กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--พม.
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมาณการณ์ว่า ในปี ๒๕๖๗ ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แต่กลับพบปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและครอบครัวที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่น มีความเอื้ออาทรและเอาใจใส่กัน กลับกลายมาเป็นวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ความสำคัญของผู้สูงอายุลดน้อยลง ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้ว้าเหว่ ซึ่งกระทบต่อจิตใจผู้สูงอายุ ถือเป็นปัญหาทางสังคมที่จะต้องร่วมกันช่วยแก้ไข ศูนย์การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สำรวจข้อมูลความเสี่ยงของผู้สูงอายุไทยใน ปี ๒๕๔๙ พบว่า มีผู้สูงอายุถึงร้อยละ ๖.๑ มีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ในจำนวนนี้มีสาเหตุจากไม่มีคู่สมรสหรือมีบุตรถึงร้อยละ ๓๒.๓ นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี ๒๕๕๐ มีผู้สูงอายุที่เป็นม่าย หย่า แยกกันอยู่ ถึงร้อยละ ๓๔.๘ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพัง ร้อยละ ๗.๗ ในจำนวนนี้มีปัญหาถึงร้อยละ ๔๓.๓ โดยมีความรู้สึกเหงา ร้อยละ ๕๑.๒ ไม่มีคนดูแลเมื่อเจ็บป่วย ร้อยละ ๒๗.๕ และข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่ามีผู้สูงอายุหายตัวออกจากบ้านด้วยสาเหตุของอาการสมองเสื่อมถึงร้อยละ ๖๓ ส่วนใหญ่ คนในครอบครัวไม่ทราบว่าผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคดังกล่าว
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ เป็นช่องทางในการให้คำปรึกษาช่วยเหลือ ระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓ เฉพาะกรุงเทพมหานคร ศูนย์ประชาบดี ได้ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แก่ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหา จำนวน ๙,๓๐๐ราย เฉลี่ยปีละ ๒,๑๗๑ ราย ปี ๒๕๕๒ มีจำนวนมากถึง ๖,๕๑๓ ราย ส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถึง ๖,๐๒๗ ราย ทั้งนี้ สถิติผู้รับการสงเคราะห์ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสูงอายุ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓ มีจำนวน ๔,๔๕๔ คน เฉลี่ยปีละ ๑,๔๘๕ คน ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันที่ ๑๓ เมษายน และวันครอบครัว ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๔ นี้ จึงขอเชิญชวนครอบครัวให้ความรักและดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ โดยอาจทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น เช่น การพาผู้สูงอายุไปวัด หรือไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ พร้อมครอบครัว คอยสังเกตและใส่ใจดูแลให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากธรรมชาติของผู้สูงอายุ มักจะใจน้อย คิดว่าลูกหลานไม่รัก ซึ่งชุมชนและหน่วยงานต่างๆ สามารถมีส่วนช่วยได้ โดยมีการจัดทำกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคม ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ.