แชมป์เก่า ชวนเยาวชนไทยส่งแนวคิดสิ่งประดิษฐ์ PTT YOUTH CAMP 2011 ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ พร้อมทุนการศึกษา

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2011 13:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ปตท. ทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตาก คิดค้นเครื่องสลัดน้ำดาวเรือง ช่วยแก้ปัญหาการเหี่ยวเฉา และเน่าเสียของดอกดาวเรืองก่อนส่งขาย คว้าแชมป์ PTT YOUTH CAMP 2010 พร้อมเชิญชวนน้องๆ เยาวชนไทยส่งโครงการสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานในโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011) เข้าประกวดภายใต้แนวคิด “แรงบันดาลใจจากพ่อ (Inspired by The King )” วันนี้จนถึงวันที่ 29 เมษายน 2554 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษากว่า 3 แสนบาท นายสุทธิชัย มากมูล อดีตนักศึกษาสาขางานยานยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่างตาก ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้น ปวส.1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก หนึ่งในสมาชิกโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรือง ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่า โครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2553 (PTT YOUTH CAMP 2010) กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วตนส่งโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองเข้าประกวดในนามวิทยาลัยสารพัดช่างตาก โดยมีโจทย์คือจังหวัดตากมีการปลูกดอกดาวเรืองเป็นจำนวนมาก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเหี่ยวเฉาและเน่าเสียของดอกดาวเรืองก่อนส่งถึงแหล่งรับซื้อ เนื่องจากมีความชื้นมากเกินไป ทำให้ผลผลิตเน่าเสีย จึงคิดค้นวิธีสลัดน้ำดาวเรืองขึ้น การทำงานของเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองจะคล้ายคลึงกับการทำงานของเครื่องซักผ้า ซึ่งในการคิดประดิษฐ์ครั้งแรกใช้มือหมุน เพื่อทดสอบขนาดความเร็วของการสลัดน้ำ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์เป็นต้นกำลังขับ ซึ่งมีขนาดความเร็ว 1,450 รอบต่อนาที ใช้อัตราทดของพูลเลย์ จนเหลือความเร็วรอบประมาณ 365 รอบต่อนาที ได้ความจุของปริมาณดอกดาวเรืองอยู่ที่ 8-10 กิโลกรัม ตัวเครื่องจะหมุนให้น้ำที่เกาะดอกดาวเรืองกระเด็นออก โดยที่ดอกดาวเรืองยังคงความสวยงามและไม่เกิดความเสียหาย ถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรและช่วยลดเวลาการทำงานให้กับเกษตรกรด้วย นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า ทีมมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ช่วงโครงการนี้เข้ามาตนและเพื่อนๆ กำลังอยู่ในช่วงฝึกงานพอดี จึงรวมกลุ่มทำโครงงานนี้ โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนคือ 17.00 - 20.00 น.ของทุกวัน หรือบางครั้งก็เลยไปถึงตี 2 ก็มี โดยทุกคนจะช่วยกันทำงานตามความถนัด หากพบปัญหาอุปสรรคเพื่อนร่วมทีมก็จะมาช่วยคิดแก้ไข ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือน้ำไม่กระเด็นออกจากดอกไม้ เนื่องจากตะกร้ามีขนาดเล็กเกินไป พวกเราเลยปรับเปลี่ยนขนาดของตะกร้าใหม่ให้ใหญ่ขึ้น "ตอนประกาศผลว่าเป็นทีมได้รับรางวัลชนะเลิศ ผมรู้สึกดีใจและปลื้มใจมาก ไม่เคยคิดว่าทีมของพวกเราจะมาถึงจุดนี้ได้ ตอนที่สร้างผลงานพวกเราไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย เพราะเห็นผลงานของเพื่อนๆ แล้วทุกทีมดีหมด ไม่น่าเชื่อว่าผลงานของพวกเราจะผ่านมาเข้ามาได้ จำได้ว่าตอนนั้นพวกเราไม่ค่อยกล้าแสดงออกกันมากนัก โดยเฉพาะการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการเป็นสิ่งที่พวกเรากลัวมาก พวกเราต้องเตรียมตัวฝึกซ้อมการพูดในชุมชนหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ยิ่งใกล้วันนำเสนอผลงาน พวกเรายิ่งไม่ได้พักกันเลย ต้องซ้อมการพูดกันตลอดเวลา ทั้งตอนเข้าห้องน้ำ ก่อนนอน หรือก่อนออกจากห้องเรียน ถือว่าเตรียมตัวหนักที่สุดเท่าที่เคยทำโครงการมา แต่เมื่อผ่านมาถึงวันนี้ได้ พวกเราภูมิใจมาก จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ น้องๆ ที่สนใจเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน ให้ส่งผลงานเข้ามาประกวดกัน เพราะนอกจากเราจะได้ผลงานแล้ว เรายังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็นและยอมรับความคิดเห็นจากผู้อื่น มีเหตุมีผล และยังได้รู้จักเพื่อนจากต่างโรงเรียนอื่นด้วย" ด้านอาจารย์เสกข์ เจ๊กพ่วง อาจารย์ประจำสาขางานยานยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่างตาก จังหวัดตาก ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองกล่าวว่า วิทยาลัยมีนักศึกษาที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หลายคน โดยเฉพาะนักศึกษากลุ่มนี้เคยออกหน่วยบริการช่วยชาวบ้านหลายครั้ง พวกเขาได้พบเจอปัญหาจากชาวบ้านมากมาย และทุกครั้งก็จะนำกลับมาคิดหาวิธีช่วยเหลือชาวบ้านและเกษตรกรโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองจึงเกิดขึ้น จุดเด่นของนักศึกษากลุ่มนี้คือมีความรับผิดชอบ มีจินตนาการ ประจวบเหมาะกับมีโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2553 (PTT YOUTH CAMP 2010) เข้ามาพอดี และตรงกับช่วงที่พวกเขาฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามหลักสูตรการเรียน จึงเสนอแนะให้พวกเขาทำโครงการเข้าประกวด โดยผมทำหน้าที่ที่ปรึกษาโครงการคอยให้คำแนะนำและสรุปความคิดให้กับพวกเขา "ผมไม่ได้คาดหวังว่าผลงานของพวกเขาจะมาถึงขั้นนี้ หวังแค่ให้พวกเขาได้แสดงความสามารถของพวกเขาอย่างเต็มที่ ให้พวกเขากล้าคิด กล้าแสดงออกเท่านั้น แต่เมื่อผลออกมาว่าโครงงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รู้สึกดีใจมาก ภูมิใจที่เห็นเด็กที่เราฝึกฝนมามีสามารถนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ สร้างชื่อเสียงให้วิทยาลัยสารพัดช่างตากและจังหวัดตากของเรา ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตคนเป็นครู ผมพยายามที่จะสร้างให้เด็กๆ รู้คุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าของงานช่าง ใช้วิชาช่างช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อมีผลงานที่ได้รับรางวัลก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้" อาจารย์เสกข์ กล่าวต่อว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาตนยึดถือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เสมอ ไม่อยากให้ทุกคนยึดติดกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่อยากให้มองย้อนกลับไปข้างหลังว่า ชาวบ้านและเกษตรกรยังขาดแคลนและยังต้องการอะไรบ้าง ทำไมเราไม่นำเทคโนโลยีหรือทักษะความเป็นช่างของครูและนักศึกษาที่มีอยู่มาสร้างผลงานเพื่อช่วยเหลือพวกเขา อนึ่ง โครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 ( PTT YOUTH CAMP 2011) เป็นโครงการที่ส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานที่ ปตท. จัดต่อเนื่องกันเป็นครั้งที่ 3 เพื่อปลูกฝังทัศนคติการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านพลังงานมาสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเยาวชนที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 29 เมษายน 2554 โดยผู้ชนะเลิศในทุกระดับจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษากว่า 3 แสนบาท ภายใต้โจทย์ดังนี้ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น : สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ที่ได้จากชุมชน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย : สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานเพื่อโลกสีเขียว ระดับอาชีวศึกษา(ปวช. ปวส. ปวท. หรือเทียบเท่า) : สิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชน บนวิถีชีวิตพอเพียง” สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร.02-2701350-4 ต่อ 104, 089-7868699 www.youthcamp2011.com, www.facebook.com/youthcampclub

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ