กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน
นักวิเคราะห์ชี้ชัด ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาไอซีทีของประเทศให้มากขึ้น โดยปัจจัยหนึ่งคือ ต้องจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระและมีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการได้ และความที่ไม่มีอำนาจเด็ดขาดทำให้ขาดความเชื่อมั่นว่าจะมีการดำเนินการตามแผนตามที่แผนแม่บทกำหนดไว้
มร. มาร์ค ไอน์สไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เปิดเผยว่า “โดยภาพรวมอุตสาหกรรมไอซีทีไทยอยู่ในกลุ่มตลาดกำลังพัฒนาและตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะรายได้ของผู้ให้บริการระบบซึ่งโตต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเท่ากับ 2.3% เทียบกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% และฟิลิปปินส์ 3.6% “
"อนาคตส่วนใหญ่ของโอเปอเรเตอร์ คือ รายได้จากการใช้ดาต้า ซึ่งถ้ายังไม่มี 3จี ในอีก 2-3 ปีนี้ ผู้ให้บริการระบบในประเทศไทยจะไม่มีการเติบโตเลย หรือที่แย่ไปกว่านั้นคืดอัตราการเติบโตของรายได้อาจเป็นติดลบ” มร.ไอน์สไตน์ กล่าว
ทั้งนี้แม้ไทยจะเป็นตลาดที่มีผู้ใช้มือถือมากกว่า 100% ของประชากร แต่การใช้งานซิมการ์ดมีเพียง 75%โดยเฉพาะการใช้ดาต้า เซอร์วิสที่ยังไม่พัฒนาเนื่องจากขาด 3จี รวมทั้งอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อครัวเรือนที่ยังต่ำกว่า 10%เขาคาดการณ์ว่า 3จีเป็นหัวใจหลักในการขยายการเข้าถึงบรอดแบรนด์ให้มากขึ้น ซึ่ง ภายในปี 2558 ประเทศไทยมีแนวโน้มจะมีผู้ใช้งาน 3จี เพิ่มเป็น 30% ของประชากรจากปัจจุบันที่ต่ำกว่า 10% และมีบรอดแบนด์ครอบคลุมราว 40-50% ของประชากร โดยเชื่อว่าในจำนวนนี้ 80% มาจากการพัฒนาระบบไร้สายความเร็วสูง หรือ 3จี ส่วนอีก 20% เป็นการพัฒนาของระบบฟิกซ์ไลน์
มร. ไอน์สไตน์ยังวิเคราะห์อีกว่า สาเหตุที่ตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 3จี หรือบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยถึงแม้จะมีองค์กรอิสระที่กำกับดูแลบริการกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่กลับไม่มีอำนาจในการควบคุมที่ชัดเจนพอที่จะบังคับให้เป็นไปตามกรอบนโยบายหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากในประเทศอื่นที่มีอิสระทั้งทางด้านนโยบายและอำนาจในการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ
"ยกตัวอย่างในฮ่องกง หลังจากมี 3จีใช้ ก็ทำให้การใช้ดาต้าบนสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าในเวลาแค่ 3 ปี สำหรับไทยถึงแม้ยังไม่มี 3จีใช้แต่อัตราการใช้สมาร์ทโฟนก็เติบโตขึ้นมาก โดยคาดว่าถ้าเป็นไปตามแผน รายได้ของโอเปอเรเตอร์ 30% จะมาจากการใช้ดาต้า เซอร์วิสเหล่านี้" ไอน์สไตน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากรัฐสามารถผลักดันการพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่จะกำหนดให้ ทีโอที และ กสท เป็นผู้ดำเนินการสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุม 80% ของประชากรภายในปี 2558 ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้การพัฒนาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากขึ้น