คำชี้แจงกรณีข่าวกระทรวงพัฒนาสังคมจ้างเอแบคโพลล์ 8 แสนทำโพลล์รถซิ่ง

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2005 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--เอแบคโพลล์
คำชี้แจงกรณีข่าวกระทรวงพัฒนาสังคมจ้างเอแบคโพลล์ 8 แสนทำโพลล์รถซิ่ง
โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ จำนวน 4 หน้า
ตามที่มีข่าวจากสื่อมวลชนจำนวนมากระบุว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ้างเอแบคโพลล์ 8 แสนบาททำสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดให้มีสนามแข่งรถซิ่งของเยาวชนนั้น ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ขอเรียนชี้แจงความเป็นจริงใน 2 ประเด็นคือ 1) เกี่ยวกับโครงการวิจัย และ 2) เกี่ยวกับงบประมาณ ดังนี้
ประเด็นแรก เกี่ยวกับโครงการวิจัยซึ่งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ได้รับการติดต่อจากระทรวงพัฒนาสังคมฯ จริงโดยขอให้สำรวจเกี่ยวกับมาตรการเคอร์ฟิวเด็กและเยาวชนในช่วงตอนกลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนออกนอกเคหะสถานไปทำกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แต่ก่อนออกมาตรการดังกล่าว กระทรวงพัฒนาสังคมต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมสะท้อนความรู้สึกนึกคิดต่อมาตรการเคอร์ฟิวเด็กดังกล่าวผ่านการทำวิจัยเชิงสำรวจ โดยจะสอบถามในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกมาตรการเคอร์ฟิวเด็กและเยาวชนในช่วงเวลาตอนกลางคืน เช่น ควรมีมาตรการเคอร์ฟิวเด็กและเยาวชนหรือไม่ ข้อดีและข้อเสียมีอะไรบ้าง ผลของการออกมาตรการเคอร์ฟิวต่อวิถีชีวิตของเด็กและครอบครัวจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
สำหรับโครงการสำรวจความคิดเห็นต่อมาตรการเคอร์ฟิวเด็กและเยาวชนนี้มี 4 กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยเป็นการทำสำรวจครอบคลุมประชากรเป้าหมายทั่วประเทศในจำนวนเงินสนับสนุนงานวิจัย 8 แสนบาท เงินวิจัยจำนวนนี้คณะผู้ทำวิจัยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ไม่มีค่าจ้างหัวหน้าโครงการวิจัย ไม่มีค่าจ้างนักวิจัย แต่มีค่าจ้างนักศึกษาฝึกงานของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไปเก็บข้อมูล ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าประกันชีวิต และค่าเบี้ยเลี้ยงจากการเก็บข้อมูลที่ไปสัมภาษณ์ตามครัวเรือนของประชาชนและนำมาประมวลผล เหล่านี้คือค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในการทำวิจัยเพื่อให้นักศึกษาเยาวชนส่วนหนึ่งที่กำลังเรียนหนังสือตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีเงินจากการทำงานวิจัยกับคณาจารย์นักวิจัยของเอแบคโพลล์ไปเป็นทุนการศึกษา เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้
“ส่วนคณาจารย์นักวิจัยนักสถิติของเอแบคโพลล์ไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากโครงการวิจัยโดยเด็ดขาด พวกเราได้รับแต่เงินเดือนของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเท่านั้นและเป็นเงินเดือนที่ไม่แตกต่างไปจากบุคลากรคนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย สามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน”ดร.นพดล กล่าว
ส่วนเรื่องทำโพลล์รถซิ่งนั้น ผมขอเรียนให้สังคมทราบว่า เป็นประเด็นที่ทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพิ่มเข้ามาในโครงการวิจัย ผมก็ให้ข้อเสนอแนะไปว่าการเพิ่มแค่สอบถามความคิดเห็นเรื่องเปิดสนามรถซิ่งประเด็นเดียวนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก แต่ควรมีการสอบถามเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1) เด็กและเยาวชนไทยกำลังมองผู้ใหญ่ในสังคมและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาบังคับวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร ข้อมูลนี้จะทำให้ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจในประเทศจะได้รับทราบความรู้สึกนึกคิดของเด็กและเยาวชนบ้าง เพราะนี่คือวิธีการอบรมเลี้ยงดูในปัจจุบันที่ควรรับฟังและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกอบรมเลี้ยงดูสะท้อนความรู้สึกของตนเองกลับมา เป็นการอบรมเลี้ยงดูแบบทูเวย์ไม่ใช่การเลี้ยงดูเชิงบังคับแบบทางเดียว
2) เด็กและเยาวชนไทย ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องมองว่า ช่องทางของเด็กและเยาวชนเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดมีอะไรบ้าง ที่มีอยู่นั้นมีมากเพียงพอแล้วหรือไม่ และที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร การเปิดสนามให้แข่งรถซิ่งเป็นทางออกทางหนึ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ผลดีผลเสียมีอะไรบ้างต่อตัวเด็กและเยาวชนเอง ต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่อชุมชนแวดล้อม และต่อสังคมไทยโดยส่วนรวม
3) ควรมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาและรักษาคุณภาพที่ดีของเยาวชนในลักษณะใดบ้าง รัฐบาลควรมียุทธศาสตร์ที่เป็นการทำงานของเยาวชนโดยเฉพาะหรือไม่ รูปร่างหน้าตาของยุทธศาสตร์นี้เป็นอย่างไร ควรมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเพื่อเฝ้าระวังและรักษาคุณภาพที่ดีของเยาวชนอย่างไร รัฐบาลควรเอาจริงเอาจังมากน้อยเพียงไรในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เยาวชนไทยส่วนใหญ่ของประเทศมีคุณภาพทัดเทียมแข่งขันกับเยาวชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป เพราะตอนนี้ประเทศเรามีความชัดเจนในยุทธศาสตร์แก้ปัญหายาเสพติด ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจน ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ แต่เรื่องของเยาวชนที่เป็นหัวใจของประเทศยังไม่พบเห็นยุทธศาสตร์ที่มีการบูรณาการมาตรการ บูรณาการแผน และทรัพยากรในการพัฒนาและรักษาคุณภาพเยาวชนไทยอย่างชัดเจนเท่าใดนัก ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ต่างฝ่ายต่างทำ
จากการพิจารณาเนื้อหาสาระของโครงการวิจัยครั้งนี้ ผมและคณะผู้วิจัยเห็นว่าเป็นโครงการวิจัยที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการทำโพลล์ปกติธรรมดาที่อาศัยกระแสสังคมและข้อมูลที่ไม่เพียงพอชี้นำผู้ตอบทำให้ได้ข้อมูลตามอารมณ์ของผู้ตอบในช่วงเวลาเฉพาะตอนตอบแบบสอบถาม ส่งผลให้ได้เพียงตัวเลขทางสถิติแต่ไม่ได้แนวคิดที่จะใช้ในการพัฒนาและรักษาคุณภาพของเด็กและเยาวชนแบบยั่งยืนได้ คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอแนวคิดไปว่า ถ้ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะให้ทำโครงการวิจัยเพียงแค่สอบถามเรื่องรถซิ่งอย่างเดียว สำนักวิจัยฯก็จะปฏิเสธโครงการไปอย่างแน่นอน แต่เมื่อปรับแนวคิดตรงกันได้ว่า การสอบถามเรื่องเปิดสนามรถซิ่งของเด็กและเยาวชนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย โดยภารกิจหลักของโครงการวิจัยอยู่ที่สองประเด็นได้แก่ ประเด็นแรกคือ การออกมาตรการเคอร์ฟิวเด็กและเยาวชนในช่วงตอนกลางคืนและผลของมาตรการต่อวิถีชีวิตของเด็กและครอบครัว และประเด็นที่สองคือ รัฐบาลควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเป็นการเฉพาะในการพัฒนาและรักษาคุณภาพของเด็กและเยาวชนในรูปแบบใด ควรมีการบูรณาการแผน บูรณาการงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ เพื่อทำให้การพัฒนาและรักษาคุณภาพที่ดีของเด็กและเยาวชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชนหมู่บ้าน ในลักษณะใด
หัวข้อประเด็นทั้ง 3 เรื่องที่กล่าวมานี้คือหัวใจสำคัญของโครงการวิจัยครั้งนี้ ส่วนเรื่องงบประมาณ 8 แสนบาทกับการทำวิจัยทั่วประเทศใน 4 กลุ่มประชากรเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลด้านมาตรการเคอร์ฟิวเด็ก และยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาและรักษาคุณภาพที่ดีของเด็กและเยาวชน เป็นความคุ้มค่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสังคม
“และความเป็นจริงคือ โครงการวิจัยที่กำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ยังไม่มีการทำสัญญาว่าจ้างที่สมบูรณ์เป็นเพียงอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอโครงร่างวิจัยและแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยเอแบคโพลล์กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคงต้องขอความอนุเคราะห์จากสื่อมวลชนเรียนชี้แจงให้สังคมทราบอีกครั้งว่า ถ้ามีการว่าจ้างให้ทำวิจัยเกิดขึ้นจริงๆ คณาจารย์และทีมนักวิจัยไม่ได้รับผลประโยชน์จากเงินงบ 8 แสนบาทโดยเด็ดขาด เงินนี้จะใช้ไปกับการให้ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าประกันชีวิตของนักศึกษาฝึกงานด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ พวกเขาเหล่านี้กำลังเรียนและมาขอทำงานทำวิจัยกับพวกเรา ทางสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ก็ให้โอกาสพวกเขามีรายได้เป็นทุนการศึกษาเรียนให้จบปริญญาแล้วไปหางานอย่างอื่นทำ หรือจะสมัครทำงานกับเอแบคโพลล์แบบเจ้าหน้าที่ประจำมหาวิทยาลัยก็ได้แต่ต้องเรียนจบกันก่อน” ดร.นพดล กล่าว
เหล่านี้คือความเป็นจริงที่อยากจะขอความอนุเคราะห์จากสื่อมวลชนชี้แจงให้ประชาชนทราบ ทุกอย่างที่กล่าวมานี้สามารถตรวจสอบได้
กล่าวโดยสรุป มีสองประเด็นที่ผมอยากขอเรียนชี้แจงคือประเด็นตัวโครงการวิจัยและตัวงบประมาณ ซึ่งตัวโครงการวิจัยเป็นการศึกษาวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พัฒนาและรักษาคุณภาพที่ดีของเยาวชนไทยโดยทำการศึกษาทั่วประเทศจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวกับปัญหาเด็ก และประชาชนทั่วไป ประเด็นมาตรการเคอร์ฟิวกับเรื่องรถซิ่งเป็นแค่ประเด็นย่อยในการศึกษาวิจัยเท่านั้น
ส่วนเรื่องงบประมาณวิจัย 8 แสนบาทกับการเก็บข้อมูลระดับครัวเรือนและองค์กรรัฐ-เอกชนประมาณ 5 ตัวอย่างทั่วประเทศ เฉลี่ยแล้วใช้จ่ายประมาณ 160 บาทต่อตัวอย่าง ที่ต้องจ่ายไปกับค่าเบี้ยเลี้ยงของนักศึกษาฝึกงาน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าประกันชีวิต จะคุ้มค่าหรือไม่กับข้อมูลทางวิชาการที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พัฒนาและรักษาคุณภาพที่ดีของเยาวชนไทย ก็ขึ้นอยู่กับสังคมจะตัดสิน
ท้ายที่สุด กระผมในฐานะหัวหน้าสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ขอกราบขอบพระคุณประชาชนทุกท่านที่กรุณาให้ข้อคิดเห็นและข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และขอนำมาเป็นข้อบ่งชี้สัญญาณเตือนการทำงานของคณะผู้วิจัยให้อยู่ในแนวทางที่เป็นกลางไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยเป็นสถาบันวิจัยที่ยึดหลักทฤษฎีด้านการวิจัยอย่างเคร่งครัดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
ดร.นพดล กรรณิกา
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
โทร. 07-0953366
หรือ โทร. 02-7191550--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ