กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--พม.
วันนี้ (๗ เม.ย.๕๔) เวลา ๑๑.๐๐ น.ที่ห้องประชุม ๑ ตึก ๖๐ ปี ภายในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมปล่อยคาราวานรถ เพื่อลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ๖ จังหวัด
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานหลัก ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ตามแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุ รับบริจาค และประสานการช่วยเหลือ โดยมีหน้าที่ ๑.จัดองค์ความรู้ นำองค์ความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานมาจัดทำคู่มือเมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัย ๒.จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวเคลื่อนที่แม่และเด็ก ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่พักชั่วคราว (จุดอพยพ) เพื่อช่วยเหลือแม่ เด็ก และครอบครัวที่ประสบปัญหา ๓.การรับบริจาค โดยให้สำนักบริการสวัสดิการสังคม รับบริจาคและเตรียมของบริจาคมอบให้แก่พื้นที่ประสบอุทกภัย ๖ จังหวัดเร่งด่วน ตามสภาพปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของผู้ประสบภัย และ ๔. รายงานการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย โดยให้ศูนย์พัฒนาสังคมในพื้นที่ ส่งรายงานผลการดำเนินงานให้ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกวัน และสรุปรายงานให้ผู้บริหารทราบ
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่สอง คือ การจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน ๖ ทีม แบ่งไปตามพื้นที่ ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง กระบี่ และสงขลา โดยทำหน้าที่ ๑.เยี่ยมเยียนฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งสำรวจข้อมูล สภาพปัญหาความต้องการหลังน้ำลด ๒. ประสานการช่วยเหลือในพื้นที่ กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน ๓. วางแผนให้การช่วยเหลือ และจัดทำแผนกิจกรรม ๓ ส.สร้างสุข สร้างรายได้ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ให้กับผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ๔.จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวเคลื่อนที่แม่และเด็ก (ศูนย์บริการแม่และเด็ก) ให้แก่ครอบครัวและชุมชนที่ประสบปัญหา รวมทั้งในบริเวณที่พักชั่วคราว (จุดอพยพ)โดยการประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ๕.ประสานการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากส่วนกลาง ในกรณีที่การช่วยเหลือไม่เพียงพอ และ ๖.รายงานสถานการณ์และผลการช่วยเหลือให้ทราบทุกวัน โดยประสานกับศูนย์พัฒนาสังคมฯ ในการจัดทำและรายงานให้ผู้บริหารทราบ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๗-๑๖ เมษายน ๒๕๕๔ โดยในวันนี้ จะได้เริ่มปล่อยคาราวานรถลงไปในพื้นที่ทั้ง ๖ จังหวัด เข้าไปให้การช่วยเหลือ พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ จะได้ลงไปมอบรถเข็นและรถสามล้อโยกให้แก่คนพิการในพื้นที่ประสบอุทกภัย ๘ จังหวัด ตามลำดับ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ๒,๑๒๗ คัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน ๓๘๕ คัน จังหวัดตรัง ๑๐๖ คัน จังหวัดพัทลุง ๕๗๕ คัน จังหวัดกระบี่ จำนวน ๑๒๖ คัน จังหวัดชุมพร ๘๓๑ คัน จังหวัดสงขลา ๒๑๗ คัน และจังหวัดพังงา ๘๓ คัน รวม ๔,๔๕๐ คัน.