กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) ชื่อที่เด็กไทยหลายคนรู้จักกันดี ในฐานะหน่วยงานคุณภาพที่เป็นดั่งขุมคลังทางปัญญาให้แก่เด็กไทย ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งปัญญา ปลูกฝังการเรียนรู้และเป็นนักอ่าน และก้าวต่อจากนี้อุทยานการเรียนรู้พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าต่อไปในฐานะเป็นแม่ข่ายองค์ความรู้แห่งภูมิปัญญา ที่จะแผ่ขยายครอบคลุมทุกพื้นที่ กับโครงการ “ห้องสมุดไทยคิด อุทยานการเรียนรู้ ถวายในหลวง 80 พรรษา” โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดสร้างห้องสมุดมีชีวิต รูปแบบ อุทยานการเรียนรู้สำหรับเด็กขนาดเล็ก บนพื้นที่ตั้งแต่ 50 — 150 ตารางเมตร โดยมีอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ เป็นผู้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งการบริหารจัดการ แนะนำการคัดเลือกหนังสือ อบรมเจ้าหน้าที่ ตลอดจนเนื้อหาสาระ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของทีเค ปาร์ค จึงขอเชิญชวนภาครัฐและเอกชน ที่มีแนวคิดร่วมสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ ที่สามารถจัดสรรพื้นที่และงบประมาณ ร่วมจัดทำโครงการห้องสมุดไทยคิด โทร. 0-2257-4300 หรือคลิก www.tkpark.or.th
คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า “อุทยานการเรียนรู้ได้สร้างสรรค์พื้นที่ให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา และด้วยศักยภาพทางด้านเนื้อหาสาระตลอดจนบุคลากร จึงทำให้วันนี้อุทยานการเรียนรู้พร้อมแล้วที่จะขยายองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, การเคหะแห่งชาติ, สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำ โครงการห้องสมุดไทยคิด อุทยานการเรียนรู้ ถวายในหลวง 80 พรรษา ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงของเรา เนื่องในปีมหามงคล ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยโครงการห้องสมุดไทยคิดจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของชุมชน ในการปลูกจิตสำนึกรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ สร้างลักษณะนิสัยการเข้าห้องสมุดให้เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กทุกคน และยังก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในชุมชนระหว่างตัวบุคคลหรือครอบครัว โดยคาดว่าอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าจะได้เห็นห้องสมุดไทยคิดจำลอง ซึ่งอุทยานการเรียนรู้จะมีแบบแปลนมาตรฐานตลอดจนตัวอย่างของห้องสมุดไทยคิด ที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามตัวแปรของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ และสิ้นสุดปี 2551 คาดว่าน่าจะมีห้องสมุดไทยคิดเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในเวลานี้สังคมไทยควรที่จะตื่นตัวเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างจริงจัง”
ในขณะที่เหล่าพันธมิตรที่ร่วมโครงการ ต่างกล่าวถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากโครงการดังกล่าวโดย สมพร ใช้บางยาง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมทำโครงการห้องสมุดไทยคิด เปิดเผยว่า “โครงการห้องสมุดไทยคิด เป็นหนึ่งโครงการตัวอย่างที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน รวมถึงเยาวชน ในการจัดการพัฒนาทางด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัจจุบันแนวโน้มการขยายตัวทางการศึกษามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกือบ 20,000 แห่ง และโรงเรียนเทศบาลอีก 600 แห่ง แต่ยังประสบกับปัญหาบุคลากรขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบ
การจัดการทางด้านห้องสมุด ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก โดยองค์กรท้องถิ่นกว่า 7,800 หน่วย มีความพร้อมในเรื่องของเงิน อุปกรณ์ พื้นที่ เมื่อทางอุทยานการเรียนรู้ได้ริเริ่มโครงการห้องสมุดไทยคิดขึ้นมา รวมทั้งยังมีศักยภาพทางด้านเนื้อหาสาระตลอดจนบุคลากร ถือเป็นการปลุกกระแสให้แก่วงการการศึกษา และหากสามารถกระจายโครงการนี้เข้าสู่ทุกจังหวัดได้ จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะไม่ได้ส่งผลแค่คนในชุมชนได้รับการพัฒนาความรู้ในระดับท้องถิ่น แต่จะขยายไปสู่ระดับประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักเลยทีเดียว”
สุรพล จันทร์น้อย รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ หนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมทำโครงการห้องสมุดไทยคิด เปิดเผยว่า “การเคหะไม่ได้ตระหนักถึงเพียงแค่คนในชุมชนมีที่อยู่อาศัยดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาทางด้านสังคมอีกด้วย โดยการนำวัฒนธรรมที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฝึกอาชีพ ให้เป็นชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด ให้เยาวชนมีการศึกษ าที่ดี โดยเฉพาะส่งเสริมให้มีการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการไทยคิดของอุทยานการเรียนรู้ ให้เด็กได้ใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์ และสำคัญที่สุดยังเป็นการป้องกันปัญหาทางสังคมได้อีกด้วย จึงเป็นเหมือนมิติใหม่ที่เด็กๆ ในชุมชนจะได้มีโอกาสเปิดโลกกว้างรับความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น”
อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย อีกหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมทำโครงการห้องสมุดไทยคิด เปิดเผยว่า “สมาคมอาคารชุดไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีห้องสมุดในอาคารชุดที่พักอาศัย โดยพื้นที่สำหรับการทำห้องสมุดนั้น มีอยู่แล้ว อย่างอาคารชุดบางแห่งจะมีห้องจัดประชุม ห้องสันทนาการอยู่ในคอนโดมิเนียม หรือหมู่บ้านจัดสรรที่จะมีสโมสรกีฬา และมักจะมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างห้องเก็บของ สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้โดยปรับเปลี่ยนจัดสรรพื้นที่ให้เป็นห้องสมุดขึ้นมา เมื่อคนในชุมชนมีส่วนร่วมมาใช้บริการเพราะมีศูนย์กลางเป็นห้องสมุด จะสามารถสร้างความกลมเกลียวในสังคมได้ และอาจจะรวมถึงความอบอุ่นภายในครอบครัวอีกด้วย เมื่ออุทยานการเรียนรู้ได้จุดประกายโครงการห้องสมุดไทยคิดขึ้นมา ที่ไม่เพียงแต่จะพัฒนาความรู้ของเด็กให้มากขึ้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สามารถเห็นผลได้ในระยะยาว ที่ไม่เพียงแต่จะสูญหายไป ตรงกันข้ามกลับต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ และคนในชุมชนไม่ได้พัฒนาขึ้นเพียงแค่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระดับความรู้ที่พัฒนาขึ้นตามไปอีกด้วย”
“ห้องสมุดไทยคิดมีข้อดีคือ เปิดง่าย ไม่มีภาระผูกพัน ไม่สร้างความหนักใจในการจัดทำ เมื่อเปิดไปนานๆ จะจูงใจให้ผูกพันทางการใช้ อีกทั้งใช้งบประมาณไม่สูงแต่ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าแก่ชุมชน จึงขอเชิญชวนหน่วยงานเอกชน ให้ความร่วมมือในการจัดสร้างห้องสมุดไทยคิด ซึ่งเป็นเสมือนอุทยานการเรียนรู้ขนาดเล็กสำหรับเด็ก เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสังคมไทยให้ก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ประธานกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวปิดท้าย
ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการห้องสมุดไทยคิดได้ที่ อุทยานการเรียนรู้ ชั้น 8 แดซเซิลโซน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2257-4300 หรือคลิก www.tkpark.or.th
Maxima Consultants
Tel. : 0-2434-8300
0-2434-8547
Fax : 0-2884-9643
E-mail : maximaco@truemail.co.th
maximaco@gmail.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net