแต่ในรายที่มีอาการของโรคน้อยไปจนถึงรายที่มีความซับซ้อนมากทั้งในแง่ของรายละเอียดโรคและเทคนิคขั้นตอนการรักษา ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าสามารถให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยได้ในทุกกรณี” ผลความสำเร็จที่ต่อเนื่องจากการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้ทางศูนย์ ฯ พัฒนาศักยภาพการทำบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดตีบไปสู่ตำแหน่งอื่น ๆ ได้ อาทิ สมองและคอซึ่งเป็นอวัยวะที่หัวใจส่งเลือดไปเลี้ยง โดยทำการพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดสมองด้วยวิธีการทำบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยาย (Endovascular Surgery) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง นพ.วิสุทธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ และนพ.ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ หัวหน้าแผนกอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาสาขาโรคหลอดเลือดสมอง โดยปัจจุบันได้ผ่านการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหลอดเลือดลำคอตีบ มาแล้วกว่าร้อยราย และอีกความสำเร็จหนึ่ง คือการใส่โครงลวดถ่างขยายหลอดเลือดแดงที่ลำคอ (Carotid Artery Stenting) ที่ทางโรงพยาบาล ฯ ได้มีสถิติการรักษาผู้ป่วยมาแล้วมากกว่าร้อยรายเช่นกัน ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา และโอกาสตีบซ้ำของหลอดเลือด “ในทางเทคนิคแล้ว ขั้นตอนของ Endovascular ดูเหมือนทำได้โดยง่าย แต่ในความเป็นจริง ความแตกต่างทางสรีระของคนไข้แต่ละราย ทำให้จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์อย่างสูง แต่สิ่งสำคัญที่สุดจริง ๆ แล้ว คือการทำงานเป็นทีมของบุคลากรทุกฝ่ายในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องและใกล้ชิด ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ระหว่างทำ และการติดตามผลการรักษา โดยทุกขั้นตอนมีความสำคัญเท่ากันหมด” โดยทั่วไป โอกาสที่หลอดเลือดหัวใจจะกลับมาตีบซ้ำใหม่ในตำแหน่งเดิมอยู่ที่ประมาณน้อยกว่า 8 % ในระยะเวลา 10-12 ปี หากใช้ stent ซึ่งอาบน้ำยา การตีบซ้ำขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ ระบบการติดตามผลที่ดี และการปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมแพทย์อย่างเคร่งครัดของตัวผู้ป่วยเอง จะทำให้โอกาสที่การตีบซ้ำของหลอดเลือดมีความเป็นไปได้น้อยลง หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย “แนวทางดำเนินงานของศูนย์หัวใจ คือเน้นความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด ไปจนถึงโปรแกรมหลังการรักษา ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำให้รู้ว่า ปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะทำให้โรคดำเนินซ้ำมีอะไรบ้าง ทั้งในเรื่องของอาหาร และการควบคุมโรคในกลุ่มที่เป็นปัจจัยสี่ยง ซึ่งบางครั้งเราจะใช้แพทย์เฉพาะทางเข้ามาร่วมดูแลแต่ละโรคเป็นการเฉพาะด้วย ที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้คนไข้เลิกสูบบุหรี่และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะสองสิ่งนี้ถ้าทำได้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้อย่างเห็นผลที่สุด “โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด การดูแลจะยากมาก เพราะในจุดเริ่มต้นจะไม่มีอาการใด ๆ บ่งบอก พอเป็นมากขึ้นถึงมีอาการ และเมื่อเป็นแล้วไม่มีทางหายขาด ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือการปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกัน และหากเป็นแล้วอย่าเสียใจ เป็นแล้วต้องรักษา หาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ เพราะการลดโอกาสเกิดซ้ำถือว่ามีความจำเป็นต่อผู้ป่วยอย่างมาก” นพ. วิสุทธิ์ กล่าวสรุป สอบถามรายละเอียด คุณแอนนา 081-3772111 บริษัท ไอเดีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ