กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--งานสื่อสารสังคม สกว.
สืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในจังหวัดระยองเมื่อปี 2548 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้คณะวิจัยของ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยชุดโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงและกระจายประโยชน์สู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จนได้ข้อมูลการใช้น้ำที่ทำให้องค์กรในพื้นที่เกิดความตระหนักถึงการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศ และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่โครงการชลประทาน — คลองนาตาขวัญ — ท่ากระสาว — อ่างห้วยมะเฟือง ซึ่งเดิมการจัดการทรัพยากรน้ำจำกัดวงอยู่แต่ภายในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้นๆ ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทำได้จำกัด และไม่เพียงพอเท่าที่ควร
ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 จึงมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 5 ฝ่ายระหว่างกรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และกลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล 3 แห่งซึ่งมีความเชื่อมโยงกันคือ อบต.นาตาขวัญ (ต้นน้ำ) อบต.บ้านแลง (กลางน้ำ) และ อบต.ตะพง (ปลายน้ำ) เพื่อจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันเพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค และด้านการเกษตร
ตามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ กรมชลประทานต้องนำข้อมูลการใช้น้ำไปจัดสรรตามเกณฑ์และกติกาที่เหมาะสมให้กับทั้ง 3 ตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เกินศักยภาพของ อบต. โดยเฉพาะจุดที่จะปล่อยน้ำจากตำบล ในขณะที่ อบต.ทั้งสามต้องดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน และกำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกันในกรณีเกิดวิกฤตน้ำ รวมทั้งดูแลรักษาระบบการจ่ายน้ำ หน่วยวิจัยจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนการวิเคราห์ข้อมูล พัฒนาองค์ความรู้ จัดอบรม สร้างเสริมกระบวนการจัดทำแผน
ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้มีพื้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำชลประทานเพิ่มขึ้นถึง 2,500 ไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ ต.บ้านแลงและ ต.ตะพง ที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน โดยเป็นพื้นที่สวนและนาข้าวในตำบลนาตาขวัญและตำบลบ้านแลง 838.35 ไร่ (นาข้าว 68.5% และสวนผลไม้ 31.5%) กับพื้นที่สวนผลไม้ตามแนวท่อส่งน้ำจากท่ากะสาว-บ้านห้วยมะเฟืองอีก 1,770 ไร่เศษ ในขณะที่ตำบลนาขวัญซึ่งอยู่ต้นน้ำ มีน้ำพอใช้ แต่เคยประสบปัญหาน้ำจากบ้านแลงดันกลับไปท่วมก็จะไม่ประสบปัญหาอีกต่อไป
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ดี เพราะมี 3 ฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องคือ อบต. ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่สุด เพราะเป็นภาคประชาชนผู้ใช้น้ำ มี อบจ. ซึ่งเป็นตัวแทนท้องถิ่น ซึ่งมีงบประมาณดำเนินการอยู่ และมีกรมชลประทานที่สามารถสนับสนุนงบฯ ส่วนที่เกินกำลังของ อบจ. ได้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้
นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะระยองเป็นทั้งจังหวัดอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และท่องเที่ยว ปริมาณการใช้น้ำย่อมจะมาก แม้ปริมาณน้ำในจังหวัดระยองจาก 5 อ่างเก็บน้ำใหญ่ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 500 กว่าล้าน ลบ.ม. จะเพียงพอในระยะนี้หลังจากไม่ต้องส่งน้ำไปช่วยจังหวัดชลบุรี แต่ก็จำเป็นต้องเตรียมการไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า และเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตที่ระยองจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด ของประเทศ ซึ่งนอกจากการสร้างแหล่งน้ำแล้วก็ต้องดูการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพและไม่เกิดการสูญเสีย
“ในอนาคตถ้า อบจ. ดูแลการจัดการน้ำระบบใหญ่ อบต.ดูระบบเล็ก ก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำครบวงจร ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นแบบอย่างให้ท้องถิ่นต่างๆ นำไปปฏิบัติและเป็นรูปแบบการกระจายระบบชลประทานออกไปให้ได้ประโยชน์กว้างขวางกว่าเดิม” ผู้ว่าฯ ระยอง กล่าว
นายปิยะ ปิตุเดชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า “การลงนามฯ ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ จะนำไปสู่ความร่วมมือภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน โดยเฉพาะจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตผลไม้เพื่อการส่งออกของจังหวัดระยอง จากนี้ อบจ. เอานำเรื่องเข้าแผนงบประมาณปี 2555 และประสานกับ อบต. ทั้งสามแห่ง สำหรับการขุดลอกสามารถทำได้เลยด้วยเครื่องจักรและเครื่องมือของ อบจ. ส่วนการสร้างฝายก็ต้องให้ อบต. เลือกพื้นที่ ออกแบบ และ อบจ. สนับสนุนงบประมาณ
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. (02) 278-8298 งานสื่อสารสังคม สกว.