ทางออกของเกษตรกรยุคน้ำมันแพง

ข่าวทั่วไป Tuesday July 12, 2005 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
ในยามภาวะน้ำมันแพงเช่นนี้ ผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรก็คือราคาปุ๋ย ที่ขยับเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ปุ๋ยเคมีที่เคยขายราคากระสอบละ 400 กว่าบาท เมื่อปีที่ผ่านมา ปรับขึ้นเป็นกระสอบละ 500 กว่าบาทไปเรียบร้อยแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปุ๋ยเคมีเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมี ระดับราคาจึงผูกติดกับราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรก็ยังจำเป็นต้องกัดฟันซื้อปุ๋ยกันต่อไป เพราะการใส่ปุ๋ยเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตผลกาแฟ ถ้าปุ๋ยไม่เพียงพอก็เป็นอันว่าจบกัน ดังนั้น นายทาธฤษ กุณาศล ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด แนะนำว่าทางออกที่ดีที่สุดในสภาวะการณ์เช่นนี้ก็คือ การใช้ปุ๋ยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราต้องจ่ายไปถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เกษตรกรจึงควรเรียนรู้หลักการใส่ปุ๋ยเคมีให้แก่ต้นพืชต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพดังนี้
1. เลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน: ซึ่งจะต้องรู้ก่อนว่าดินนั้นมีธาตุอาหารในแต่ละชนิดมากน้อยขนาดไหนโดยนำดินไปทำการตรวจสอบที่สำนักพัฒนาที่ดินเขตซึ่งตั้งอยู่เกือบทุกจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้การเลือก ใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องแทนที่จะต้องใส่ธาตุอาหารลงใปในดินทุกชนิด ซึ่งสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ และถ้าหากธาตุอาหารตัวใดมีในดินมากพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่เพิ่มลงไปอีก
2. ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน: มีผลต่อการตรึงธาตุอาหารทำให้พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมต้องอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ดินโดยทั่วไปจะมีความเป็นกรดสูง ควรแก้ไขด้วยการใส่ปุ๋ยขาวเพื่อลดความเป็นกรดของดิน การวัดค่าความเป็นกรดด่างของดินทำได้โดยการเก็บตัวอย่างและนำส่งทดสอบที่หน่วยงานของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือหมอดินหมู่บ้าน
3. ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะ และเหมาะสมกับช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืช: การใส่ปุ๋ยน้อยเกินไปก็จะทำให้พืชเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ในทางตรงกันข้ามถ้าหากใส่มากเกินไปก็เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ และอาจเป็นอันตรายแก่พืชได้โดยเฉพาะทำให้เกิดใบไหม้ และควรใส่ครั้งละน้อยแต่แบ่งใส่หลายครั้งจะดีกว่า สำหรับเรื่องช่วงเวลาการใส่ปุ๋ย มีเคล็ดลับง่ายๆ ในการจำว่าธาตุอาหารหลักแต่ละชนิดว่ามีความสำคัญอย่างไร คือ ไนโตรเจนบำรุงต้น ฟอสฟอรัสบำรุงดอก โปแตสเซียมบำรุงผล ตัวอย่างเช่นชาวสวนกาแฟควรเริ่มบำรุงต้นด้วยปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 200 กรัมต่อต้น ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน จากนั้นบำรุงต้นและดอกด้วยปุ๋ยสูตร 18-46-0 ปริมาณ 100 กรัม ผสมกับสูตร 0-0-60 ปริมาณ 150 กรัมต่อต้น ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม และสุดท้ายระยะกาแฟออกผลช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม บำรุงด้วยปุ๋ยสูตร 0-0-60 ปริมาณ 150 กรัมต่อต้น
4. สภาพแวดล้อมเหมาะสม: ควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอเพราะความชื้นจะเป็นตัวทำละลายปุ๋ยที่เราใส่ลงไปเพื่อที่จะให้ต้นพืชสามารถนำธาตุอาหารต่างๆ ไปใช้ได้และควรใส่ปุ๋ยหลังจากกำจัดวัชพืชแล้วเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหารกับพืชหลัก
5. วิธีการใส่ปุ๋ย: การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องจะต้องใส่ปุ๋ยโดยการหว่านภายในรัศมีทรงพุ่มของต้นพืชเพราะเป็นบริเวณที่รากพืชเจริญเติบโตและหาอาหาร การใส่นอกรัศมีทรงพุ่มถือเป็นการใส่ปุ๋ยโดยเปล่าประโยชน์
ในท้ายสุด ฝ่ายบริการการเกษตรขอฝากแง่คิดกับชาวสวนสักนิด คือ การใส่ปุ๋ยน้อยลงเพราะราคาแพงขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ สมมุติว่าปุ๋ยราคาแพงขึ้น 60 บาทต่อกระสอบ ชาวสวนก็เลยคิดว่าควรจะใส่ปุ๋ยให้น้อยลง แต่ถ้าเราคิดในทางกลับกัน หากสวนกาแฟสามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงอย่างน้อย 2 กิโลกรัมต่อไร่ ก็คุ้มค่าที่จะใส่ปุ๋ยแล้ว เพราะคิดเสียว่าปุ๋ยกิโลกรัมละ 30 บาท 2 กิโลกรัมคิดเป็นเงิน 60 บาทแล้ว และถ้าสามารถดูแลสวนให้ดี ย่อมต้องได้ผลผลิตมากกว่า 2 กิโลกรัมอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปด้วย เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงชนิดเดียวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้โครงสร้างดินเสื่อม และเมื่อถึงระดับหนึ่งพืชจะไม่สามารถดูดธาตุอาหารจากดินขึ้นไปใช้ได้ นั่นเท่ากับว่าชาวสวนกาแฟเสียเงินใส่ปุ๋ยเคมีให้กับต้นกาแฟ แต่ได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยพืชสด ช่วยทำให้กิจกรรมของจุลินทรีย์ และปฏิกิริยาทางเคมีในดินทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ สัดส่วนอินทรียวัตถุในดินเหมาะสม สามารถช่วยอุ้มน้ำ เนื้อดินโปร่ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดูดธาตุอาหารจากดินไปใช้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณนวพร เลาหสวัสดิ์ / พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
โทรศัพท์: 0 2651 8989 ต่อ 332
E-mail: nawaporn@prassociates.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ