กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สนพ.
กระทรวงพลังงานจับมือกระทรวงยุติธรรม จัดทำโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารในเรือนจำ เพื่อนำร่องผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ในเรือนจำ 5 แห่ง คาดผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ปีละ 48,300 กิโลกรัม
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารในเรือนจำ ระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ว่า ตามแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2551 — 2554 กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อให้ก๊าซชีวภาพเป็นอีกทางเลือกของการใช้พลังงานในประเทศไทย และเร่งผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพจากผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ อาทิ ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการผลิตไบโอแก๊สจากขยะเศษอาหารจากสถานประกอบการต่างๆ โดยเน้นไปที่ภาคเอกชน ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการนำก๊าซชีวภาพมาใช้งานแล้วรวม 480 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2,775 ล้านบาทต่อปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 50 ล้านตัน
“สำหรับโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารในเรือนจำที่จัดขึ้น นับเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกัน ในการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบของการทดแทนก๊าซหุงต้ม โดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารในกรมราชทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 9.65 ล้านบาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม ตระหนักถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมในการรณรงค์แก้ไขวิกฤตด้านพลังงาน และวิกฤตด้านสภาวะแวดล้อมของโลก จึงได้ร่วมมือกับทางกระทรวงพลังงานสนับสนุนให้มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารในกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีเรือนจำและทัณฑสถานในสังกัดจำนวน 143 แห่ง มีผู้ต้องขังรวม 218,000 คน มีปริมาณขยะเศษอาหารเหลือทิ้งปีละ 54 ตัน
โดยได้มีการคัดเลือกเรือนจำและทัณฑสถานที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางสมุทรปราการ ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง เรือนจำพิเศษธนบุรี และ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมเป็นเรือนจำและทัณฑสถานนำร่องในโครงการฯ ซึ่งสามารถรองรับปริมาณเศษอาหารรวมไม่น้อยกว่า 3,500 กิโลกรัมต่อวัน หรือ คิดเป็นความสามารถในการผลิตก๊าซชีวภาพได้รวมประมาณ 105,000 ลบ.ม.ต่อปี คิดเป็นการทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ประมาณ 48,300 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ปีละ 870,000 บาท
“กระทรวงยุติธรรม มีความยินดีในการร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตพลังงานและปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการฯ จะนำประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ที่ได้รับ ไปผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อบำบัดขยะเศษอาหารในเรือนจำและทัณฑสถานอื่นๆ ต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-612-1555 สนพ.