กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ยกขบวนดาราและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สัญจร ตรวจสุขภาพพระสงฆ์ ครั้งแรก กับโครงการ “รักษ์ใจ ใส่บาตรสัญจร” สร้างกุศลอย่างต่อเนื่องเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา และประชาชนทั่วไป ร่วมสร้างกุศลบริจาคเงินสมทบทุนค่ารักษาพยาบาลพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธหรือมีความเสี่ยงด้วยโรคหัวใจ
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจ พร้อมเหล่าดาราใจบุญ นำทีมโดย ไผ่ พาทิศ พิสิฐกุล, เปรมสินี รัตนโสภา และตุ๊ก-ดวงตา ตุงคะมณี ร่วมบุญสัญจรครั้งแรก ในงาน “รักษ์ใจ ใส่บาตรสัญจร” ณ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจเช็คสุขภาพพระภิกษุสงฆ์อาทิ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจวัดความดัน ตรวจวัดระดับน้ำตาลและปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่องในการทำบุญสมทบทุน ค่ารักษาพยาบาลพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงสูงด้วยโรคหัวใจกว่า300 รูป จาก 82 วัดทั่วกรุงเทพฯ ให้ได้เข้ารับการตรวจรักษากับ โครงการ รักษ์ใจ...ใส่บาตร ภายในงานนอกจากจะมีทีมแพทย์มาตรวจเช็คสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ยังมีเหล่าดาราใจบุญ นำโดย ไผ่ พาทิศ พิสิฐกุล, เปรมสินี รัตนโสภา และตุ๊ก-ดวงตา ตุงคะมณี ร่วมทำบุญและเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ บริจาคเงินสมทบทุนในโครงการ รักษ์ใจ ใส่บาตร พร้อมถวายภัตราหารเช้าเพื่อสุขภาพ อาทิ ข้าวต้มปลาทรงเครื่อง น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง แซนวิททูน่า โฮลวีท ผลไม้ /เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ณ ห้องนวกะ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
นายแพทย์ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่าโครงการ รักษ์ใจ...ใส่บาตรสัญจร ครั้งนี้ เป็นโครงการฯต่อเนื่องจากโครงการ รักษ์ใจ...ใส่บาตรในปี 2553 ที่ผ่านมาที่ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องระยะเวลาของโครงการตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2553 — 12 สิงหาคม 2555 รวมทั้งสิ้น 2 ปี เพื่อเป็นการส่งเสริมและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแก่พระภิกษุสงฆ์พร้อมทั้งเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนที่มีจิตกุศลร่วมบริจาคในโครงการเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ วันที่ 7 กรกฎาคม 2553 — วันที่ 14 มีนาคม 2554 ยอดบริจาคเงินรวมทั้งสิ้น 1,985,032.53 บาท และในวันที่ 12 สิงหาคม 2554 นี้โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพจะเริ่มนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ จากโครงการ “รักษ์ใจ ไหว้พระ” ที่อาพาธด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงสูง เพื่อถวายการรักษา ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2554 ถึง 12 สิงหาคม 2555 เป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ยังเล็งเห็นถึงปัจจัยต่างๆทีอาจก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหัวใจตีบตัน ซึ่งอาจเกิดจากการฉันอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มีไขมันหรือน้ำตาลมากเกินไป จึงอยากให้พุทธศาสนิกชนที่ไปทำบุญตักบาตร ให้เลือกอาหารตักบาตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่มีไขมันหรือน้ำตาลมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ได้ ซึ่งอาจเป็นการทำบาปได้โดยไม่รู้ตัว อาหารที่จะนำไปถวายพระควรเป็น อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ ข้าวต้มปลาทรงเครื่อง น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง แซนวิททูน่า โฮลวีท ผลไม้ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีไขมันน้อย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
สำหรับโครงการรักใจใส่บาตรสัญจรในวันที่ 17 มีนาคม 2554 นี้ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้จัดขึ้นมาครั้งแรกเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการออกไปตรวจรักษา และให้คำปรึกษาแก่พระภิกษุสงฆ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เพื่อนำไปปฎิบัติในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจตลอดจนการป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ทั้งเรื่องการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลัง ตามสมควร และถ้าหากพบพระภิกษุรูปใดที่มีความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรืออาพาธด้วยโรคหัวใจ ก็จะดำเนินการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมสมทบทุนอย่างต่อเนื่องกับ โครงการ รักษ์ใจ ใส่บาตร อย่างต่อเนื่องจนถึง 12 สิงหาคม 2555 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1719 หรือ ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่ ธนาคารทหารไทย สาขาโรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 214-2-07046-1 ชื่อบัญชี ห้างหุ้นส่วนสามัญรักษ์ใจใส่บาตร
ข้อมูลสำหรับการเลือกอาหารเพื่อป้องกันโรคหัวใจและโรคไขมันในเลือดสูง
-บริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว สลับเปลี่ยนด้วยเต้าหู้บางมื้อในปริมาณที่เหมาะสม
-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนย เนยแข็ง ครีม ไอศครีม
-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ เค้ก พาย คุกกี้ ไส้กรอก แฮม เบคอนหรืออาหารที่ทอดในน้ำมันมาก เช่น ปลาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด ไก่ทอด
-จำกัดปริมารการใช้นำมันในการประกอบอาหาร หรือเลือกใช้นำมันพืชในการประกอบอาหาร
-ควรประกอบอาหารโดยการปิ้ง ต้ม นึ่ง อบ ตุ๋น ย่าง แทนการผัดหรือทอด จะช่วยลดปริมาณไขมันในอาหารได้
-เลือกบริโภคผักเป็นประจำทุกมื้อ
-หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด ขนมหวานจัด เช่น ทุเรียน สับปะรด เงาะ องุ่น ผลไม้กวนหรือแช่อิ่ม ของเชื่อม ขนมหวานต่างๆ
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 023103000 โรงพยาบาลกรุงเทพ