กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--เอ็ม.โอ.ชิค
กรมส่งออกฯ เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เปิดตัว “โครงการสร้างนักออกแบบแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก ครั้งที่10” (Designers’ Room 2011) หวังช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและยกฐานะเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาคเอเชียและยอมรับในตลาดโลก
สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เปิดตัว “โครงการสร้างนักออกแบบแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก ครั้งที่ 10” (Designers’ Room 2011) เผยโฉมนักออกแบบ 54 แบรนด์รุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการและร่วมแสดงผลงานในงาน BIFF 2011 รวมทั้งแสดงผลงานในงานแฟชั่นโชว์ทั้งระดับประเทศและระดับสากล หวังช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจชาติและยกฐานะไทยให้เป็นศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาคเอเชีย พร้อมปั้นแบรนด์แฟชั่นไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดแฟชั่นระดับอินเตอร์
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ (รอคอนเฟิร์ม) กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยและเครื่องนุ่งห่มว่า “โครงการสร้างนักออกแบบแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก ครั้งที่ 10 นี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อการส่งออก โดยอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ มีมูลค่าการส่งออกของกลุ่มสินค้าแฟชั่นของไทยในช่วงเดือนแรกของปี 2554 มูลค่าถึง 1,260.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 23.52 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.46 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมันนีขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก 1) ข้อตกลง JTEPA ที่ทำให้แนวโน้มการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปประเทศญี่ปุ่นขยายตัวสูงขึ้น รวมถึงคู่แข่งทางการค้า อย่างเช่น ประเทศจีน ที่หันมาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มของจีนหันไปเน้น
การทำการตลาดในประเทศมากขึ้น 2) จากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมีผลทำให้ตลาดสหภาพยุโรปมีอัตราการขยายตัวในการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากลูกค้าในสหภาพยุโรปขาดความเชื่อมั่นในสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีน โดยเฉพาะเรื่องการส่งมอบสินค้าไม่ตรงตามกำหนด อีกทั้งในขณะนี้จีนประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงส่งผลให้ศักยภาพในการแข่งขันกับไทยลดลง และ 3) ทิศทางด้านการออกแบบสินค้าแฟชั่นได้รับความนิยมจากผู้ซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากใช้การออกแบบเป็นกลยุทธ์โดยผลักดันสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยให้มีความเป็นเอกลักษณ์เพื่อก้าวสู่ตลาดแฟชั่นระดับโลก อีกทั้งในเรื่องของการควบคุมคุณภาพสินค้าทั้งในแง่การผลิต และการบริการต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้ซื้อและสร้างความสนใจและการยอมรับในตลาดแฟชั่นระดับโลก แต่ทั้งนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยก็ยังประสบปัญหาในเรื่องของปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเป็นประเทศฐานการผลิตที่กำหนดราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่เป็นฐานการผลิตเช่นเดียวกัน ซึ่งการกำหนดราคาสินค้าทำได้ยาก รวมถึงราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น”
นางนันทวัลย์ กล่าวต่อไปว่า “จากที่กล่าวมาข้างต้นทางกรมส่งออกฯ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมาโดยตลอด โดยดำเนินการในลักษณะต่างๆ เช่น 1) การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติทั้งในประเทศ คือ งาน BIFF & BIL โดยกรมฯได้เชิญผู้ซื้อจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมชมงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เจรจาการค้ากับผู้ซื้อต่างประเทศ อีกทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ รวมทั้งงานแฟชั่นวีค เช่น TEXWORLD-Paris, Pret A Porter-Paris และยังส่งสริมให้แบรนด์สินค้าแฟชั่นชั้นนำได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าแฟชั่นที่เน้นดีไซน์เฉพาะ อาทิ Who’s Next & Premiere Classe-Paris, Tranoi-Paris, Premiere Classe-Paris, D&A NY-NewYork เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้แบรนด์สินค้าแฟชั่นชั้นนำรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแฟชั่นวีคในต่างประเทศอีกด้วย รวมทั้งมีการนำคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้าในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสเจรจาการค้ากับผู้ซื้อโดยตรงแล้ว ยังได้มีโอกาสเข้าพบปะกับสมาคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถสร้างเครือข่ายของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยต่อไปได้ เช่น โครงการจัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าแฟชั่นไปเจรจาการค้าในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน — กรกฎาคม 2554 2) การพัฒนาสินค้า ในแต่ละปีกรมส่งออกฯได้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการพัฒนาสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการในลักษณะให้คำปรึกษาและแนะนำรายบริษัท เช่น โครงการ T3 โครงการ Fashion Network USA Focus โครงการพัฒนาสินค้าเครื่องหนัง ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาสินค้าต่อไป และ 3) การพัฒนาศักยภาพนักออกแบบแฟชั่นไทย โดยเฉพาะนักออกแบบรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดออกแบบ ควบคู่กับการสร้างนักออกแบบในโครงการ Designers’ Room ตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งได้เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่เข้าร่วมงานแสดงสินค้า BIFF & BIL เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบได้มีโอกาสเจรจาการค้ากับผู้ซื้อ และส่งเสริมให้นักออกแบบที่มีแบรนด์เป็นของตนเองเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในประเทศและต่างประเทศ เช่น งาน Pret A Porter และงานแฟชั่นวีค เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง รวมทั้งหวังยกฐานะให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งหวังที่จะให้แบรนด์แฟชั่นไทยเป็นที่ยอมรับและสนใจในตลาดแฟชั่นอินเตอร์อีกด้วย”
จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นที่มาของการจัด “โครงการสร้างนักออกแบบแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก” ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ของการดำเนินโครงการ (Designers’ Room 2011) โดย มล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งโครงการฯ ว่า “โครงการสร้างนักออกแบบแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก หรือ Designers’ Room จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง BIFF&BILL ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนให้นักออกแบบรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นเพื่อการส่งออก การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในและต่างประเทศ และเพื่อพัฒนาความสามารถของนักออกแบบแฟชั่นไทยให้ทัดเทียมนักออกแบบในระดับสากล รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าสินค้าแฟชั่น และส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งโครงการฯ ได้รับความสำเร็จตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยได้สนับสนุนนักออกแบบมาแล้วกว่า 100 แบรนด์ ซึ่งนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ในทุกๆรุ่นส่วนใหญ่จะประสบความ
สำเร็จกับการสร้างแบรนด์ของตนเองและเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น อาทิ แบรนด์ T-RA OLANOR KLAR PAINKILLERS SAPRANG PILANTHA PAUL B NATTANUN WONDER ANATOMIE เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจาก 1) การจัดกิจกรรมของโครงการฯ ที่เสริมสร้างความรู้ด้านการตลาดและการออกแบบเพื่อการส่งออก โดยได้รับความร่วมมือจากกูรูและผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟชั่น พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมโครงการ 2) การประชาสัมพันธ์นักออกแบบในโครงการฯอย่างต่อเนื่อง และ 3) ประการสำคัญที่สุดคือ โครงการนี้เน้นการให้โอกาสและประสบการณ์กับนักออกแบบในการเจรจาการค้าโดยตรงกับผู้ซื้อและนักธุรกิจระดับนานาชาติ ทั้งในเวทีงานแสดงสินค้าในประเทศที่กรมฯจัด คือ งานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง BIFF&BILL และงานแสดงสินค้าชั้นนำในต่างประเทศ”
มล. คฑาทอง กล่าวต่อไปว่า สำหรับ “โครงการสร้างนักออกแบบแฟชั่นไทยสู่ตลาดโลกครั้งที่ 10” (Designers’ Room 2011) นั้น กรมฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงแฟชั่นได้คัดเลือกนักออกแบบเพื่อเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 46 แบรนด์ และอีก 8 ราย ซึ่งมีทั้งนักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ และนักออกแบบหน้าใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นครั้งแรก โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่ม “New” มีจุดมุ่งหมายและความกระตือรือร้นที่จะประกอบธุรกิจในอนาคตจำนวน 8 ราย กลุ่ม “Now” มีแบรนด์เป็นของตัวเองไม่น้อยกว่า 1 ปี จำนวน 39 แบรนด์ และกลุ่ม “Next” มีแบรนด์เป็นของตัวเองไม่น้อยกว่า 3 ปี จำนวน 7 แบรนด์ ในทุกปีที่ผ่านมา กรมฯจะมีการต่อยอดกิจกรรมของโครงการ Designers’ Room ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการฯเป็นอย่างดี สำหรับปีนี้ก็เช่นเดียวกัน กรมฯ จะมีการจัดกิจกรรมต่อยอดโครงการฯ ที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ 1) คูหา Designers’ Room ในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง BIFF&BILL 2011 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี 2) การสนับสนุนนักออกแบบไทยกลุ่ม Next และ Now เข้าร่วมจัดแสดงผลงานในต่างประเทศ อาทิ งาน Pret-A-Porter ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โอกาสในการคัดเลือกเข้าร่วมงานแฟชั่นวีคในประเทศ โอกาสในการคัดเลือกเข้าร่วมงาน MQ Vienna Fashion Week 2010 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย 3) การอบรมให้ความรู้ด้านการตลาดส่งออกแก่นักออกแบบโดยกูรูแฟชั่น อาทิ ผศ.ดร. อโนทัย ชลชาติภิญโญ, คุณณัฏฐ์ มั่งคั่ง Creative Director จากแบรนด์ Kloset และคุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร ELLE และการอบรมแก่กลุ่ม New เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมโครงการในปี 2012 และ 4) การประชาสัมพันธ์นักออกแบบในโครงการอย่างต่อเนื่องและกิจกรรมอื่น ๆ ตามความเหมาะสม”
สำหรับความรู้สึกของนักออกแบบกลุ่ม Next ที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่าง คุณเอก ทองประเสริฐ เจ้าของแบรนด์ Curated ให้ความเห็นต่อโครงการฯ นี้ว่า “รู้สึกดีใจที่ในประเทศไทยมีโครงการ Designers’ Room นี้ เพราะนับเป็นโครงการจากทางราชการโครงการเดียวที่ให้การสนับสนุนนักออกแบบด้านแฟชั่นดีไซน์จริงๆ และนับเป็นการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้ก้าวไปอีกขั้นในระดับสากล” ด้านคุณสิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ จากแบรนด์ PAINKILLER กล่าวว่า “ทุกครั้งที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ ตนจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมอบรมมาก โดยเฉพาะการเพิ่มความรู้ด้านการส่งออกซึ่งจะได้เห็นจากหลากหลายมุมมองและหลากหลายแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมาได้ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและสร้างแรงผลักดันให้แบรนด์มีคาแรคเตอร์ชัดเจนยิ่งขึ้น”
คุณสิริการย์ จิรัฏฐ์ภาสกรกุล ตัวแทนจากแบรนด์ SAPRANG ตัวแทนนักออกแบบกลุ่ม Now กล่าวว่า “รู้จักโครงการนี้มาจากเพื่อน พอมีโอกาสได้เข้าร่วม ก็ดีใจมาก เพราะโครงการนี้ทำให้เราได้ก้าวเข้ามาอีกขั้นและเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ที่หาซื้อไม่ได้เพิ่มมากขึ้น” ด้านคุณวรฐ ทรัพย์ศรีสัญจัย จากแบรนด์ Surreal Objects กล่าวว่า “ได้ยินชื่อโครงการนี้มานานมากตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ พอมีโอกาสได้เข้ามาร่วมเป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว ก็ทำให้แบรนด์เติบโตไปได้มากจากการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ของกรมส่งเสริมการส่งออก และหวังว่าในปีนี้ก็จะได้รับการสนับสนุนและได้รับความรู้โดยเฉพาะด้านการตลาดเชิงพาณิชย์ เพื่อต่อยอดในการเจรจาด้านธุรกิจต่อไป ” คุณประภังกร กลเกียรติ ตัวแทนจากแบรนด์ GETZ กล่าวว่า “โครงการ Designers’ Room นี้ นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเปิดทางแบรนด์แฟชั่นเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตลอดจนได้เจอกับผู้ซื้อโดยตรง ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานออกแบบ รู้ว่าอะไรทำแล้วขายได้หรือไม่ได้ อย่างงาน BIFF&BIL2011 ก็เตรียมคอลเลคชั่นล่าสุดไว้แล้ว ก็ต้องรอลุ้นว่าในปีนี้จะได้รับการตอบรับและมียอดสั่งซื้อเท่าไหร่”
ด้านนักออกแบบรุ่นพี่ที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้ อย่าง คุณธเนศ จากแบรนด์ Olanor กล่าวว่า “นอกจากโครงการ Designers’ Room จะมีเวทีเปิดให้นักออกแบบได้นำผลงานขึ้นโชว์แล้ว กิจกรรมอบรมต่างๆ ที่ได้จากโครงการนี้ ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางการตลาด ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมความรู้และประสบการณ์ให้เรากลับมาพัฒนาแบรนด์ และช่วยสนับสนุนการขายได้มาก” ส่วนคุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ จากแบรนด์ T-ra ก็ฝากถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาในอนาคตว่า “ควรสร้างแบรนด์ให้มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน ไม่ควรมองเรื่องการออกแบบและการทำแพทเทิร์นเป็นคนละเรื่อง เพราะถ้าเราออกแบบแต่ส่งให้ช่างฝีมือทำ แพทเทิร์น แม้จะงานออกแบบเดียวกัน แต่ช่างฝีมือแต่ละคนก็จะมีลักษณะการทำแพทเทิร์นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะมีปัญหามากเวลาทำงานส่งต่างประเทศ เพราะงานที่ออกมาจะไม่มีมาตรฐานที่เท่ากัน ขณะเดียวกันถ้าเราออกแบบโดยไม่มีเอกลักษณ์ของงานเรา มันก็ไม่สามาถสะท้อนกลับมาที่คาเรคเตอร์ของแบรนด์ได้ และน้อง ๆ ทุกคนควรพยายามพัฒนาฝีมือของตนเองไปเรื่อยๆ อย่าหยุดอยู่กับที่ เพราะตลาดแฟชั่นมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก”
“สำหรับความคาดหวังที่มีต่อโครงการฯ นั้น กรมส่งเสริมการส่งออกหวังว่าในอนาคต เราจะพัฒนาการดำเนินโครงการให้สามารถรองรับกลุ่มนักออกแบบเป้าหมาย และเปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีศักยภาพทั้งในด้านการออกแบบและการตลาดให้สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมที่เราจัดขึ้นได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนานักออกแบบกลุ่มนี้ให้มีศักยภาพ อีกทั้งกรมฯเชื่อมั่นว่าโครงการฯนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในอันที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนกลุ่มนักออกแบบแฟชั่นไทยให้ได้มีโอกาสนำเสนอสินค้า การผลิตและการออกแบบสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่กรมฯ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในปี 2554 พร้อมนำรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น รวมทั้งสามารถช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นไทยสู่การเป็นผู้นำด้านแฟชั่นในระดับเอเชียอีกด้วย เนื่องจากการคัดเลือกนักออกแบบเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ได้เน้นไปที่นักออกแบบที่มีตราสินค้าเป็นของตนเองเป็นหลัก เพราะกรมฯ ต้องการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ตราสินค้าที่เป็นฝีมือคนไทยให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในตลาดแฟชั่นระดับสากลมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” มล.คฑาทอง กล่าวทิ้งท้าย
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-513-9784 บ.เอ็ม.โอ.ชิค จำกัด