โรคลมชัก (Epilepsy)

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2011 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--โรงพยาบาลกรุงเทพ โรคลมชักเป็นปัญหาที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยมีอุบัติการณ์เกิดประมาณ 1% ขอประชากรในประเทศไทยประมาณว่า มีผู้ป่วยโรคลมชักประมาณ 6-7 แสนคน โรคลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่มีสาเหตุจากหลายๆ ชนิด อาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ขึ้นกับชนิดของการชัก โรคลมชักพบได้ในช่วงทุกอายุ หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และถูกต้องในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายขาดได้ อาการชัก เกิดเนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมอง ซึ่งมีการนำของกระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจร ก่อให้เกิดอาการชักตามมา โดยถ้ากระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองเป็นบางส่วน จะทำให้เกิดอาการชักเฉพาะที่โดยที่ยังรู้ตัวอยู่ แต่ถ้ามีเหม่อลอยหมดสติทำอะไรไม่รู้ตัว เรียกว่า อาการชักแบบเหม่อ แต่ถ้ากระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองทั้งสองข้าง จะทำให้เกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หรือชักแบบแน่นิ่งที่พบบ่อยในเด็ก อาการชักเฉพาะที่โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ อาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่างๆ โดยที่ยังรู้ตัว เช่น อาการชาหรือกระตุกของแขนขา หรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งเป็นซ้ำๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง กลัว ความรู้สึกแปลกๆ ความรู้สึกเหมือนฝัน หูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือหัวใจเต้นผิดปกติ อาการชักแบบเหม่อลอย ผู้ป่วยมักจะมีอาการเตือนนำมาก่อนเหมือนดังได้กล่าวมาแล้ว ตามด้วยอาการเหม่อลอย ผู้ป่วยมักจะทำปากขมุบขมิบ หรือเคี้ยวปาก หรือมือเกร็ง หรือขยับมือไปมา อาจคลำตามเสื้อผ้าอย่างไม่รู้ตัว เคลื่อนไหวแขนขาอย่างไร้จุดหมายโดยไม่รับรู้สิ่งรอบข้าง โดยไม่จำเหตุการณ์ระหว่างนั้นไม่ได้ อาการเหม่อลอยจะนานประมาณไม่กี่วินาทีจนถึงหลายๆ นาที หลังจากนั้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการสับสน ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการพูดไม่ได้หรือยกแขนข้างใด ข้างหนึ่ง ไม่ได้อีกหลายนาที กว่าจะตื่นเป็นปกติ อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติรบกวนการทำงานของสมองทั้งหมด จะเกิดอาการชักที่เรียกว่า “อาการชักทั่วทุกส่วน” หรือที่เรียกว่า โรคลมบ้าหมู ชนิดที่พบบ่อย คือ อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยจะสูญเสียการรู้สึกตัวทันที และล้มลง กล้ามเนื้อจะแข็งแกร่งทั่วทั้งตัว ตาจะเหลือกค้าง น้ำลายฟูมปากอาจจะกัดลิ้นตนเอง หรือปัสสาวะราด ระยะเวลาชักจะนานประมาณ 2-3 นาที หลังชักมักจะเพลีย และนอนหลับหลังจากหยุดชัก อาการชักแบบแน่นิ่ง พบได้บ่อยในวัยเด็ก อาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมาก ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายเป็นระยะเวลาสั้นๆ คล้ายกับเหม่อ ประมาณ 2-3 วินาที แล้วกลับมาทำสิ่งที่ค้างอยู่ต่อไป โดยมักไม่มีการเคลื่อนไหวแขนขา สาเหตุของโรคลมชัก 1. แผลเป็นในสมอง เช่น การติดเชื้อในสมอง อุบัติเหตุต่อสมอง ชักขณะไข้สูงในวัยเด็กที่นานหรือชักติดต่อกันหลายๆ ครั้ง สมองขาดออกซิเจน สมองถูกกระทบกระเทือนในระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา และแรกคลอด 2. โรคทางพันธุกรรม 3. ภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง 4. โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือแตก หรือตีบตัน 5. โรคทางกาย เช่น ภวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูงหรือต่ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ โรคตับ โรคไต 6. การดื่มเหล้า การกินยาบ้า เสพยาเสพติด ได้รับสารพิษ ? การวินิจฉัย แพทย์จะวินิจฉัยโรคลมชักโดยอาศัยข้อมูลของลักษณะชักที่ได้จากคนไข้ และผู้พบเห็นผู้ป่วยในขณะชัก (ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ปัจจุบัน ประวัติครอบครัว) การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจคลื่นสมอง (EEG) บางครั้งอาจใช้การวินิจฉัยอี่นๆ อาจมีความจำเป็น เช่น การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสมอง (MRI) การตรวจคลื่นสมองพร้อมวีดีโอ 24 ชั่วโมง การตรวจสมองโดยใช้สารกัมมันตรังสี (SPECT) เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพในสมอง การรักษาโรคลมชัก 1. การรักษาโดยการใช้ยา เพื่อไปช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการทานยาประมาณ 2-5 ปี ถึงแพทย์จะพิจารณาหยุดยาได้โดยที่ประมาณ 60-70% หายขาดจากโรคลมชักเลย ยากันชักในปัจจุบันมีมากกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดก็ใช้ได้ดีกับการชักต่างชนิดกันออกไป แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาที่เหมาะสมตามชนิดของการชักของผู้ป่วย เนื่องจากการตอบสนองของยากันชัก และขนาดที่ใช้จะแตกต่างในแต่ละคน ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด ปรับใช้ชนิดยาและปริมาณของยาที่เหมาะสม 2. การรักษาโดยการใช้การผ่าตัด ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษามาตรฐานทั่วโลกในผู้ป่วยที่มีแผลเป็นในสมอง และดื้อต่อยา รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการชักอันก่อให้เกิดอันตราย หรือมีผลกระทบมากต่อการงานและสังคม อย่างไรก็ตามก่อนการผ่าตัดจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียด ข้อพึงปฏิบัติในการรักษาโรคลมชัก 1. ควรรับประทานยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และตามเวลาที่แนะนำ 2. ควรสังเกตอาการข้างเคียงของยาตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจหยุดยาเอง เพราะบางกรณี หากหยุดยาเองอาจทำให้เกิดอาการชักอย่างรุนแรงเพราะขาดยาได้ 3. จดบันทึกลักษณะอาการชักทุกครั้งที่มีตลอด จดวันและเวลาที่มีอาการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการปรับขนาดยา หรือช่วงเวลาที่จะให้ยาแก่ผู้ป่วย 4. ควรหลีกเลี่ยงภาวะต่างๆ ที่อาจจะเสี่ยงต่อการชักซ้ำ เช่น การอดนอน การออกกำลังกายหักโหม ขาดยากันชัก อดอาหาร เป็นต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 1. เมื่อพบผู้ป่วยที่กำลังชัก ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ 2. จับผู้ป่วยนอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก และลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ 3. คลายเสื้อผ้าให้หลวม 4. ห้ามใช้นิ้วหรือสิ่งของใดๆ งัดปากผู้ป่วยขณะชัก เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย และผู้ช่วยเหลือ 5. ผู้ป่วยหลังชักอาจมีอาการงงอยู่ ขณะยังไม่รู้สติ ห้ามยึดจับผู้ป่วย เพราะจะกระตุ้นผู้ป่วยให้ทำการต่อสู้รุนแรงได้ 6. ในกรณีที่ผู้ป่วยหลับหลังชัก ควรปล่อยให้หลับต่อ ห้ามป้อนอาหาร หรือยาจนกว่าจะฟื้นเป็นปกติ เพราะอาจสำลักได้ 7. ถ้าชักนานกว่าปกติ หรือชักซ้ำขณะที่ยังไม่ฟื้นเป็นปกติ ควรนำส่งโรงพยาบาล “การมีอาการชักบ่อยๆ อาจทำให้การทำงานของสมองบกพร่องได้” การดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง คลินิกลมชัก Epilepsy Clinic ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่มีมาตรฐานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยการบริการด้านคลินิก ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคลมชักด้วยแพทย์เฉพาะทาง และบริการให้คำปรึกษาเมื่อมีอาการชักหรือสงสัยว่ามีอาการชักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่ออาการหรือปัญหา เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดขึ้นขณะชัก การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคลมชัก การตรวจหาจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการชัก (Epileptogenic lesion) มีหลายวิธีเช่น 1. การตรวจคลื่นสมอง (EEG) โดยการติดสายไฟฟ้าไว้บนศีรษะในตำแหน่งต่าง ๆขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับตา ประมาณ 20-30 นาที เครื่องจะบันทึกคลื่นสมองและตรวจหาจุดบนผิวสมองที่ปล่อยไฟฟ้าผิดปกติซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการชัก 2. การตรวจคลื่นสมองประกอบภาพวิดีทัศน์ (video EEG monitoring) ผู้ป่วยจะเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะทำการบันทึกภาพวิดีทัศน์คลื่นสมองของผู้ป่วยด้วยคอมพิวเตอร์ขณะเกิดอาการชัก ทำให้ทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสมองในขณะกำลังชัก การตรวจนี้ทำให้ตรวจหาจุดที่ก่อให้เกิดอาการชักได้แม่นยำกว่าการตรวจการตรวจคลื่นสมองแบบธรรมดา (EEG) 3. การถ่ายภาพแม่เหล็กสมอง (MRI) เป็นการดูภาพอย่างละเอียดทันสมัยที่สุดในปัจจุบันเพื่อหาสาเหตุของการชัก แม้จะมีขนาดเล็กมาก เช่น แผลเป็น เนื้องอกขนาดเล็ก หรือเนื้อสมองที่พิการตั้งแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม การเอกซเรย์สมองจะต้องมีการนำเทคนิคพิเศษมา เพื่อทำให้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมตรวจพบความผิดปกติซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนด้วยการทำ MRI ธรรมดา 4. การตรวจภาพกัมมันตรังสี แพทย์จะทำการฉีดสารกัมมันตรังสีในขณะที่ผู้ป่วยเริ่มชักโดยสารกัมมันตรังสีจะไปจับตรงตำแหน่งของสมองที่ก่อให้เกิดอาการชัก ทำให้แพทย์สามารถหาตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของการชักซึ่งจะมีประโยชน์มากในการเตรียมการผ่าตัดรักษา 4.1 การตรวจ Interictal spect เป็นการตรวจหาจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชัก โดยเป้นการตรวจในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการชักอย่างน้อย 24 ชม. 4.2 การตรวจ Ictal spect การตรวจหารจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชัก ขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง 24 ชม.พร้อมวิดีทัศน์ โดยจะฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าในร่างกายผู้ป่วยทันทีที่มีอาการชัก สารจะเข้าไปจับตรงตำแหน่งของสมองที่ผิดปกติ ที่เป็นจุดกำเนิดของอาการชัก เพื่อผลในการเตรียมผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก 4.3 การตรวจ Interictal PET เป็นการตรวจโดยใช้สารกัมมันตรังสี ฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการชัก มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองก่อนที่จะทำการตรวจ PET scan จะทำให้ทราบตำแหน่งของจุดกำเนิดชักได้ 5. การตรวจการทำงานของสมอง (Functional mapping) การตรวจสมองด้วย functional mapping ทำให้ทราบว่าสมองส่วนไหนที่ควบคุมร่างกายหรือส่วนไหนที่ไม่มีความสำคัญต่อร่างกาย หากพบแผลเป็นในตำแหน่งที่ไม่อยู่ในส่วนที่สำคัญของร่างกายแพทย์สามารถผ่าตัดเอาส่วนนั้นออกได้เพื่อให้ผู้ป่วยหายโรคลมชักได้ 6. การตรวจเรื่องความจำและภาษา (Neuropsychological และ Wada test) โดยการทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาการตรวจสภาพจิตอารมณ์และหน้าที่สมองด้วยเครื่องมือทางจิตวิทยา การตรวจตำแหน่งสมองที่ควบคุมเรื่องความจำและภาษา เพื่อป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของสมองจาการผ่าตัดผิดตำแหน่ง Wada test เป็นการทดสอบเรื่องของความจำและการพูดโดย เพื่อศึกษาว่าสมองที่ควบคุมความจำและการพูดอยู่ในตำแหน่งเดียวกันหรือไม่ ตลอดจนสามารถรู้ได้ว่าแผลเป็นในสมองกับตำแหน่งที่ควบคุมร่างกายเป็นเรื่องของศูนย์ภาษาหรือศูนย์ความจำ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาทำการผ่าตัดของแพทย์ การรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก 1. การใช้ยายังเป็นการรักษาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กและผู้ใหญ่ (Antiepileptic drug) การรักษาโดยการใช้ยาเพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปรกติในสมองให้กลับมาเป็นปรกติ แพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมกับอาการชักของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งจะใช้เวลาในการทานยาประมาณ 2-5 ปี แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาหยุดยาได้ โดยที่ผู้ป่วย 60-70 % สามารถหายขาดจากโรคลมชักด้วยยา 2. การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสมอง (Deep brain stimulation, Vagal nerve stimulation) Vagal nerve stimulation เป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้ในต่างประเทศนิยมทำในผู้ป่วยโรคลมชักเด็กที่ดื้อต่อยาและไม่สามารถจะรักษาโดยการผ่าตัดได้ วิธีการโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปในร่างกายและกระตุ้นผ่านเส้นประสาทบริเวณคอ 3. การควบคุมอาหารเพื่อรักษาโรคลมชักในเด็ก (ketogenic diet) เป็นการรักษาทางโภชนบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีระดับ ketone ในร่างกายสูง ลักษณะอาหารจะมีไขมันค่อนข้างสูงและ โปรตีนต่ำ วิธีการนี้จึงเหมาะสมกับเด็ก เนื่องจาก พ่อแม่สามารถควบคุมเรื่องอาหารและตรวจเช็คปัสสาวะได้ตลอดเวลา โดยจะทำให้มีสาร การใช้ ketone จะได้ผลในผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางสมองซึ่งมีอาการชักค่อนข้างรุนแรง จะทำให้อาการชักดีขึ้นประมาณ 60 % -70 % และมีคนไข้ที่ไม่มีอาการชักเลยในระหว่างที่มีการให้อาหารชนิดนี้ ประมาณ 30 % สำหรับโรคลมชักในผู้ใหญ่ จะไม่นิยมวิธี ketogenic diet เนื่องจาก อาหารประเภทนี้มีไขมันค่อนข้างสูง 4. การผ่าตัด (Epileptic surgery) ในผู้ป่วยที่ดื้อยาหรือมีพยาธิสภาพในสมองที่ชัดเจนแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดสมอง โดยจะวิเคราะห์ผู้ป่วยอย่างละเอียดจากทีมสหสาขา และกระบวนการตรวจที่ทันสมัยพร้อมเทคนิคใหม่ ๆ ทำให้โอกาสที่ ผู้ป่วยจะหายจากชักสูงมากโดยที่ไม่มีผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ในรายที่การรักษาทางยาไม่ได้ผลหรือผ่าตัดรักษาไม่ได้ก็อาจจะใช้วิธีการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า (Brain stimulation) หลักสำคัญของการผ่าตัดของโรคลมชัก 1. การคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมเพื่อค้นหาบริเวณของสมองที่เป็นต้นกำเนิดของโรคลมชัก (Epileptogenic Zone) 2. Modern Surgical Technique ทำให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จ จุดมุ่งหมายในการผ่าตัดโรคลมชัก เพื่อให้คนไข้หายขาดจากโรคลมชักโดยที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปกติ และคนไข้บางรายที่ประเมินแล้วว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การผ่าตัดรักษาจะกระทำเพื่อบรรเทาอาการทำให้ความรุนแรงและความถี่ของการเกิดโรคลมชักลดน้อยลง การผ่าตัดสมองรักษาโรคลมชักเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่แพร่หลายในต่างประเทศ ก่อนผ่าตัด แพทย์จะทำการคัดเลือกผู้ป่วยอย่างพิถีพิถันด้วยการตรวจเพื่อวินิจัยดังรายการที่กล่าวข้างต้นอย่างละเอียดเป็นขั้นตอน จนแน่ใจว่า หลังผ่าตัดผู้ป่วยรายนั้นๆ จะมีโอกาสหายขาดจากอาการชักสูงและจะไม่ก่อให้เกิดความพิการภายหลัง การผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรคลมชักสามารถจำแนกได้ 2 วิธีคือ 1. ตัดบริเวณของสมองที่เป็นต้นกำเนิดของโรคลมชัก ที่เรียกว่า Epileptogenic Zone หรือ ตัดบริเวณของสมองเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของคลื่นสมองที่ผิดปกติ 2. ผ่าตัดฝังเครื่องไฟฟ้ากระตุ้นระบบประสาท เช่น กระตุ้นเส้นประสาท ที่เรียกว่า Vagal Nerve Stimulation หรือกระตุ้นบางส่วนของเนื้อสมอง ที่เรียกว่า Thalamic Stimulation และ Cerebellar Stimulation เพื่อให้เกิดคลื่นไฟฟ้าใหม่ลบล้างคลื่นสมองที่มีอยู่เดิมทำให้อาการชักลดน้อยลง เทคนิคพิเศษในการผ่าตัด การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด 1. Intracranial monitoring เพื่อค้นหาและบันทึกการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองจากเนื้อสมองโดยตรง ในกรณีที่การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองวิธีธรรดาไม่สามารถบอกขอบเขตของสมองที่เป็นต้นกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติได้ ตัวอย่างเช่น subdural strip electrodes, coritcal plate/ grids และ depth electrodes 2. Cortical Stimulator เป็น เครื่องมืออิเลกทรอนิกส์ทางไฟฟ้าใช้กระตุ้นผิวสมองในระหว่างการผ่าตัดเพื่อหาขอบเขตของสมองส่วนที่ปกติ และหลีกเหลี่ยงอันตรายหรือการบาดเจ็บต่อเนื้อสมองที่ปกติ 3. Intraoperative neuronavigator (Frameless stereotaxy) เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ช่วยในการผ่าตัดโดยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในวงการแพทย์ เพื่อใช้บอกตำแหน่งของสมองโดยจะแสดงภาพของสมองในวิวต่างๆในรูป CT, MRI หรือ SPECT ในขณะผ่าตัด Gamma Knife เป็นเครื่องมือรังสีศัลยกรรม(Radiosurgery) ใช้รักษาโรคสมองโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการใช้รังสีที่จำกัดปริมาณที่เหมาะสม เฉพาะเป้าหมาย ซึ่งอาจจะเป็นเนื้องอก หรือกลุ่มหลอดเลือดขอด โดยการรักษาด้วยวิธีการนี้จะเป็นอันตรายน้อยมากต่อเนื้อสมองบริเวณใกล้เคียง ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 023103000 โรงพยาบาลกรุงเทพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ