กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--TCELS
WHO/TDR ร่วมกับ TCELS จัดตั้งศูนย์กลางการจัดการองค์ความรู้ด้านการวิจัยทางคลินิกนานาชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หวังเป็นสะพานเชื่อมประสานสุดยอดนักวิจัยพัฒนายาตัวใหม่ ใช้รักษาโรคที่เกิดขึ้นในไทยแลประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อคนไทยและประเทศยากจนอื่นๆ ที่สำคัญเช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก วัณโรค ลดปัญหาโรคกำพร้า ช่วยให้ประชาชนด้อยโอกาสเข้าถึงยามากยิ่งขึ้น
วันนี้ ( 5 กุมภาพันธ์ 2550) ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCELS พร้อมด้วย Dr.Robert G. Ridley ผู้อำนวยการ TDR (Tropical Diseases Research : TDR) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกันแถลงข่าว หลังเจรจาความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์กลางจัดการองค์ความรู้ด้านการวิจัยทางคลินิก ว่า TCELS ได้ร่วมมือกับ WHO/TDR ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดสนับสนุนการวิจัยมากว่า 50 ปี เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางการจัดการองค์ความรู้ด้านการวิจัยทางคลินิกนานาชาติ (ICRCC : International Clinical Research Collaboration Center) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการจัดการองค์ความรู้จากการวิจัยทางคลินิก แก่นักวิจัยในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าขณะนี้มีจำนวนมาก แต่การขาดการศูนย์กลางการเชื่อมประสานผลักดันให้เกิดรูปธรรม รวมทั้งเป็นแกนประสานแก่นักวิจัยที่อยู่ในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวยาใหม่ เพื่อคนไทย และประชากรในภูมิภาคใกล้เคียงเป็นการเฉพาะ ซึ่งในพื้นที่ประเทศเหล่านี้ มีหลายโรคที่ยังเป็นปัญหาที่สำคัญเช่น โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever ) โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) วัณโรค (Tuberculosis) โรคเรื้อน (Leprosy) โครงการนี้จะสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้ โดยเฉพาะคนไทยและประชาชนในแถบประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ทั้งนี้ โรคที่เป็นปัญหาของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานาน ซึ่งบางโรคจากที่เคยน้อยลงกลับมาอุบัติใหม่จนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุข เช่น วัณโรคที่พุ่งสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ขณะนี้ประสบปัญหามากที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา อัตราป่วยแสนละ 700 คน โรคมาลาเรีย มีคนป่วยปีละประมาณ 273 ล้านคนใน 100 ประเทศ เสียชีวิตปีละกว่า 1 ล้านคน มากกว่า 90 เปอร์เซนต์อยู่ในเอเชีย แอฟริกา โรคไข้เลือดออกมีคนป่วยปีละประมาณ 50 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เลือดปีละกว่า 40,000 คน โรคมาลาเรียประมาณ 20,000 คน วัณโรคประมาณ 30,000 คน ส่งผลให้ประชาชนบางส่วน ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ เนื่องจากภาคธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบตะวันตก ไม่กล้ามาลงทุนผลิตยาใหม่ เพราะเกรงจะขายไม่ได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดประจำถิ่น จึงกลายเป็นยาที่เรียกว่ายากำพร้า
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนิ้ TDR จะเป็นหน่วยสนับสนุนด้านวิชาการในเรื่องการวิจัยทางคลินิกให้กับนักวิจัยซึ่งอาจจะเป็นนักวิจัยของไทย หรือนักวิจัยจากประเทศอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาการรักษาโรคต่าง ๆ ทั้งในส่วนของโรคอุบัติใหม่ โรคที่มีอยู่เดิม และโรคที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่แต่ในพื้นที่จำกัด ในราคาประหยัดแต่มีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งขณะนี้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ TCELS ได้ให้ความเห็นชอบให้ TCELS เป็นแกนกลางในการประสานงานสนับสนุนการจัดการองค์ความรู้ด้านการวิจัยทางคลินิกแก่นักวิจัยที่มีอยู่ในประเทศไทย และในภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมโยงกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะทำให้การสาธารณสุขของประเทศไทยได้รับการยกระดับในการแก้ปัญหาโรคที่เกิดขึ้นในประเทศทั้งในด้านการการวิจัยและพัฒนาตัวยาใหม่ในการรักษา การป้องกันและควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า โครงการนี้ยังส่งผลดีถึงหน่วยงาน ที่มีการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทยต่าง ๆ เช่น เครือข่ายวิจัยทางคลินิกสหสถาบัน ซึ่งเป็นแหล่งเชื่อมต่อหน่วยวิจัยของโรงเรียนแพทย์และเครือข่ายวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสริมศักยภาพการวิจัยทางคลินิกจนเป็นที่ยอมรับจากกองทุนวิจัยนานาชาติ และบริษัทยาต่าง ๆ ทำให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลกด้วย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net