กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องขับรถผ่านเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มลงมาปิดทับเส้นทาง เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรตรวจสอบเส้นทางและตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หมั่นสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติริมสองข้างทาง หากพบเหตุการณ์ดินถล่มปิดทับเส้นทางให้ตั้งสติให้มั่น หยุดรถในที่ปลอดภัย และรอจนกว่าจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือ อย่าฝืนขับต่อไป เพราะอาจทำให้รถเสียหลักและมีอันตรายมากยิ่งขึ้น
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยในขณะนี้มีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินโคลนถล่มปิดทับเส้นทางได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องขับรถผ่านที่ลาดเชิงเขา หรือเขาสูงชัน ในขณะที่ฝนตกหนักหรือภายหลังฝนตกหนักบนพื้นที่ยอดเขา ผู้ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าขับรถปกติ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ดินถล่มปิดทับเส้นทางได้ ไม่ขับรถเร็วมากเกินไป หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้หยุดรถได้ทัน ควรหมั่นสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ บริเวณริมสองข้างทาง หากสังเกตพบว่า มีน้ำป่าไหลผ่านถนนน้ำในร่องน้ำข้างถนนเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขาหรือได้ยินเสียงดังคล้ายกับเสียงดินถล่มลงมา ให้ตั้งสติให้มั่นและค่อยๆ ขับรถออกจากบริเวณดังกล่าวด้วยความระมัดระวังโดยเร็วที่สุดหากจำเป็นต้องขับรถผ่านเส้นทางเสี่ยงดินถล่ม ควรตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดดินโคลนถล่มปิดทับเส้นทางหรือไม่ หากมีความเสี่ยง ควรเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางอื่นที่มีความปลอดภัยมากกว่ากรณีที่ดินถล่มลงมาปิดทับเส้นทาง ควรหยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัย และรอจนกว่าจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือ อย่าฝืนนำรถออกมาจากจุดเกิดเหตุ เพาะสภาพถนนที่แคบและโค้งชัน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญ หากผู้ขับขี่ไม่ชำนาญเส้นทางและต้องประสบกับผนตกหนักในขณะขับรถผ่านเส้นทางที่ตั้งอยู่ในที่ลาดเชิงเขา หรือหุบเขาควรหยุดพักในบริเวณที่ปลอดภัย รอจนกว่าฝนหยุดตกแล้วค่อยเดินทางต่อ จะปลอดภัยมากกว่าการฝืนขับในช่วงทัศนสัยไม่ดี สุดท้ายนี้หากประชาชนประสบเหตุการณ์หรือเกิดอุบัติเหตุจากดินโคลนปิดทับเส้นทาง สามารถขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง