กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปรับโครงสร้างกระทรวงฯ ใหม่ ว่า เนื่องจากขณะนี้กระทรวงฯ มี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เป็นหน่วยงานระดับกรมเพียงหน่วยงานเดียว ซึ่งรับแผนงานและนโยบายจากสำนักงานด้านวิชาการ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)และสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มาดำเนินงาน แต่ ที่ผ่านมาแผนงานที่เสนอไม่ค่อยได้นำไปปฏิบัติ เนื่องจากปัญหาด้านโครงสร้างและการทำงานที่ทับซ้อนกัน ทำให้การดำเนินงานขาดการเชื่อมต่อกัน จึงเตรียมแยกทั้ง ๓ สำนักงานข้างต้น ขึ้นเป็นระดับกรม คือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ทำหน้าที่ดูแลในแต่ละส่วนงานอย่างเต็มที่ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อ กรมประชาสงเคราะห์ ดังเดิม เพื่อความชัดเจนในการดูแลงานด้านสังคม
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มกรมกิจการผู้สูงอายุ ดูแลงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคต โดยแยกส่วนงานมาจากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) จึงทำให้กระทรวงฯ มีหน่วยงานระดับกรม ๕ กรม ในการดูแลงานด้านสังคมในแต่ละส่วนงานอย่างชัดเจน ได้แก่ กรมกรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการผู้สูงอายุ และกรมประชาสงเคราะห์ ทั้งนี้ ได้นำเรื่องการปรับโครงสร้างฯ เข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านความเห็นชอบในการจัดตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุแล้ว แต่ในส่วนของการยกระดับ ๓ สำนักงานขึ้นเป็นกรม เนื่องจากไม่ได้มีการเสนอตามขั้นตอนที่กำหนด จึงต้องมีการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก่อน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นระบบขั้นตอน ก่อนจะนำเข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งภายใน ๓๐ วัน สำหรับชื่อกระทรวงฯ ที่มีประเด็นว่าอาจตัดคำว่าความมั่นคงของมนุษย์ออกนั้น จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ ในวันนี้ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตัดออกให้ใช้ชื่อตามเดิม.