กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2554 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พร้อมแถลงข่าวการจัดงานวันยางพาราแห่งชาติ ณ โรงแรมรอยัล ซีตี้ กรุงเทพมหานคร โดยนายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงา นกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเป็นผู้ลงนามร่วมกับ ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกทั้งในด้านราคาและปริมาณการใช้ ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตและการใช้ยางพาราหรือยางธรรม ชาติเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้ยางธรรมชาติของโลกในอีก 7 ปีข้างหน้าหรือในปี 2558 จะสูงถึง 10.6 ล้านตัน ประกอบกับในอนาคต "วิกฤติพลังงานโลก" เป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก ซึ่งจะโยงถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ปริมาณความต้องการยางสังเคราะห์ที่ทำมาจากน้ำมันจึงมีแนวโน้มลดน้อยลง ราคาและความต้องการยางพาราจึงจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป
ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “เมื่อปีพ.ศ. 2547 รัฐได้จัดโครงการสนับสนุนการปลูกยางในภาคเหนือและอีสานจำนวน 1 ล้านไร่ ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรที่ต้องการปลูกยางพารามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีแปลงสาธิตแม่พันธุ์ยางพาราที่อำเภอพร้าว 259 ไร่ และพื้นที่บ้านโปงซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริในส่วนของฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดเป็นแปลงสาธิตยางพาราอีก 120 ไร่ รวมเป็น 381 ไร่ (อายุต้นยางประมาณ 5 ปี)
นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนผลิตยางแผ่นเพื่อเป็นหนึ่งในวิชาเรียนของนักศึกษาสาขาวิชาวัสดุศาสตร์(อุตสาหกรรมการยาง) คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร และพื้นที่แปลงสาธิตยางพาราของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังเปิดให้เกษตรกรทั่วภาคเหนือเข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง”
ปัจจัยสำคัญในการปลูกยางที่เกษตรกรต้องคำนึงถึง ได้แก่ พื้นที่ปลูก พันธุ์ยาง วัสดุปลูก วิธีการปลูกตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การปลูก รวมไปถึงการดูแลรักษาสวนยางอย่างถูกต้อง เช่น การใส่ปุ๋ย การปลูกพืชคลุม การตัดแต่งกิ่ง ฯลฯ เพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตเปิดกรีดได้เร็ว และให้ผลผลิตสู งอย่างสม่ำเสมอ เกษตรกรชาวสวนยางจึงจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดการทำสวนยางอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้น้ำยางคุณภาพดีซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยมุ่งให้ความสำคัญในการถ่ายทอด
การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อให้เกิดการสนับสนุนงานด้านวิชาการ งานวิจัย งานพัฒนาการทำสวนยางอย่างมีระบบ 2. ความร่วมมือสนับสนุนด้านบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก การพัฒนาสวนยางพาราให้แก่นักศึกษาและเกษต รกร และ 3. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและการผลิตยางพาราแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและอาชีพของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน”
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
โทรศัพท์ 0 5387 3046 — 47 www.mju.ac.th