กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
เดินหน้าร่วมกับพนักงานสตาร์บัคส์ ทั่วโลก อุทิศเวลาเพื่อช่วยเหลือชุมชนให้ได้หนึ่งล้านชั่วโมง ภายในปี 2558 พร้อมจับมือกับ 4 องค์กรเพื่อสังคมของไทย สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสู่ชุมชนที่สตาร์บัคส์อาศัยอยู่
สตาร์บัคส์ ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวประกาศตอกย้ำคำมั่นสัญญาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสู่ชุมชนที่สตาร์บัคส์อาศัยอยู่ โดย พาร์ทเนอร์ (พนักงาน) สตาร์บัคส์ จะอาสาร่วมอุทิศเวลาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนในด้านต่างๆ ให้ได้อย่างน้อย 5,000 ชั่วโมง ภายในปีนี้ โดยตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พนักงาน ของสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้อุทิศเวลากว่า 4,315 ชั่วโมงเพื่อช่วยเหลือชุมชน และภายในปี 2558 สตาร์บัคส์ ประเทศไทย จะร่วมกับพนักงานสตาร์บัคส์ ทั่วโลก อุทิศเวลารวมให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ชั่วโมง เพื่อมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม โดยงานแถลงข่าวนี้จัดขึ้นที่ร้านสตาร์บัคส์ สาขาเอสเอฟ เอกมัย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการให้เงินสนับสนุน และจิตอาสาจากพนักงานสตาร์บัคส์ โดยในปีนี้ สตาร์บัคส์ ได้ให้การสนับสนุนทั้งในรูปของเงินทุนสนับสนุนโครงการผ่านมูลนิธิสตาร์บัคส์ (Starbucks Foundation) และการอุทิศเวลาเป็นอาสาสมัครของพนักงาน (Community Service) ให้กับ 4 องค์กรเพื่อสังคมของไทย ได้แก่ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กับโครงการ “อาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด” มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี กับโครงการ “แรงบันดาลให้เพื่อนหญิง” มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับโครงการ “บ้านสวนเมอร์ซี่” และ โครงการพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน กับโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไร่กาแฟ” โดย พนักงานสตาร์บัคส์จะอุทิศเวลาไม่น้อยกว่า 5,000 ชั่วโมง เพื่อเป็นอาสาสมัครเข้าไปช่วยโครงการเพื่อสังคมดังกล่าว
สตาร์บัคส์ ได้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน โดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนนี้ นับเป็นหนึ่งในแนวทางภายใต้ ‘สตาร์บัคส์ แชร์ แพลนเน็ต’ (Starbucks? Shared Planet?) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่มนุษยชาติและโลกของเรา ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ 1) กระบวนการสรรหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม (Ethical Sourcing) 2) การมีส่วนร่วมในชุมชน (Community Involvement) และ 3) การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (Environment Stewardship)
มร. เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่สตาร์บัคส์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนที่สตาร์บัคส์ดำเนินธุรกิจอยู่ให้ดีขึ้น และในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจรายหลักในประเทศไทย สตาร์บัคส์ระลึกอยู่เสมอในการตอบแทนคืนสู่ชาวไทยและสังคมไทย ซึ่งเป็นชุมชนของสตาร์บัคส์ เราขอให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมกับพนักงานสตาร์บัคส์ ทั่วโลก ในการทำประโยชน์เพื่อชุมชนเป็นเวลารวมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านชั่วโมง ภายในปี 2558 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับ สตาร์บัคส์ แชร์ แพลนเน็ต (Starbucks? Shared Planet?) และในเดือนเมษายนนี้ พนักงาน สตาร์บัคส์ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “เดือนแห่งการการช่วยเหลือสังคม” สำหรับประเทศไทย เราได้สนับสนุนให้พนักงานของเราร่วมสร้าง “ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” สู่ชุมชนผ่านสี่องค์กรหลักนี้ สตาร์บัคส์กำลังดำเนินการตามเป้าหมายของเราอย่างมุ่งมั่น ไม่เพียงแต่มอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าภายในร้านของเราเท่านั้น แต่เรายังได้ให้คุณค่ากับการช่วยเหลือสังคมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของสตาร์บัคส์ ความเชื่อและคุณค่านี้ได้ฝังแน่นอยู่ในพนักงานของสตาร์บัคส์ทุกคน”
มร. ไมเคิล แมนน ผู้อำนวยการ โครงการพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน องค์กรที่ทำงานร่วมกับสตาร์บัคส์มายาวนานกว่า 7 ปี ในการช่วยเหลือชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทย ผ่านโครงการ กาแฟ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสตาร์บัคส์และชาวไร่กาแฟของไทย เป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน เพราะนอกจากรายได้ 5 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายกาแฟ “ม่วนใจ๋ เบลนด์” ที่สตาร์บัคส์นำกลับมาช่วยพัฒนาชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา สุขอนามัย และสาธารณูปโภคพื้นฐาน แล้ว พนักงานสตาร์บัคส์ยังมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาชุมชนชาวไร่กาแฟตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด พนักงานสตาร์บัคส์ได้อาสาช่วยสร้างศูนย์การเรียนรู้ ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศูนย์ฯ แห่งนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสตาร์บัคส์ และในเดือนเมษายนนี้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมมอบให้แก่ชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ต่อไป”
นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก อีกหนึ่งองค์กรเพื่อสังคมที่สตาร์บัคส์ได้ให้การสนับสนุนมากว่า 6 ปี ผ่านโครงการบริจาคหนังสือในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยมีหนังสือมากกว่า 50,000 เล่ม ได้รับการบริจาคและมอบให้กับเด็ก ครอบครัวและชุมชน ที่ขาดแคลน ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่าน เปิดเผยว่า “โครงการ “อาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด” (Reading Therapy) เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยมุ่งหวังจะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างพื้นฐานที่ดีด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญาและการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเด็กพิเศษ ผ่าน “การอ่าน” ซึ่งได้แก่ กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่เข้ารับบริการที่สถาบัน ราชานุกูล โดยทุกๆ เดือน พนักงาน สตาร์บัคส์ จะร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อเข้าไปอ่านหนังสือให้กลุ่มเด็กกลุ่มนี้เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้กับพวกเขา”
นางสาวประวีณา สมพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เปิดเผยว่า “โครงการสวนเมอร์ซี่ (Mercy Farm) ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มเด็กชายอายุ 8-17 ปี ที่อาศัยอยู่ที่บ้านเมอร์ซี่ คลองเตย ซึ่งโดยพื้นฐานเด็กต้องการความเป็นอิสระ และมีความเป็นตัวของตัวเองตามธรรมชาติ ทำให้ทางมูลนิธิฯ ได้สร้างบ้านและสวนเมอร์ซี่ขึ้นในรูปแบบการเกษตรแบบพอเพียง ให้เด็กกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่ร่วมกัน และทำกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ความเชื่อมั่น และได้ฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ปลูกข้าว และเลี้ยงปลา ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือของพนักงานสตาร์บัคส์ นับว่าเป็นประโยชน์กับเด็กของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การสอนทักษะอาชีพต่างๆ ให้กับเด็ก หรือ การช่วยซ่อมแซมอาคาร ทาสีบ้านสวนเมอร์ซี่ หรือเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่เด็ก ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ให้กับพวกเขาเหล่านั้นได้นำไปพัฒนาตนเองต่อไป”
นางทิพยนิภา (ไกรฤกษ์) สมะลาภา กรรมการ มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี เปิดเผยว่า “มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาแก่สตรีผู้ด้อยโอกาส ผ่านการให้ความรู้ด้านทักษะทางวิชาชีพ รวมไปถึงให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพ รวมถึงเป้าหมายในการดำเนินชีวิต เพื่อที่สตรีเหล่านี้จะนำความรู้และคำแนะนำที่ได้รับไปใช้ในการดำรงชีวิตเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยที่ผ่านมาเราได้ให้ความช่วยเหลือสตรีมาแล้วกว่า 5,000 คน สำหรับการสนับสนุนจากทางสตาร์บัคส์ทั้งด้านเงินทุนและอาสาสมัครที่เป็นพนักงานของสตาร์บัคส์ ผ่านโครงการ “แรงบันดาลให้เพื่อนหญิง” (Life Inspiration) จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างแรงบันดาลใจให้กับสตรีเหล่านี้ โดย สตาร์บัคส์ในฐานะร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกและมีลูกค้านับล้านทั่วโลกจะร่วมแบ่งปันทักษะด้านงานบริการที่สตาร์บัคส์เชี่ยวชาญให้กับสตรีเหล่านี้ รวมถึงให้คำปรึกษาในการหางานหรือทำธุรกิจในความเชี่ยวชาญที่พนักงานคนนั้นๆ ถนัด ซึ่งในฐานะตัวแทนของมูลนิธิฯ เรารู้สึกชื่นชมในการมี “จิตอาสา” ของพนักงานสตาร์บัคส์ทุกคนในการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าในสังคม”
ทั้งนี้ จากผลสำรวจความพึงพอใจของพนักงานสตาร์บัคส์เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าพนักงานสตาร์บัคส์กว่าร้อยละ 80 ที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือชุมชน โดยทางบริษัทสตาร์บัคส์มีความมุ่งมั่นที่จะให้พนักงาน สตาร์บัคส์ในแต่ละร้านได้เข้ามีส่วนร่วมในโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม