กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สช.
สช.เผยพบกลยุทธ์บริษัทนมผงรุกตลาดหญิงตั้งครรภ์ ทั้งโรงงาน เทศบาล ในรูปให้ความรู้แต่แฝงแจกของขวัญผลิตภัณฑ์นมตัวอย่าง เตรียมออกกฎหมายคุมปี 2555 ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวที สช.เจาะประเด็น “สงครามการตลาดนมทารกและขนมกรุบกรอบทำเด็กไทยอ้วน ?” เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 เรื่อง การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เรื่อง การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพเห็นว่า “ภาวะโรคอ้วน” กลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยและการแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีการจัดการแบบบูรณาการ และพบว่าแต่ละผลิตภัณฑ์ได้นำกลยุทธ์การตลาดมาใช้ในหลายรูปแบบ และสามารถเจาะตลาดถึงตัวผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้บริโภคทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่รู้เท่าทันจึงเกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่ภาวะโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาโรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะโรคอ้วนในเด็ก ซึ่งจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติในอนาคต ดังนั้นสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงได้เห็นพ้องร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหานี้ จึงมีการเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “โรคอ้วน” ถึง 2 ปีซ้อน และนำไปสู่การทำงานของหลายฝ่าย เพราะการแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีการจัดการแบบบูรณาการ และขณะนี้ได้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานไปมาก อย่างเรื่องการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนภายใน 1 ปี ซึ่ง ครม. ได้ให้ความเห็นชอบแล้วและ สช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ แต่สิ่งที่ได้ดำเนินการควบคู่กับการจัดทำแผนปฏิบัติการก็คือ การผลักดันให้มีการนำมาตรการเร่งด่วน ทั้ง มาตรการใช้สีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาล หรือโซเดียม มาตรการทางภาษีและราคาของอาหารเพื่อจัดการกับปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนก็ดำเนินการควบคู่กันไป
สำหรับการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จาก 182 กลุ่มเครือข่าย ได้มีฉันทามติให้เร่งรัดควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เอาจริงเอาจังกับการควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก และให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กเป็นการเฉพาะให้แล้วเสร็จในปี 2555 รวมทั้งเสนอให้กระทรวงแรงงาน และกรมบัญชีกลาง ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการขยายสิทธิการคลอดที่มีอยู่ออกไปเป็น 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างระหว่างลาในกรณีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายสิทธิการลาคลอดดังกล่าวก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานสตรีด้วย เรื่องนี้นำเสนอต่อ คสช. ไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เร็วๆ นี้
ด้าน พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขานุการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายที่ควบคุมการตลาดของบริษัทผลิตนมผงต่างๆ มีเพียงของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ห้ามการทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการตลาดในผลิตภัณฑ์นมผงของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่างๆมีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ครอบคลุมในกลุ่มอายุดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในหลักสากลมีข้อกำหนดลักษณะนี้เช่นกัน คือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก โดยไม่อนุญาตให้มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือส่งเสริมการขายแก่เด็กแรกเกิดไปจนถึง 2 ขวบ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2541 แต่ในความเป็นจริงกลับไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากไม่ใช่กฎหมายบังคับ ทำให้ปัจจุบันมีการเจาะตลาดผลิตภัณฑ์นมผงเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดถึงการแจกตัวอย่างนมผง โดยเดิมจะพบมากในโรงพยาบาลทุกแห่งของประเทศ แต่หลังจากมีการอบรมบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดเข้าใจก็ไม่ได้รับและแจกให้กับแม่ แต่ยังมีบางโรงพยาบาลห่างไกลก็ยังมีปัญหาอยู่ ล่าสุดมีการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีโอกาสในการติดต่อกับแม่หลังคลอดได้ โดยเฉพาะเทศบาลที่แม่แจ้งเกิด สำนักงานประกันสังคม รวมไปถึงในชุมชนตามพื้นที่ต่างๆ เลย และสุดท้ายไปที่สถานประกอบการ
“ส่วนใหญ่มุ่งไปที่สถานประกอบการ โดยเฉพาะในโรงงาน เนื่องจากมีผู้หญิงตั้งครรภ์มาก ซึ่งทางโรงงานก็อยากให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ ขณะเดียวกันก็มีการแจกกิ๊ฟเซ็ตชุดนมผงไปด้วย ตรงนี้ถือเป็นวิธีการขยายการตลาดที่ถึงตัว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือส่งเสริมการขายลักษณะทางตรง แต่ที่มีการละเมิดเนื่องจากไม่ใช่กฎหมายบังคับใช้ แต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น” พญ.ยุพยง กล่าว
นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเลี้ยงนมแม่ 6 เดือนของประเทศไทยต่ำมากที่สุดในเอเชีย ขณะที่ปัญหาเด็กอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภค โดยปัจจุบันเด็กที่กินขนมกรุบกรอบพบสูงถึงร้อยละ 49.6 และในขนมเหล่านี้พบว่ามีเพียง 18 ถุงจาก 100 ถุงที่นักโภชนาการยอมรับได้ นอกนั้นมีทั้งหวาน มัน เค็มจัด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า เด็กไทยกินขนมกรุบกรอบปีละ แสนล้านบาท เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนที่ 9,800 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่เด็กแต่ละคนเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนเฉลี่ยปีละ 3,024 บาทเท่านั้น ขณะเดียวกันเด็กเกินกว่าครึ่งหนึ่งกินผัก ผลไม้เพียงครึ่งช้อนต่อวัน จากเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขเคยกำหนดไว้ว่าควรกินผัก ผลไม้ วันละ 12 ช้อน นอกจากนี้เมื่อดูไปยังแต่ละโรงเรียนพบว่าหากโรงเรียนใดมีผัก ผลไม้ เป็นอาหารว่างให้เด็ก จะพบเด็กมีภาวะอ้วนน้อยกว่าโรงเรียนที่มีขนมกรุบกรอบเป็นอาหารว่างถึงร้อยละ 30 และยังพบข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่าหากมีโรงเรียนใดที่บริษัทน้ำอัดลมเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ จะมีเด็กอ้วนมากกว่าโรงเรียนทั่วไปถึง 1 เท่าครึ่ง และหากโรงเรียนใดขายเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ในโรงเรียน จะมีเด็กอ้วนมากกว่าโรงเรียนที่ไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าวมากถึง 2 เท่า
“การป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค สิ่งสำคัญต้องมีการปรับฉลากโภชนาการเป็นสัญญาณไฟจราจร ซึ่งขณะนี้มีปัญหามาก เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการคงไม่ยอม เนื่องจากเกรงว่าหากติดฉลากไปอาจไม่สามารถจำหน่ายได้ ขณะเดียวกันในเรื่องการให้แม่ลาคลอด 3 เดือน นั้น ยังถือว่าน้อย ควรปรับให้ถึง 6 เดือน เพื่อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองจนครบ 6 เดือน ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของลูกมากที่สุด นอกจากนี้ ควรมีการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายที่อนุญาตให้สามีลาคลอดพร้อมภรรยา เพื่อไปดูแลภรรยา และลูกอย่างใกล้ชิดในช่วงแรกๆ อาจไม่ถึง 3 เดือน แต่อย่างต่ำประมาณ 2 สัปดาห์ เบื้องต้นครม.ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่ยังต้องมีการผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็วต่อไป” นายสง่า กล่าว
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธาราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในประเด็นการอนุญาตให้แม่ลาคลอดนั้น ควรมากกว่า 3 เดือน เนื่องจากในประเทศแถบยุโรปเหนือเช่น นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สามารถลาคลอดได้ตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี โดยรับเงินเดือนครบตลอด ขณะที่ประเทศไทยอนุญาตให้แม่ลาครบ 3 เดือน และให้เลี้ยงลูกต่อได้ 1 ปี แต่เป็นเพียงสิทธิข้าราชการและไม่ได้รับเงินเดือน ขณะที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานกลับไม่ได้ เพราะเจ้าของกิจการไม่มีทางยอมแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทนมผงนั้น ล่าสุดยังพบว่ามีการเปลี่ยนกลยุทธ์โดยใช้การแจกคูปอง เพื่อให้เอาไปแลกเป็นกิ๊ฟเซ็ตชุดผลิตภัณฑ์นมผงด้วย ซึ่งการควบคุมปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ มีเพียงหลักเกณฑ์ข้อปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกที่ใช้มาร่วม 30 ปี ทำให้การควบคุมกลยุทธ์เหล่านี้ยากขึ้น ขณะนี้กรมอนามัยอยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ... เพื่อใช้ควบคุมกลยุทธ์เหล่านี้ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะแล้วเสร็จ
“สำหรับการแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กนั้น ในการประชุมองค์การอนามัยโลกช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จะมีการเชิญรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเรื่องโรคอ้วนในเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่สำคัญระดับโลกไปแล้ว และในการประชุมสหประชาชาติช่วงเดือนกันยายนที่สหรัฐอเมริกา จะหยิบยกเรื่องนี้เข้าหารือด้วย ซึ่งหากสหประชาชาติรับเรื่องดังกล่าวเข้าไปดูแล แสดงว่าปัญหาเรื่องโรคอ้วนเป็นปัญหาที่องค์การอนามัยโลกรับมือไม่ได้แล้ว เช่นเดียวกับโรคเอดส์ที่องค์การสหประชาชาติรับไปดูแล และมีการตั้งสำนักงานโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ขึ้นมาดูแลโดยตรงด้วย “ นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว