สวทช. จัดส่งผู้เชี่ยวชาญ เข้า‘พัฒนาเทคโนโลยีการสกัดไขผึ้ง’ และ‘สูตรกำจัดไรศัตรูผึ้ง’แก้ปัญหาอุตสาหกรรมผึ้ง

ข่าวเทคโนโลยี Friday March 23, 2007 13:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สวทช.
บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผึ้งและอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งครบวงจร จับมือ สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีการสกัดไขผึ้งใช้ผลิตรังผึ้งเทียม ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้กว่า 1เท่าตัว ลดต้นทุนการผลิตและประหยัดพลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 25% และพัฒนาสูตรยากำจัดไรศัตรูผึ้งที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาคุณภาพและสารตกค้างในน้ำผึ้งปลอดภัยต่อผลิตภัณฑ์และผู้บริโภค
ปัจจุบัน “น้ำผึ้ง” และผลิตภัณฑ์จากผึ้งได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่รักษ์สุขภาพ ทำให้ธุรกิจการเลี้ยงผึ้ง และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งกลายมาเป็นธุรกิจหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้อย่างมาก
นาย สงวน เรืองศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง เปิดเผยว่า ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นผู้ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงผึ้ง และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งครบวงจร รวมถึงการให้ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง แต่เมื่อมีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงผึ้งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาจำนวนแผ่นรังผึ้งเก่ามีปริมาณมาก จนไม่สามารถทำการสกัดไขผึ้งได้หมดภายในวันต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลการเลี้ยงผึ้ง ( ระหว่างเดือนมีนาคม — เมษายน ) ทำให้ต้องขยายเวลาในการสกัดไขผึ้งออกไป ส่งผลทำให้รังผึ้งเทียมเก่ามีคุณภาพลดลง และเกิดความเสียหายจากการทำลายของแมลง
ดังนั้น ทางบริษัทฯจึงได้ขอรับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย iTAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ ใน “โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการสกัดไขผึ้งจากรังผึ้ง” โดยโครงการ iTAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำ การปรับปรุงสายการผลิต กระบวนการผลิต และทำการปรับปรุงเครื่องจักรให้เหมาะสม ทำให้บริษัทฯ สามารถทำการสกัดไขผึ้งจากแผ่นรังผึ้งเทียมเก่าได้ทันภายในเวลาที่กำหนด
ผลที่ได้รับทำให้บริษัทฯ ได้แบบกระบวนการสกัดไขผึ้งโดยวิธีการชะล้างด้วยน้ำร้อนด้วยระบบแรงดันสูง ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 1 เท่าตัว และได้ผลผลิตไขผึ้งเพิ่มขึ้นจากวิธีการเดิมไม่น้อยกว่า 10% ทำให้ลดต้นทุนค่าแรงงานลงได้ 70% และประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 25% โดยเมื่อเทียบผลผลิตที่ได้ระหว่างวิธีการเดิม ( ระบบแรงเหวี่ยงและต้ม ) ที่ต้องใช้แรงงานคนถึง 15 คน ระยะเวลาทำงาน 14 ชม. ได้ผลผลิต 5,000 แผ่น ขณะที่วิธีการใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก iTAP ใช้แรงงานคนลดลงเหลือเพียง 4 คน ระยะเวลาทำงาน 8 ชม. ได้ผลผลิต 5,000 แผ่น ทำให้บริษัทสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า และลดต้นทุนการผลิตลง เนื่องจากเป็นการนำวัสดุที่ใช้แล้ว กลับมาใช้งานใหม่ และช่วยลดมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้ารับความช่วยเหลือใน“โครงการพัฒนายากำจัดไรศัตรูผึ้งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง” เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้บริษัทได้สูตรการผลิตยากำจัดไรศัตรูผึ้งที่มีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการใช้งานและมีความปลอดภัยต่อผลิตภัณฑ์จากผึ้งและต่อผู้บริโภค
“หลังจากรับซื้อน้ำผึ้งจากเกษตรกรฯ บริษัทจะต้องทำการตรวจสอบสารตกค้างในห้องแล็บ เพื่อควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของน้ำผึ้งที่ได้มา ในฐานะผู้ส่งออกน้ำผึ้ง แต่ระยะเวลา 3 — 4 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหาเรื่องของสารตกค้างอันเป็นผลจากการป่วยหรือการติดโรคในผึ้ง ทำให้น้ำผึ้งที่เก็บมาได้เกิดปัญหา ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ขณะที่ยังไม่มียาสำหรับการรักษาโรคหรืออาการป่วยของผึ้งโดยเฉพาะ ทำให้เกษตรกรไม่รู้วิธีรักษาที่ถูกต้อง” นายสงวน กล่าว และว่า
จากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาดังกล่าว เกิดจาก ‘ตัวไร’ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญต่อการเจริญเติบโตของผึ้งที่เข้าไปเกาะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบนตัวอ่อนของผึ้งที่กำลังเจริญเติบโตในหลอดรวง และมีการขยายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว จนสามารถทำลายตัวอ่อนจนหมดรังได้ สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งอย่างมาก ซึ่งในเบื้องต้นแม้บริษัทฯ ได้ศึกษาและพัฒนายา เพื่อใช้ในการกำจัดและป้องกันตัวไรได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุน ทั้งเรื่องของประสิทธิภาพ ปริมาณการใช้ และผลของสารเคมีที่อาจตกค้างต่อผู้บริโภค บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและพัฒนาสูตรยาดังกล่าวเพื่อให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม สามารถนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อผึ้ง และไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์ ทางบริษัทฯ จึงเข้ารับการช่วยเหลือจากโครงการ iTAP อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย ทำให้มีแนวคิดที่จะต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ปัจจุบัน บริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้โปรดักส์ จำกัด มีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งที่อยู่ในเครือทั้งสิ้น 125 กลุ่ม มีรังผึ้งมากกว่า 4 หมื่นรัง ( ผึ้งหนึ่งรังมีผึ้งกว่า 5หมื่นตัว) มีกำลังผลิตปีละกว่า 2,000 ตัน/ปี และ มีรายได้กว่า 150 — 180 ล้านบาท / ปี โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้ผ่านการรับรองคุณภาพการผลิตภายใต้มาตรฐาน GMP , HACCP และได้รับเครื่องหมาย Halal แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 60% เครื่องสำอาง 10% และอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้ง 30% ซึ่งนอกจากน้ำผึ้งแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ประกอบด้วย นมผึ้ง ( Royal jelly) เกสรผึ้ง ( Bee pollen ) พรอพอรีส ( Propolis) ไขผึ้ง ( Bee wax ) และรังผึ้งเทียม โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทกว่า 60% จะเป็นการส่งออกต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังส่งออกไปจำหน่ายในแถบยุโรป อาทิ สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน
ด้าน นางสมศรี พุทธานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช. เครือข่าย ภาคเหนือ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทฯ ทำอุตสาหกรรมผึ้งครบวงจรตั้งแต่เลี้ยงผึ้ง จนกระทั่งนำผลิตภัณฑ์ผึ้งมาแปรรูป รวมถึงการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้ง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP จำนวน 2 โครงการ เนื่องจากบริษัทฯ ประสบปัญหาเรื่องของการสกัดไขผึ้ง เพื่อผลิตรังผึ้งเทียมไม่ทัน จึงต้องการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถสกัดไขผึ้งของบริษัทฯ ให้เร็วขึ้นและสามารถผลิตได้มากขึ้น ส่วนอีกปัญหาหนึ่ง คือ เรื่องของการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรเครือข่าย ที่พบว่ามีปัญหาเรื่องของตัวไร ซึ่งเป็นศัตรูของผึ้ง ทำให้ผึ้งของเกษตรกรเป็นโรค หรือป่วย สร้างความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง และในฐานะผู้ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง และจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้ง บริษัท จึงต้องการทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายารักษาโรคผึ้งขึ้น โดยทางผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปร่วมในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้กับบริษัทฯ เพื่อผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP.) สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวทช. สำนักงานกลาง (กทม.) หมายเลข 0-2564-8000 หรือ สวทช. เครือข่าย ภาคเหนือ ที่หมายเลข 053-226-264 หรือ ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th และ www.nn.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ