กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สสวท.
งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อเร็วๆนี้ หัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษของผู้เข้าร่วมประชุมคือ การบรรยายของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นายกสมาคมนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สทวท.) เกี่ยวกับ “วิทยาศาสตร์ลวงโลก หรือ Pseudo Science”
ผศ. ดร.เจษฎา ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบัณฑิตโครงการ พสวท. เป็นที่รู้จักเมื่อครั้งที่ออกมาเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงการทำงานของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 การนำข้อมูลต่างๆ ด้านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าภายในของอุปกรณ์ที่เรียกว่า GT200 ไม่มีส่วนประกอบใดที่ทำงานเชื่อมโยงกันซึ่งจะมีผลในทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดในพื้นที่ภาคใต้ได้แต่อย่างใด
และล่าสุด กรณีของสถาบันแห่งหนึ่งที่แอบอ้างว่าเป็นสถาบันพัฒนาสมองส่วนกลาง ด้วยการฝึกเด็กให้อ่านหนังสือได้ทั้งที่ถูกปิดตา ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นการแอบดูลอดช่องผ้าปิดตา ผศ. ดร. เจษฎา กล่าวว่า นี่เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ถือว่าเป็นการใช้วิทยาศาสตร์ในการลวงโลก ทั้งๆที่ไม่มีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์เลย ทั้ง 2 กรณีข้างต้นถูกนำมาเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงคำว่า “วิทยาศาสตร์ลวงโลก” ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก
“ขณะนี้ วิทยาศาสตร์ลวงโลก หรือ Pseudo Science สามารถลวงคนทั้งโลกได้เลย” ผช.ดร.เจษฎา กล่าวพร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ลวงโลกเป็นอย่างไร?
“ การแอบอ้าง หรือความเชื่อ หรือแนวทางปฏิบัติที่บอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆแล้วไม่เคยผ่านการทดสอบที่ถูกต้อง ไม่เคยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีการทดสอบ ไม่มีข้อมูลการวิจัยมารอบรับ ไม่มีสิทธิบัตรมารองรับแต่อย่างใด โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า และไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดๆ และจุดที่ควรสังเกตคือ มีการกล่าวอ้างที่ดูกำกวม เกินจริง หรือพิสูจน์ไม่ได้ มีการยืนยันอย่างเต็มที่ของผู้ที่เชื่อ แทนที่จะพยายามพิสูจน์ข้อสงสัย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆมาร่วมทำการทดสอบ”
วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง (Real Science) จะต้องทำการทดลองซ้ำได้ และยอมให้คนอื่นทดสอบความถูกต้อง ต้องมีการควบคุมความลำเอียง (Bias) และปัจจัยแปรปรวนต่าง ๆ มีการสุ่มเก็บตัวอย่างอย่างยุติธรรม ต้องศึกษาโดยไม่ทราบผลล่วงหน้า และต้องมีการทดสอบทางสถิติ เพื่อบอกนัยสำคัญของผลที่ได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 Karl Popper เสนอหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ falsifiability นั่นคือ
หลักพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ คือ ต้องสามารถทดสอบได้ว่าคำกล่าวอ้าง หรือผลการทดสอบอาจเป็น “เท็จ” ได้ ไม่ใช่ว่าต้องเชื่อไว้ก่อนว่าถูกต้อง เพื่อแยกแยะวิทยาศาสตร์แท้ออกจากวิทยาศาสตร์ลวงโลกวิทยาศาสตร์ลวงโลก หรือ Pseudo Science กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก เช่น จากผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา ปี 1988 พบว่า ผู้ใหญ่ 50% ปฏิเสธทฤษฎีวิวัฒนาการ แต่ 88% เชื่อว่าโหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ แท้จริงแล้ว ความเชื่อที่ไม่อาจทดสอบได้ อย่างโหราศาสตร์ ไม่นับเป็นวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติก็นับเป็น Pseudo Science เช่น พลังจิต สัมผัสที่ 6บ้านผีสิง ผี วิญญาน การกลับชาติมาเกิด พ่อมด หมอผี และการเข้าทรง
วิทยาศาสตร์ลวงโลกที่อันตราย และกำลังแพร่หลายไปทั่ว คือ การถูกนำมาใช้สำหรับธุรกิจการค้า ผศ.ดร.เจษฎา ชี้ให้เห็นถึงกฎ 9 ข้อ ในการทำวิทยาศาสตร์ลวงโลกเพื่อการค้า อย่างเช่น การสร้างภาพลวงของกิเลสและความกลัว ด้วยคำโฆษณาว่า สุขภาพจะดีขึ้น หายจากมะเร็ง แต่จ่ายเพียงแค่ไม่กี่บาท การสร้างหลุมพรางให้ติดกับทีละขั้น เช่น เริ่มจากทดลองกินยาฟรี ทดสอบกระดูกฟรี แล้วเข้าคอร์สต่าง ๆเป็นต้น การสร้างภาพผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ก่อตั้งกลุ่มผู้ศรัทธา ใช้การหลอกตัวเอง ให้ผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วไปโฆษณาขายต่อคนอื่น จัดการสาธิต การนำเสนอที่น่าดึงดูดใจ หรือการชักจูงใจต่อสิ่งที่เชื่ออยู่ก่อนแล้ว เช่น ชี้นำผลด้วยพฤติกรรมยาเทียม (Placebo Effect) ใช้การกล่าวอ้างสรรพคุณเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ อะไรแพงกว่าอันนั้นดีกว่า ใช้ศัพท์ที่ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์ และการทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกซักถามเกี่ยวกับสินค้า ฯลฯ
ผศ. ดร. เจษฎา ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของ Pseudo Science ว่า “การอ้างพลังเหนือธรรมชาติ หรือ ยา, เครื่องมือ มหัศจรรย์ทั้งหลาย อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการรักษาที่ผิดจนถึงแก่ชีวิตได้ หรือมีอาการหนักขึ้นแทนที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันเวลา ทำให้เสียโอกาสในการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้รับประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างไว้ นอกจากนี้ Pseudo Science อาจจะไปขัดขวางการสนับสนุนของสาธารณชนเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ได้”
ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่นับว่าเป็น Pseudo Science ผศ.ดร.เจษฎา หยิบยกขึ้นมา ที่พบกันบ่อย ๆ อาทิ ผีถ้วยแก้ว เครื่องสแกนวิญญาณ (Ghost Radar) กล่องประหยัดค่าไฟ ปลั๊กประหยัดน้ำมันรถ รถใช้พลังงานจากน้ำ ซึ่งอาจมีผลทำให้เครื่องยนต์พังได้ หรือกรณีของการโฆษณาเกินจริงว่า ให้กินคอลลาเจน เอ็มไซน์บำบัดต่างๆ แต่จริงๆแล้ว โปรตีนเหล่านี้ กินไปร่างกายก็ย่อย กลายเป็นกรดอะมิโนเหมือนกันหมด ไม่ได้มีประโยชน์ล้ำเลิศกว่ากินโปรตีนอื่น ๆ แต่อย่างไร
สุดท้าย ผศ. ดร.เจษฎา ฝากไว้ว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้น ต้องบอกในความเป็นไปได้บนพื้นฐานของข้อมูลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ อย่าหยุดอยู่แค่ประโยค “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่” แต่ “ถ้าไม่เชื่อ ก็ต้องพิสูจน์” ถ้ามีบางสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง