กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ไฟฟ้าเป็นค่าใช้จ่ายหลักในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่ง จะจ่ายถูกหรือแพงก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟของ ผู้ใช้ไฟทั้งรายใหญ่หรือรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่รู้ดีเรื่องวิธีประหยัดแต่ยังทำน้อย มินำซ้ำบางคนบางกลุ่มยังมีพฤติกรรมขโมยไฟใช้ฟรีด้วยวิธีการหลากหลาย จับได้โทษก็แค่ปรับจึงย่ามใจ หลายหน่วยงานในระบบราชการก็มีพฤติกรรมค้างชำระค่าไฟฟ้าเช่นกัน จึงเป็นความสูญเสียไฟฟ้าที่น่าเสียดาย เพราะหากลดความสูญเสียในส่วนนี้ได้ก็จะมีเงินหรือไฟฟ้ามูลค่าหลายร้อยล้านบาทกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษาโครงการวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการลดหน่วยสูญเสียทางด้าน Non-Technical ในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมอบหมายให้คณะวิจัยทีดีอาร์ไอทำการศึกษา
ผลการศึกษาพบสาเหตุต่าง ๆ ของความสูญเสียทางด้าน Non-Technical ในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้แก่ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองพลังงาน เช่น เครื่องปรับอากาศที่ไม่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 มีผู้มานำเสนอวิธีการลดค่าไฟฟ้าด้วยการละเมิดในรูปแบบต่างๆ การดำเนินธุรกิจที่ใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มมากขึ้น ทำตามเพื่อนบ้านโดยไม่รู้ว่าเป็นความผิด ต้องการลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนที่สูง เป็นผู้มีความรู้และความชำนาญในเรื่องไฟฟ้าเป็นอย่างดี ช่างที่มาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าทำให้ บ้างเป็นการโฆษณาขายสินค้าโดยบอกว่าจะประหยัด ช่างไฟฟ้าทั่วไปรับจ้างทำเพื่อหารายได้เพิ่ม โรงงานที่มีค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุน เช่น โรงงานน้ำแข็ง หรือห้องเย็นซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าในการทำความเย็นรักษาสภาพสินค้า จึงต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนบทลงโทษจากพฤติกรรมที่ผิดดังกล่าว เมื่อโดนจับมีบทลงโทษเพียงปรับเท่านั้น และยังสามารถผ่อนชำระค่าไฟฟ้าย้อนหลังได้ จึงคุ้มค่ากับการละเมิด
จะเห็นว่าพฤติกรรมสร้างความสูญเสียดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำต่อตัวมิเตอร์ และภายนอกมิเตอร์ เพื่อให้มิเตอร์เสีย หรือทำงานผิดปกติที่ทำให้ค่าการใช้ไฟเบี่ยงเบนไปกว่าความเป็นจริง โดยการกระทำต่อตัวมิเตอร์ที่สร้างทำให้สูญเสียมากที่สุดคือ การดัดแปลงฟันเฟืองของมิเตอร์ ส่วนการกระทำภายนอกมิเตอร์ที่ละเมิดกันมากที่สุดคือ การต่อสลับเฟส นอกจากนี้ยังมีอีกหลายวิธี แต่ล้วนเป็นการกระทำที่สร้างความสูญเสีย เอาเปรียบ และผิดกฎหมาย
การศึกษาพฤติกรรม แรงจูงใจ และปัจจัยที่เอื้อต่อการทุจริตและลักลอบใช้ไฟฟ้า พบว่า ในกรณีผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการละเมิดใช้ไฟอย่างไม่ถูกต้องมักเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีช่างไฟฟ้าหรือเจ้าหน้าที่ประจำซึ่งอาจใช้ความรู้ในการช่วยนายจ้างประหยัดค่าไฟในทางที่ผิด มักติดตั้งมิเตอร์อยู่ภายในอาคาร มีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือหรือเจ้าของเป็นผู้ทรงอิทธิพลเป็นที่ยำเกรงของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า และการไฟฟ้าเขตมีอัตรากำลังในการเข้าไปตรวจสอบน้อย แรงจูงใจที่ทำให้เกิดการละเมิดที่เห็นได้ชัดเจนคือ บทลงโทษไม่รุนแรง ค่าปรับไม่มากและยังสามารถเจรจาต่อรองได้ จึงคุ้มที่จะเสี่ยง
กรณีผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ซึ่งแยกเป็น สถานที่อยู่อาศัย กับสถานประกอบการ พบว่า ในส่วนที่อยู่อาศัย กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะละเมิดในการลักลอบใช้ไฟ มักเกิดขึ้นกับครอบครัวขนาดใหญ่ มีรายได้น้อย มีรายจ่ายมาก และมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ภาระในการชำระหนี้ต่อเดือนสูง ก็อาจกระทำการละเมิดเพื่อลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน ส่วนสถานประกอบการ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการละเมิดใช้ไฟฟ้าได้แก่ สถานประกอบการที่มีต้นทุนหมุนเวียนสูง หนี้สิน และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนสูงกว่า 20% ก็มีโอกาสที่จะละเมิดการใช้ไฟฟ้าอย่างไม่ถูกต้องได้
การศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสม ในการควบคุมการทุจริต และลักลอบใช้ไฟฟ้า ในสองส่วน ทั้งปัญหาเกิดจากการไฟฟ้าหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของการไฟฟ้าซึ่งการไฟฟ้าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของปัญหาที่เกิดจากผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะ ปัญหาเกิดจากผู้ใช้ไฟเอกชนที่ลักลอบใช้ไฟฟ้าด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งโดยเจตนาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางรายถึงกับทุบมิเตอร์ให้ชำรุด ส่วนปัญหาที่เกิดจากผู้ใช้ไฟภาครัฐเกิดจากลักลอบใช้ไฟสาธารณะ และการปรับปรุงค่าไฟหน่วยงานราชการทำได้ยาก หน่วยงานของรัฐหลายแห่งค้างชำระค่าไฟฟ้านานหลายเดือนหรือเป็นปี
คณะวิจัยได้เสนอแนวทางในการลดหน่วยสูญเสียทางด้าน NTL โดยปัญหาที่เกิดจากมิเตอร์ชำรุดโดยเฉพาะกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ควรกำชับและกำกับให้ตัวแทนจดหน่วยทำหน้าที่ในการรายงาน ความผิดปกติทางกายภาพเกี่ยวกับตัวมิเตอร์ อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง การจัดเก็บข้อมูลมิเตอร์ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟภ. ควรจัดเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับมิเตอร์ทุกตัวที่ใช้งานในปัจจุบันตามสภาพการใช้งานจริง ศึกษาความต้องการของมิเตอร์ในสต็อกอย่างสม่ำเสมอ เปลี่ยนมิเตอร์และอุปกรณ์ตามวาระอย่างเคร่งครัด และมีการกำชับว่าต้องสับเปลี่ยนมิเตอร์ทันที ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเป็นแนวทางในการจัดหามิเตอร์ที่มีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพตัวแทนจดหน่วย โดย กฟภ.ดำเนินการอบรมพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับมิเตอร์ชำรุดและละเมิดในเบื้องต้นให้ตัวแทนจดหน่วย รวมทั้งการเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมในการจดหน่วยที่ดี ซึ่งการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถด้านไฟฟ้าให้กับตัวแทนจดหน่วยจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานของกฟภ.ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้เพื่อแก้ปัญหาความผิดพลาดจากการอ่านค่าไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่จดหน่วย และการค้างชำระค่าไฟฟ้าย่อยครั้งของผู้ใช้ไฟ หรือติดค้างทุกเดือน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียและส่งผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า ควรทำการศึกษา/พัฒนาหาวิธีการหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผู้ใช้ไฟฟ้าและสภาพแวดล้อมของประเทศไทย มีการสุ่มตรวจการทำงานของตัวแทนจดหน่วยอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยเฉพาะกรณีพบความผิดปกติจากมิเตอร์แต่กลับไม่ได้รับรายงานจากตัวแทนจดหน่วย
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการละเมิดมิเตอร์ของผู้ใช้ไฟฟ้านับเป็นสาเหตุหลักอีกประการหนึ่งของ NTL ซึ่งการละเมิดมิเตอร์จะมีผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากถ้าเกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ และ/หรือผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยที่มีเป็นจำนวนมากกระทำความผิดโดยไม่มีความเกรงกลัวว่าจะถูกจับได้ และถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ก็ควรมีการ ศึกษาวิธีการหาค่าความเสียหายจาก NTL ที่เหมาะสม และมีความถูกต้องแม่นยำ รณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผู้ที่ละเมิดการใช้ไฟฟ้า
สำหรับประเด็นปัญหา ไฟฟ้าสาธารณะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิด NTL เนื่องจากมีปัญหามากมายทำให้การสูญเสียที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าสาธารณะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงในหลายๆเขตการไฟฟ้า แนวทางแก้ไข ควรจัดระเบียบการใช้ไฟฟ้าสาธารณะเสียใหม่ด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์และลักษณะการใช้ไฟฟรีเพื่อไฟสาธารณะให้ชัดเจนกว่าเดิม ตรวจสอบมิเตอร์เดิมที่ติดตั้งไว้แล้ว ถ้าชำรุดให้ทำการเปลี่ยนทันที เร่งติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะให้ครบทุกแห่ง ให้มีการสำรวจลักษณะการใช้ไฟฟ้าสาธารณะอย่างละเอียด กำหนดกฎเกณฑ์การใช้ไฟฟ้าสาธารณะให้ชัดเจน และทำการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ของประชาชน มาตรการนี้จะทำให้สามารถตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าสาธารณะในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ
ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหา กฟภ. ไม่ได้รับรายได้จากส่วนสูญเสีย NTL ครบตามข้อเท็จจริง เนื่องจาก เมื่อมีการตรวจพบมิเตอร์ชำรุดหรือการละเมิด โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย การพิจารณาปรับปรุงค่าไฟฟ้าย้อนหลังมักจะดำเนินการในลักษณะผ่อนปรน ทำให้ NTL ในอดีตที่ควรจะเรียกเก็บคืนได้ กฟภ.กลับไม่ได้รับเงินดังกล่าวกลับคืนได้ครบ อีกทั้งไม่มีการติดตามผลอย่างจริงจัง จึงเป็นการสูญเสียแบบน้ำซึมบ่อทราย จึงควรกำกับให้มีการปรับปรุงค่าไฟฟ้าให้ครบถ้วน ในรายที่ตรวจพบมิเตอร์ชำรุดและละเมิด ต้องจัดทำโปรแกรมเพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงค่าไฟฟ้าเพื่อลดภาระในการดำเนินการสำหรับผู้ปฏิบัติต้องจัดทำบัญชีรายตัวเพื่อการตรวจสอบ ตั้งทีมงานตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ผู้บริหารให้ความสนใจอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับ กฟภ.หลายร้อยล้านบาท/ปี.