กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี
ทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ ฟินิกซ์ (Phoenix) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยทีมชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสด 200,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (World Robocup Soccer: Humanoid League) ณ ประเทศตุรกี ในเดือนกรกฎาคม ศกนี้
ทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์บีเอสอาร์ยู-ต้นกล้า (BSRU-TONKLA) จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
ฯพณฯ ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 กล่าวว่า “เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กระผมรู้สึกชื่นชมและภาคภูมิใจในความสามารถของนักวิจัยและนิสิต นักศึกษาไทยที่แสดงศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ ตลอดมา การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งจัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ในการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้อย่างทั่วถึงอันจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต กิจกรรมนี้เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนจากประสบการณ์จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบาย ที่ต้องการเห็นการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกและจับต้องได้”
“นอกจากการยกระดับศักยภาพของเยาวชนไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ชั้นสูงแล้ว การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ฮิวมานอยด์ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สองในประเทศไทยนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาวงการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย” ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 กล่าว “ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะมีโอกาสให้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างหุ่นยนต์ด้วยขั้นตอนการวิเคราะห์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”
ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 รอบชิงชนะเลิศ แต่ละทีมต้องสร้างหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จำนวน 2 ตัวเพื่อเข้าแข่งขันฟุตบอล ทีมที่ทำคะแนนสูงสุดเวลาการแข่งขันทั้งสิ้น 20 นาที เป็น ผู้ชนะ
“การแข่งขันนี้มีความท้าทายมากสำหรับทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน เนื่องจากพวกเขาต้องปรับใช้หลักการต่าง ๆ ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถรักษาความสมดุลของขาทั้งสองข้างและสามารถเล่นฟุตบอลได้ เรามีความยินดีที่ได้เห็นการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ และความก้าวหน้าของนิสิต นักศึกษาเหล่านี้” ดร. ถวิดากล่าวเสริม
ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค กล่าวว่า “โครงการซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษานี้จะสร้างประโยชน์แก่วงการหุ่นยนต์และการศึกษาของไทย และยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยพัฒนากระบวนการคิดและริเริ่มสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้พวกเขาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสูงในอนาคต”
นายเจฟฟรี่ย์ ดี. ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนหลักของการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 กล่าวว่า “ซีเกทมีความยินดีที่ได้สนับสนุนให้เด็กไทยได้แสดงความสามารถ และต่อยอดความรู้ที่ได้เรียนในห้องเรียน นิสิต นักศึกษาได้ทำงานอย่างหนักและแสดงศักยภาพการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็งตลอดการแข่งขัน ผมเชื่อว่าเยาวชน ทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 จะได้ความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพในอนาคต ตลอดจนการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมไทยและประเทศชาติต่อไป”
บทสัมภาษณ์ นายนาถพงศ์ แก้วเหล็ก หนึ่งในสมาชิกทีมฟีนิกซ์ (Phoenix) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีคว้าแชมป์การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554
เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
1. ทางทีมฟีนิกซ์ ได้พัฒนาหุ่นยนต์ในด้านใดบ้างเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย รอบชิงชนะเลิศ ในปีนี้
ทางทีมใช้ระบบพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ระบบเดิมซึ่งรุ่นพี่หลายรุ่นได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมขึ้นใหม่เพื่อให้หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์มีศักยภาพในการทำงานสูงขึ้น ซึ่งประกอบด้วย การปรับปรุงศักยภาพใน การเดิน การทรงตัว การคิดและการตัดสินใจของหุ่นยนต์
2. การเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ ช่วยเตรียมความพร้อมในการศึกษาในขั้นสูงขึ้นและการทำงานในอนาคตในด้านใดบ้าง
สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือการพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นทีม ซึ่งเราได้เรียนรู้ว่าในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือและความถนัดของสมาชิกในทีมมาผสมผสานเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ พวกเรายังได้พัฒนาทักษะในด้านความละเอียดรอบคอบในการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยเราทำการทดลองหลายครั้ง แล้วนำสถิติต่าง ๆ ที่ได้มาวิเคราะห์หาเหตุผล แล้วเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาใช้กับหุ่นยนต์ของเรา การพัฒนาหุ่นยนต์ก็เหมือนกับการซ้อมกีฬาเพื่อเตรียมความพร้อมของหุ่นยนต์ให้ดีที่สุดก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน พวกเรายังเรียนรู้ที่จะนำความรู้ที่ท่านอาจารย์ที่ปรึกษาและรุ่นพี่ถ่ายทอดให้ มาปรับใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขัน
3. น้อง ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือในการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จากประสบการณ์ในการเข้าร่วม การแข่งขันการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 ในด้านใดบ้าง
การเข้าแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทยที่จัดขึ้นในปีนี้ ทำให้พวกเราได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เราคิดว่าทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นเพื่อนกัน และพยายามสร้างสังคมของผู้พัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์
4. มีความคาดหวังอะไรบ้างสำหรับการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (World Robocup Soccer: Humanoid League) ณ ประเทศตุรกี ในเดือนกรกฎาคม ศกนี้
พวกเราคาดว่าหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ของเราน่าจะสามารถโชว์ฟอร์มได้ดีในการแข่งขันที่ประเทศตุรกี อย่างไรก็ตาม บรรดาคณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้กดดันพวกเราว่าจะต้องนำชัยชนะมาแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้พวกเราทำผลงานอย่างเต็มที่และมีความสุขกับการพัฒนาหุ่นยนต์
5. อยากให้ผู้ใหญ่ใจดีอย่างบริษัทซีเกทฯ สนับสนุนการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เรื่อยไปหรือไม่
พวกเราขอขอบคุณทางบริษัทซีเกทฯ เป็นอย่างสูงที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์และอยากให้ซีเกทสนับสนุนการจัดการแข่งขันนี้ต่อไป
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่ โทร. 0-2470-9713 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
เนคเทค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นงานทางด้านการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering : RDDE) ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของเนคเทค นอกเหลือไปจากภารกิจทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนโยบาย กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT ซึ่งเนคเทคได้ดำเนินภารกิจหลักนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน มีผลงานจากโครงการวิจัยต่าง ๆ นำไปถ่ายทอดให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.nectec.or.th
ซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.seagate.com
ลิขสิทธิ์ 2009 บริษัทซีเกท เทคโนโลยี แอลแอลซี สงวนลิขสิทธิ์ ซีเกท (Seagate) ซีเกท เทคโนโลยี (Seagate Technology) และโลโก้ (the Wave logo) เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทซีเกท เทคโนโลยี แอลแอลซี ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือในประเทศอื่น เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของเจ้าของตามที่กล่าวมาข้างต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com
หรือดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
โทรศัพท์ 0-2470-9698 Email: praew@fibo.kmutt.ac.th