กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--กรีนพีซ
แนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย(The Coalition on ASEAN for a Fair, Ambitious and Binding Climate Deal หรือ A-FAB) เรียกร้องประเทศต่างๆในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้แสดงภาวะความเป็นผู้นำและจุดยืนร่วมที่มีพลังในเวทีเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาค แนวร่วม A-FAB ซึ่งประกอบด้วยกรีนพีซ อ็อกแฟม และกองทุนสัตว์ป่าโลก ได้เสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ก่อนหน้าการประชุมเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์หน้า
แนวร่วม A-FAB เชื่อว่าการแสดงท่าทีทางการเมืองและทางปฏิบัติของอาเซียนในเวทีเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีเดิมพันที่สูง ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรตั้งถิ่นฐานหนาแน่นตามแนวชายฝั่งทะเลอันยาวเหยียดและมีทำเลที่ตั้งในเขต "วงแหวนแห่งไฟ" (Ring of Fire) นั้นเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติมากที่สุด ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างสัตว์น้ำและป่าไม้แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนเรื้อรังรวมถึงความขัดแย้งมาโดยตลอด
"เราเชื่อว่าอาเซียนในฐานะประชาคมจะต้องร่วมการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังโดยนำเสนอจุดยืนในการเจรจาที่เข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียว ความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้ต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและมีพันธกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นซึ่งจะเอื้อให้อาเซียนสามารถผลักดันอย่างหนักแน่นในข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการประชุมเจรจาที่กรุงเทพฯครั้งนี้ อาเซียนต้องเร่งกระบวนการและจุดยืนของตน ในขณะที่จะมีการอภิปรายถึงรายละอียดที่มากขึ้นของข้อตกลงแคนคูนและการคัดค้านจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีมากขึ้น" เซลดา โซริยาโน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 16 (COP16) ที่แคนคูน เม็กซิโก อาเซียนได้แสดงท่าทีปานกลางโดยประเทศเวียดนามซึ่งเป็นประธานอาเซียนในขณะนั้นได้ยืนยันถึงพันธะกรณีของอาเซียนที่มีต่อพิธีสารเกียวโตและเรียกร้องให้มี "ผลลัพธ์ที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย" ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "หลักความรับผิดชอบร่วมที่แตกต่าง" ก่อนหน้านี้ อาเซียนยังได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change หรือ AWGCC) ซึ่งเป็นผลให้เกิดการริเริ่มว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งอาเซียน (ASEAN Climate Change Initiative: ACCI) ซึ่งเป็นเวทีปรึกษาหารือในระดับภูมิภาค แต่ในปัจจุบัน การริเริ่มว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งอาเซียนยังขาดอำนาจหน้าที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั่นคือการทำให้จุดยืนของอาเซียนเข้มแข็งและชัดเจนขึ้นในการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
แนวร่วม A-FAB ยังเรียกร้องให้อาเซียนร่วมหารือในระดับสูงเพื่อสร้างเสริมอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AWGCC) และการริเริ่มว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งอาเซียน (ACCI) ขณะเดียวกันก็เอื้ออำนวยให้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆ ที่กว้างขวางขึ้นในกระบวนการเจรจา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การประชุมในระดับสูงจะเกิดขึ้นในเวลาอันเหมาะสม ณ การประชุมเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ที่ประเทศไทย นอกจากนี้ อินโดนีเซียในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า "ประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก (ASEAN Community in the Global Community) ซึ่งบ่งบอกถึงการฑูตในเชิงรุกและการมีส่วนร่วมในเชิงปรึกษาหารือในกระบวนการระหว่างรัฐ อย่างเช่นในการประชุม UNFCCC
ชาลิมา ไวทัน ผู้ประสานงานด้านนโยบายและงานรณรงค์ อ็อกซ์แฟม กล่าวว่า "การสถาปนาของแนวร่วม A-FAB แสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาเซียนที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นมีความห่วงใยเกี่ยวกับการตัดสินใจและขั้นตอนของอาเซียนที่มีต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นเพื่อให้อาเซียนเปิดตัวเองมากขึ้นโดยให้มีความสัมพันธ์และความโปร่งใสมากขึ้นต่อชุมชนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามที่ตามมา เราได้เห็นความสัมพันธ์กันในเชิงรุกโดยที่อาเซียนได้รักษาพันธกรณีภายใต้กฎบัตรฉบับใหม่ซึ่งสร้างขึ้นมาในตอนแรกในฐานะเป็นกลุ่มในระดับภูมิภาคเพื่อรับประกันที่จะตอบรับต่อความท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลต่อชุมชน และในกรณีนี้คือ การตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
A-FAB ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่ออาเซียนระหว่างการประชุมที่กรุงเทพฯ ในข้อเสนอดังกล่าวนี้คือการรับประกันว่าคณะกรรมการกองทุนเพื่อการปรับตัวที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ (Adaptation Committee) นั้นจะต้องประกอบด้วยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ส่วนการจัดทำนโยบายการปรับตัวในระดับประเทศนั้นต้องเป็นไปตามแนวทางของแต่ละประเทศและพิจารณาถึงความสัมพันธ์และบทบาทของหญิง-ชายและในการจัดทำนโยบายจะต้องเชื่อมโยงถึงเรื่องกลไกในการสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย อาเซียนจะต้องรับประกันด้วยว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะได้รับการสนับสนุนทางทรัพยากรจากกองทุนกู้สภาพภูมิอากาศ (Green Climate Fund) ที่ตั้งขึ้นที่แคนคูน มากเท่าๆกับความจำเป็นของประชากรสวนใหญ่ที่ยังคงยากจน
A-FAB ยังเรียกร้องให้อาเซียนผลักดันในเรื่องเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยที่การปล่อยก๊าซจะเพิ่มสูงสุดในปี 2015 และลดลงหลังจากนั้น และเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2563 และจะต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 95 ภายในปี 2593 ให้ได้ต่ำกว่าระดับในช่วงปีฐาน 2533ภารกิจอีกประการหนึ่งคือการตัดสินใจเรื่องหลักการการวัดได้ รายงานได้ และตรวจสอบได้ (measurable, reportable and verifiable) เพื่อใช้ยืนยันการลดก๊าซเรือนกระจก