บทความ: ตามไปดูวัยซน รู้ “ประวัติศาสตร์” ผ่านมุมมอง “คณิตศาสตร์” จากโบราณสถาน

ข่าวทั่วไป Thursday April 7, 2011 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สสวท. โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพิ่มจำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ จากบัณฑิต พสวท. ที่สำเร็จการศึกษามากกว่า 700 คน ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ ต่อสังคมมากมาย หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์อติชาต เกตตะพันธุ์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้นำคณิตศาสตร์และประวัติศาสตร์มาส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างน่าสนใจ ปัจจุบันนักเรียนจำนวนมากมีทัศนคติในการเรียนประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและเน้นท่องจำ ซึ่งมีส่วนทำให้มีความสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ลดลง อย่างไรก็ตามความรู้สึกของนักเรียนได้เปลี่ยนไปหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์ อาจารย์อติชาต เกตตะพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำกิจกรรมบูรณาการระหว่างวิชาประวัติศาสตร์กับวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อช่วยให้ครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 สามารถจัดกิจกรรมที่ได้ทั้งสาระและความสนุกสนาน ซึ่งการเรียนรู้ที่สนุกถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กรักและสนใจการเรียนประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น “สิ่งที่น่าสนใจมากในโครงการนี้คือ การที่สามารถนำสองศาสตร์ คือ คณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์ที่ดูไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กันมาเชื่อมโยงได้อย่างกลมกลืน และเน้นการออกแบบกิจกรรมให้ครูสามารถนำไปจัดกิจกรรมด้วยตนเองได้โดยง่าย กิจกรรมในโครงการนี้ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่สำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ได้ออกแบบให้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย และมีเอกสารแนะนำวิธีการจัดทำกิจกรรมอย่างละเอียด ทั้งนี้ในเอกสารยังมีใบความรู้เพื่อช่วยอธิบายความรู้ทางคณิตศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และใบงานให้ครูนำไปใช้ด้วย” อาจารย์อติชาต เกตตะพันธุ์ กล่าว กิจกรรมในโครงการฯ อาทิ กิจกรรม “นักเรียนประถมฯ ก็หาความสูงของเจดีย์ได้” เริ่มด้วยการอธิบายความรู้พื้นฐานทางเรขาคณิตเรื่องสามเหลี่ยมคล้ายและอธิบายถึงวิธีการหาความสูงของเจดีย์โดยใช้ไม้ เชือก ตลับเมตร และเครื่องคิดเลขเท่านั้น เป็นที่น่าตื่นเต้นมากว่านักเรียนกลุ่มตัวอย่างระดับชั้นประถมศึกษาสามารถวัดความสูงของเจดีย์ โดยพบความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ครูและนักเรียนจากหลายโรงเรียนได้นำกิจกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้ในการวัดเสาธง ตึก และต้นไม้ อีกด้วย กิจกรรม “แม่น้ำกว้างแค่ไหน แผนที่ทางอากาศบอกเราได้” นำโปรแกรม Google Earth มาช่วยในการเรียนการสอน เพื่อสอนให้นักเรียนคำนวณหาความกว้างของแม่น้ำปิงในปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2545 ณ บริเวณเดียวกัน ซึ่งทำให้นักเรียนเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำปิงได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ยังนำภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศของแม่น้ำปิงปี พ.ศ. 2487 ในบริเวณเดียวกันมาให้ชม ผู้สอนยังสามารถนำกิจกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้ในการสอนนักเรียนเกี่ยวกับการหาระยะทางจริงของแม่น้ำอื่นหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่อยู่บนแผนที่ทางอากาศได้ กิจกรรม “ถอดรหัสตัวเลขในฤกษ์ก่อสร้าง” สอนให้นักเรียนรู้จักดวงฤกษ์ ซึ่งปรากฏในการตั้งเมือง ตั้งวัด หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ผู้เรียนได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วตารางที่บรรจุเลขต่างๆ นั้นก็คือแผนที่ดาวนั่นเอง และเลขแต่ละตัวก็หมายถึงดาวต่างๆ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวอังคาร เป็นต้น และความรู้นี้ยังเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องโหราศาสตร์สำหรับผู้ที่สนใจได้อีกด้วย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่และไม่ซับซ้อน ครูและนักเรียนจึงชอบและตื่นเต้นกับข้อมูลที่ได้รับเพราะส่วนใหญ่จะไม่รู้จักเรื่องที่นำเสนอมาก่อน กิจกรรม “เมื่อสถาปนิกน้อยสำรวจผังวิหารหรืออุโบสถ” เน้นเรื่องการวัดระยะทาง มุม และทิศ ของวิหารและอุโบสถ เด็กจะได้ฝึกการใช้เครื่องวัดต่างๆ ผ่านการปฏิบัติจริง ทำให้เข้าใจเรื่องการใช้ตลับเมตรและเข็มทิศ และยังได้ฝึกหัดการวาดแผนผังของสิ่งที่วัด ครูสามารถอธิบายถึงความแตกต่างของวิหารและอุโบสถจากข้อมูลที่อยู่ในเอกสาร รวมทั้งอธิบายเรื่องการวางทิศอีกด้วย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชอบมากเป็นพิเศษเนื่องจากเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้ท่านยังสามารถประยุกต์ใช้ในการวัดและทำทำผังสำหรับสิ่งก่อสร้างอื่นได้อีกด้วย กิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการ สามารถช่วยให้นักเรียนได้เรียนจากประสบการณ์ตรง ได้เสริมทักษะการคิด การสังเกต การวางแผน การทำงานเป็นทีม และได้รับความสนุกสนานไปพร้อมกัน ที่สำคัญทำให้มองเห็นว่าการเรียนประวัติศาสตร์นั้นแท้จริงแล้วไม่น่าเบื่อแต่สนุกและน่าศึกษาค้นคว้าหาความจริง นอกจากนี้ยังเข้าใจว่าการเรียนคณิตศาสตร์นั้นสามารถเป็นเรื่องที่สนุกและใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้มาก อาจารย์อติชาตกล่าวต่อไปว่า “เริ่มแรกของโครงการมีโรงเรียนภายใต้การดูแลของเทศบาลนครเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ทดลองนำกิจกรรมในโครงการไปใช้แล้ว จำนวน 13 โรงเรียน อาทิ โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ โรงเรียนพุทธิโสภณ และโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ ส่วนปีการศึกษาหน้าจะขยายไปมากกว่า 100 โรงเรียน รวมทั้งมีแนวโน้มว่าจะขยายผลกิจกรรมไปยังโรงเรียนทั่วประเทศในอนาคต” แม้ว่ากิจกรรมในช่วงเริ่มต้นโครงการจะได้รับการออกแบบเพื่อใช้ให้กับโรงเรียนต้นแบบ 13 โรงเรียนในเชียงใหม่ที่ร่วมโครงการในระยะแรก แต่แท้จริงแล้วโรงเรียนทั่วประเทศสามารถนำแต่ละกิจกรรมที่ออกแบบไว้ไปใช้งานได้โดยตรงหรือปรับใช้อีกเพียงเล็กน้อย ในหลายรูปแบบ เช่น ใช้ในกิจกรรมการสอนในห้องเรียน การจัดทำค่าย การทำโครงงานประวัติศาสตร์ และโครงงานคณิตศาสตร์ เป็นต้น เพื่อการขยายผลให้กว้างขวางมากที่สุด อาจารย์อติชาตได้จัดทำเอกสารแนะนำกิจกรรมเพื่อมอบให้แก่ครูผู้สนใจนำไปใช้ โดยได้แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมอย่างละเอียดจนครูสามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ อาจารย์อติชาต ได้มีข้อแนะนำในการจัดกิจกรรมว่า กิจกรรมประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์สามารถนำมาใช้สอนในห้องเรียนได้ โดยแต่ละกิจกรรมจะใช้เวลา 1-2 คาบเรียน กิจกรรมทั้งหมดสามารถจัดร่วมกับครูคณิตศาสตร์ เพราะเนื้อหาคณิตศาสตร์น่าสนใจ และทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้นด้วย “หากมีเวลาสอนในห้องเรียนไม่พอ ขอแนะนำให้จัดกิจกรรมในรูปแบบของการจัดค่าย ซึ่งทำให้นักเรียนสนุกและไม่เคร่งเครียดมากเกินไปด้วย ในการจัดกิจกรรม หากมีผู้ช่วยสอน จะทำให้การจัดกิจกรรมดียิ่งขึ้น ครูผู้สอนไม่ควรจริงจังกับความถูกต้องทางคณิตศาสตร์มากจนเกินไป เช่น การวัดไม่จำเป็นต้องถูกต้องเป๊ะ แต่ควรเน้นกระบวนการคิดของเด็ก การวางแผนทำงาน และการทำงานเป็นทีมมากกว่า” ในส่วนของความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้น คุณครูณัฐชา ธนวดี โรงเรียนวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นักเรียนได้ลงมือเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ได้มีประสบการณ์ตรง ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความประทับใจ มีการนำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มเพื่อนของเขา นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ทำให้จดจำได้อย่างถาวร ครูที่มาร่วมกิจกรรมก็ได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน คุณครูอนุรักษ์ สิงใส โรงเรียนเทศบาลศรีปิงเมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามความคิดเห็นแต่เดิมนั้นประวัติศาสตร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์เท่าไหร่ เมื่อนำมาบูรณาการกัน นักเรียนได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่น มุมมองใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำปิง คุณครูโกวิทย์ พรมเสน โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า ประทับใจในการประยุกต์ใช้อัตราส่วน มาตราส่วน การคำนวณต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ กับประวัติศาสตร์ ได้ออกสถานที่จริง ทำให้เด็กให้รู้ว่าคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป สามารถนำไปเรียนข้างนอกและบูรณาการกับวิชาอื่นๆ ได้ เด็กชายทูน คำแสง โรงเรียนวัดสวนดอก จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยากรสอนเข้าใจง่าย กิจกรรมก็สนุก ไม่ทำให้เบื่อ หรือเครียดในการเรียนรู้ และ เด็กชายสมชาย ทองแดง โรงเรียนเทศบาลศรีปิงเมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า คุณครูสอนดี ได้ทำกิจกรรมที่ดี สนุกครับ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ http://kettapun.math.science.cmu.ac.th/Hist_Math_Project.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ