มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปี ๒๕๕๔

ข่าวทั่วไป Tuesday April 5, 2011 13:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากได้เกิดอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ก่อให้เกิดความเสียหายและเดือดร้อนรุนแรงแก่เกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง กระทรวงการคลังจึงได้กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แก่ผู้ประสบภัยปี ๒๕๕๔ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ได้เห็นชอบมาตรการดังกล่าวซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ มาตรการ โดยสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้ ๑. มาตรการด้านการเงิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิเช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ให้ความช่วยเหลือในการ ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น ผ่อนผันการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จำหน่ายลูกหนี้เป็นหนี้สูญกรณีเสียชีวิตจากอุทกภัย ให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตตลอดจน ปลูกสร้างหรือซ่อมแซมอาคารและที่อยู่อาศัย และลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ๒. มาตรการด้านภาษี เป็นการบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ผู้ประสบภัยได้รับจากรัฐบาลหรือการบริจาค รวมทั้งยกเว้นภาษีนิติบุคคลสำหรับเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยด้วย นอกจากนั้น ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดายังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ซึ่งเมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นจะต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน และหากเป็นนิติบุคคลก็ได้รับยกเว้นเช่นกันโดยเมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะอื่นๆ ก็ต้องไม่เกินร้อยละ ๒ ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปบริจาคด้วย นอกจากนั้น ครม.ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาจาก ๓๑ มี.ค. เป็น ๓๑ พ.ค. ๒๕๕๔ โดยภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะของผู้ประกอบการก็ให้ขยายการยื่นแบบแสดงรายการในเดือน มี.ค. และ เม.ย. เป็น ๓๑ พ.ค. ๒๕๕๔ เช่นกัน ๓. มาตรการด้านความช่วยเหลือของกรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางได้ขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง กระบี่ สงขลา และพังงา จังหวัดละ ๕๐ ล้านบาทเป็นจังหวัดละ ๑๐๐ ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ