หน่วยพยาบาลใกล้บ้าน...จุดเปลี่ยนของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 17, 2007 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สวรส.
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
สวรส. หนุนขยายบทบาทหน่วยพยาบาลใกล้บ้านในการดูแลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้น ชี้ผลลัพธ์จากการผสานความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลและหน่วยพยาบาลใกล้บ้าน คือ คุณภาพชีวิตดีขึ้นของผู้ป่วย ช่วยลดความความยากลำบากของผู้ป่วยในการเดินทางไปโรงพยาบาล ลดค่าเดินทางไปพบแพทย์ได้ 140,000 บาท/ตำบล/ปี ลดอัตราการนอนป่วยในโรงพยาบาล และลดภาระการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล
แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยหนาแน่น ในขณะที่บุคลากรที่ให้บริการมีจำนวนจำกัด ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง และแพทย์เองก็มีเวลาตรวจรักษาผู้ป่วยแต่ละคนเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ความล้มเหลวในการรักษา และควบคุมผู้ป่วยเบาหวาน ทางด้านผู้ป่วยก็ต้องอยู่ที่ภาวะกดดันของผู้ป่วย ที่ต้องรีบเดินทางมาเข้าคิวตรวจแต่เช้า และรอตรวจนานกว่าหลายชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) จึงได้ทำวิจัยและพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง และระบบการติดตามกำกับหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายหน่วยบริการเพื่อยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน โดยให้โรงพยาบาลและหน่วยพยาบาลใกล้บ้านเข้ามามีบทบาทร่วมกันเป็นเครือข่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย
ซึ่งผลจากการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการใกล้บ้านตั้งแต่ปี 2547 พบว่าการย้ายการดูแลผู้ป่วยเบาหวานจากโรงพยาบาลไปยังหน่วยพยาบาลใกล้บ้าน ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่แออัดในโรงพยาบาลได้มาก ผู้ป่วยเริ่มหันมารับบริการจากหน่วยบริการใกล้บ้าน จึงช่วยลดภาระการเดินทางไปโรงพยาบาล ทั้งเรื่องความยากลำบากในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งยังได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากหน่วยบริการใกล้บ้าน ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีขึ้น การเกิดโรคแทรกซ้อนน้อยลง และลดอัตราการเสียชีวิตลงไปด้วย นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังสามารถนำไปใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน จึงทำให้อัตราการเกิดผู้ป่วยเบาหวานลดน้อยลง
พญ.สุพัตรา กล่าวว่า เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารการกิน การมีกิจกรรมทางร่างกาย การรักษาที่ดีที่สุดจึงไม่ได้อยู่ที่การได้รับยา แต่อยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เป็นรากฐานให้เกิดโรค ซึ่งกระบวนการดูแลเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และปรับสมดุลของวิถีชีวิตให้ได้นั้น ต้องอาศัยความใกล้ชิด ความเข้าใจถึงปัจจัยพื้นฐานของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแพทย์ในโรงพยาบาลมีเวลาไม่เพียงพอ และไม่มีโอกาสได้รู้จักใกล้ชิดกับผู้ป่วยจนสามารถปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ ทางออกในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ดีที่สุดคือ หน่วยพยาบาลใกล้บ้าน
“หน่วยพยาบาลใกล้บ้าน หรือ Primary Care Unit (PCU) คือหน่วยบริการปฐมภูมิ ในที่นี้อาจเป็นสถานีอนามัย ศูนย์แพทย์ ศูนย์สุขภาพชุมชน หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งจะมีอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศ และมีหน้าที่เป็นหน่วยบริการด่านแรกที่ประชาชนจะมาใช้บริการ ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีความใกล้ชิดกับคนในชุมชน จึงถือเป็นกลุ่มสำคัญที่จะเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากรู้จักวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ทำให้สามารถแนะนำด้านพฤติกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมของแต่ละคนได้ ข้อดีของการให้หน่วยพยาบาลใกล้บ้านเข้ามาดูแลผู้ป่วยเบาหวานคือ ความสะดวกที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการเข้ารับการรักษา เพราะอยู่ใกล้บ้าน เดินทางมาสะดวกไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปจองคิวที่โรงพยาบาล ไม่ต้องอดข้าวเพื่อรอตรวจ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเจ้าหน้าที่ให้บริการเป็นกันเอง ผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่พูดคุยกันได้มากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของการดูแลรักษา การทำแผล เมนูอาหารที่ควรรับประทาน ไม่ควรรับประทาน และการออกกำลังกายที่เหมาะสม จนทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ในที่สุด”
ตัวอย่างการย้ายผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการจากหน่วยพยาบาลใกล้บ้านของโรงพยาบาลพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก แสดงถึงผลสำเร็จของการกระจายผู้ป่วยสู่หน่วยพยาบาลใกล้บ้านตั้งแต่ปี 2547-2549 โดยพบว่ามีอัตราการเกิดโรคเบาหวานลดลง จากที่เคยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยร้อยละ 9.6 ขณะนี้ลดลงเหลือร้อยละ 5.5 ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนลดลง จากร้อยละ 3.2 เป็นร้อยละ 0.8 ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีอัตราการตายลดลงจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 0.04 นอกจากนี้ยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ลดภาระการทำงานของโรงพยาบาล อีกทั้งยังช่วยลดความยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลในศูนย์แพทย์ชุมชนต่างๆ พบว่าการรักษาผู้ป่วยเบาหวานสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเดินทางได้ถึง 140,000 บาท/ตำบล/ปี
อย่างไรก็ดี การดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกันระหว่างโรงพยาบาล กับหน่วยพยาบาลใกล้บ้าน เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง การดูแลรักษาจึงแตกต่างกันตามระยะของโรค และตามสภาพของผู้ป่วย เช่น ในระยะแรกผู้ป่วยใหม่ที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ขาดความมั่นใจ และมีปัญหาเรื่องการจัดการพฤติกรรม ปรับชีวิต จึงต้องดูแลโดยการให้ความรู้และสร้างความมั่นใจ ให้สามารถปรับพฤติกรรม และปรับใจให้ได้ ระยะต่อมาคือระยะ 3-5 ปีแรก ผู้ป่วยต้องกินยาให้ได้อย่างต่อเนื่อง และควบคุมน้ำตาลให้ได้ ทั้งสองระยะนี้บทบาทหลักจะอยู่ที่หน่วยพยาบาลใกล้บ้าน แต่เมื่อเข้าสู่ระยะที่มีโรคแทรกซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยยาหลายชนิด จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลมากขึ้น และเพื่อให้การส่งต่อผู้ป่วยเบาหวานมีการเชื่อมโยงกัน โรงพยาบาลและหน่วยพยาบาลใกล้บ้านจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ระหว่างหน่วยพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก และโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางที่มีแนวทางในการส่งต่อที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)
โทร.0-2270-1350-4ต่อ105 e-mail:prhsri@hotmail.com

แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ