กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--พม.
วันนี้ (๔ เมษายน ๒๕๕๔) เวลา ๐๘.๐๐ น.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี ๒๕๕๔ เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักแก่คนในสังคม ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ตามศักยภาพของตนเองอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติคุณผู้สูงอายุที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบรางวัลและประกาศ เกียรติคุณแก่ผู้สูงอายุและองค์กรที่สนับสนุนงานด้านผุ้สูงอายุ ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ ๗ ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๑ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกันจากการคาดการณ์ประชากรผู้สูงอายุไทยในระยะเวลา ๒๐ ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. ๒๕๗๓ จำนวนประชากรสูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๗ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของประชากร ทั้งประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง ๓ เท่า โดยจำนวน ๒ ใน ๓ ของประชากรสูงอายุโลกนั้น อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย จึงนับเป็นประเด็นท้าทายที่ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย จะต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบด้านต่างๆ รวมทั้งจำเป็นจะต้องมีการเตรียมการเรื่องของนโยบาย การบริหารจัดการทรัพยากร และการจัดให้มีหลักประกันด้านต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการดูแลผู้สูงอายุในบั้นปลายของชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ รัฐบาลได้พยายามผลักดันให้มีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมมิติต่างๆ เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาทิ การดูแลทางด้านสุขอนามัย โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างสะดวกสบายและทั่วถึง และดำเนินการสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานเพื่อการยังชีพในวัยสูงอายุด้วยการจัดให้มีเบี้ยยังชีพ จำนวน ๕๐๐ บาททุกเดือน และค่าจัดการศพรายละ ๒,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่เสียชีวิต รวมทั้งดำเนินการขยายโอกาสและการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุ ในเรื่องมาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนการออมในรูปแบบการประกันชีวิตแบบบำนาญ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการเรื่องการส่งเสริมการออมของประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม เพื่อให้มีหลักประกันด้านรายได้ที่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณอายุ รวมทั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ ขณะนี้ ผ่านความเห็นชอบของสภาแล้วและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ภายในปี ๒๕๕๔ นี้ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ในระยะยาว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่น ซึ่งไม่เพียงสมาชิกในครอบครัวที่จะต้องมีบทบาทโดยตรงแล้ว แต่รวมถึงชุมชนท้องถิ่น จะต้องมีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน
“ผู้สูงอายุไทยในฐานะคลังปัญญาที่มีคุณค่าของสังคม จะเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาสังคมไทยไปพร้อม ๆ กับ คนทุกกลุ่ม โดยรัฐบาลจะพยายามผลักดันนโยบายและภารกิจต่าง ๆ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้สูงอายุและคนทุกวัย มีความเอื้ออาทรและให้การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันได้อย่างยั่งยืนตลอดไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๕ กำหนดให้วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อแสดงความกตัญญูและให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ สำหรับปี ๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้กำหนดจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี ๒๕๕๔ ขึ้นในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๔ และกำหนดให้เดือนเมษายน เป็นเดือนแห่งการจัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “ผู้สูงวัยมีคุณค่า ร่วมพัฒนาสังคมไทย”เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นคุณค่า ความสำคัญของผู้สูงอายุที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาอย่างยาวนาน โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่มีจิตอาสาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ ภูมิปัญญา ความสามารถ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างมี คุณค่าและมีศักดิ์ศรี อีกทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมและอนุชนรุ่นหลัง โดยในปีนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่อง ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช เกิดเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๗๔ อายุ ๗๙ ปี ๗ เดือน เป็นบุตรีของหลวงยุกตะเสวีวัฒน์ และคุณหญิงยุกตะเสวีวัฒน์ สมรสกับศาสตราจารย์นายแพทย์กาน จาติกวนิช และมีบุตรสาวเพียงคนเดียวคือ ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ท่านได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ และได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์ รวม ๑๙ ประเทศ ให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสมาคมตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๗ นอกจากนี้ ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนประเทศไทยประจำองค์การ ESCAP (Economics Social Commission for Asia Pacific) จึงเป็น ผู้ประกอบคุณงามความดีและปฏิบัติประโยชน์คุณูปการให้กับสังคมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านสังคมสงเคราะห์ งานพัฒนาชนบท และงานส่งเสริมสถานภาพสตรี จนได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลเกียรติยศดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและการคุ้มครองสิทธิสตรี เป็น“สตรีไทยเข้มแข็ง”คนแรกของประเทศไทย และได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ อีกมากมาย อาทิ ในปี ๒๕๐๔ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้าฝ่ายใน จึงมีคำนำหน้าเป็น “คุณหญิง” ตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษภายใน ในปี ๒๕๓๓ จึงได้คำนำหน้าว่า “ท่านผู้หญิง”นับแต่นั้นมา รวมทั้งรางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น สาขาบริหารงานสังคม จากมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ และกรมประชาสงเคราะห์ รางวัลโล่ทองคำประกาศเกียรติคุณมนุษยสัมพันธ์ยอดเยี่ยมจากมนุษยสัมพันธ์สมาคมแห่งประเทศไทยฯลฯ และยังสามารถปฏิบัติภารกิจของครอบครัวอย่างสมบูรณ์ จนได้รับประกาศเกียรติคุณ “แม่ดีเด่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๕๐”จากกรุงเทพมหานคร
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ปี ๒๕๕๔ การเสวนาเรื่อง “ผู้สูงวัยมีคุณค่า ร่วมพัฒนาสังคมไทย” กิจกรรมการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ กิจกรรม จิตอาสาของเครือข่ายผู้สูงอายุ การแสดงนิทรรศการจัดสภาพแวดล้อมและที่อยู่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ กองทุนผู้สูงอายุ การสาธิตนวัตกรรมการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ การแสดงเพลงฉ่อยจากทีมงานคุณพระช่วย เรื่อง“สูงวัยแล้วดียังไง” รวมทั้งกิจกรรมบริการประชาชนของหน่วยงานต่างๆ พร้อมกันนี้ ได้มอบรางวัลแก่ผู้สูงอายุภูมิปัญญา ผู้ชนะเลิศการประกวดคำขวัญเนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุ และองค์กรสนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุ ด้วย