สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดตัวโครงการ FIC PLUS 2011

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2011 14:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--อิมมีเดียท รีซอร์สเซส สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดตัวโครงการ FIC PLUS 2011 เฟ้นหาดีไซน์เนอร์เสื้อผ้าแฟชั่น ประชันฝีมือ ผลิตจริง ขายจริง และปั้นดีไซน์เนอร์เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมประกวดในเวทีระดับโลก สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) โดยการสนับสนุนของสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดตัว ฟิคพลัส 2011 (Fashion Image Campus Plus 2011 หรือ FIC PLUS 2011) เพื่อเฟ้นหาดีไซน์เนอร์เสื้อผ้าแฟชั่น ประชันฝีมือ ผลิตจริง ขายจริง และส่งประกวดต่อระดับโลก โดยพัฒนาทักษะนักศึกษา นักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ ตลอดจนผู้ประกอบการ SME ในสาขาแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดในระดับสากลทั้งค้าปลีกและค้าส่ง พร้อมจัดฝึกอบรมแบบเข้มข้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีหลักสูตรครอบคลุมภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติเพื่อออกแบบผลงานจริงพร้อมขาย ภายใต้แนวคิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผู้สนใจสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน ศกนี้ นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) กล่าวว่า โครงการ Fashion Image Campus 2011 หรือ FIC PLUS 2011 เป็นหนึ่งในภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างครบวงจร (สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) และ โครงการพัฒนานักออกแบบเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสู่ตลาดค้าส่งระยะที่ 2 (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ เพื่อก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยทั้งในและต่างประเทศ “อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยรวม เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้จากการส่งออกเป็นลำดับต้นๆ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยแต่ละปีสามารถสร้างรายได้การส่งออกปีละกว่า 3 แสนล้านบาท โดยปี 2553 ที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 9.8% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม แม้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการแข่งขันที่มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมในวงกว้าง แต่ก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้เร็ว โดยในปี 2553 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการส่งออกรวม 248,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึงร้อยละ 19.7 สามารถจ้างงานในสถานประกอบการมากถึง 4,344 แห่ง มีการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมรวม 1,045,205 ล้านบาท” นายวิรัตน์กล่าว จากตัวเลขมูลค่าการส่งออกและอัตราการขยายตัวทางการตลาด ประเทศไทยมีศักยภาพด้านส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ในตลาดอาเซียน แต่อย่างไรก็ตามในสภาวะการค้าของโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันของสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญการปรับเปลี่ยนทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และรองรับรูปแบบการแข่งขันใหม่ของโลก ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของรัฐบาลเพื่อนำอุตสาหกรรมให้ก้าวไปสู่ “อุตสาหกรรมสิ่งทอสร้างสรรค์” นั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร (Individual Creativity) โดยเฉพาะนักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ และผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญและเป็นห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจสิ่งทอในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า “โครงการ Fashion Image Campus หรือ FIC เคยจัดมาแล้วเมื่อปี 2550 และประสบความสำเร็จโดยมีนักออกแบบ ที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการฯ เข้ามาอยู่ในวงการแฟชั่นมากขึ้น และมีผลงานระดับโลกเป็นที่น่าภูมิใจเช่น คุณภาพพิมพ์ มูลพฤกษ์ เจ้าของรางวัล The Winner จากโครงการ Fashion Image Campus 2007 (FIC 2007) ซึ่งครั้งนี้ โครงการ FIC เพิ่มความเข้มข้นขึ้น เพราะนอกเหนือจากการอบรม ประชันผลงานในรูปแบบแฟชั่นโชว์สุดอลังการรอบสุดท้ายที่สยามพารากอน และผู้ได้รับรับรางวัลชนะเลิศของโครงการ ฯ นอกจากจะได้รับรางวัลเงินสด ยังมีโอกาสเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับโลก เช่น ญี่ปุ่นหรือ อังกฤษ พร้อมทั้งต่อยอดผลงานผู้ชนะการประกวดสู่การผลิตจริง และขายจริงอีกด้วย ทั้งนี้ สถาบันฯ จะเป็นผู้ช่วยจัดหาวัตถุดิบของสนับสนุนการผลิต ดังนั้นชื่อโครงการจึงมีการเพิ่มคำว่า PLUS ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในการดำเนินกิจกรรมที่ดีขึ้น และในปีนี้ บริษัทเอกชนต่างให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้งานนี้ให้เป็นที่รู้จัก และมีสีสันมากขึ้น เช่น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สถาบันโทนี่ แอนด์ กาย 88 ดีบี (ประเทศไทย) นิตยสาร รันเวย์ 53 ไอซ์แลนด์ สปริง แฟชั่นโฟกัส วันเดอร์ อานาโตมี่” นายวิรัตน์กล่าวเพิ่ม ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดฯ ดาวน์โหลดใบสมัครและดูรายละเอียดได้ที่ www.ficplus2011.com , www.facebook.com/textile.thailand และ www.thaitextile.org หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 0-2713-5492-9 # 225, 229,400 สอบถามรายละเอียดประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม บริษัท อิมมีเดียท รีซอร์สเซส จำกัด 02-627-9337, 02-627-9499 1. คุณสรินพร สินธุรัตน์ e-mail: sarinporn@pool-of-talent.com 2. คุณยุพา สดแสงสุก e-mail: yupa@pool-of-talent.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ