ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย” ระดับ “BBB” และจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2011 13:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (AA) ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์จากกลุ่ม AA และการเพิ่มทุนจำนวน 6,000 ล้านบาทจากผู้ถือหุ้นหลัก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากความต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์และในธุรกิจเอทานอล นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังถูกจำกัดโดยสถานะอันดับเครดิตองค์กรระดับ “BBB” ของ AA ซึ่งถือหุ้น 36% ในบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยแนวโน้มการเติบโตของความต้องการเอทานอลและประสบการณ์ที่ยาวนานของกลุ่ม AA ในธุรกิจมันสัมปะหลังจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเอทานอล ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย เป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทย โดยปัจจุบันเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 5 โรง ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 435 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 600 ตันภายใต้โครงการ SPP ในฐานะที่มีประสบการณ์สูงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัทจึงได้รับใบอนุญาตประกอบการโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP หลายโรงและภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer -- IPP) อีก 1 โรง รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าของบริษัทและบริษัทย่อยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ของกลุ่ม AA โดย กลุ่ม AA มีฐานะเป็นทั้งผู้ให้บริการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าขั้นพื้นฐาน ผู้จัดหาเชื้อเพลิง เช่น แกลบ ชิ้นไม้สับ และเปลือกไม้ และเป็นหนึ่งในลูกค้ารายสำคัญของบริษัท ในปี 2553 บริษัทได้ร่วมทุนกับ AA ใน บริษัท คันนา จำกัด ในสัดส่วน 48% เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นไม้สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ทั้งนี้ AA เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2553 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 มีสัดส่วนการถือหุ้น 36% ส่วนอีก 64% ถือโดยผู้ถือหุ้นหลักของ AA โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างถ่านหินและชีวมวลซึ่งส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าทั่วไปเนื่องจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ภายใต้โครงการ SPP อย่างไรก็ตาม แม้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินจะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลก็มีความเสี่ยงจากการสึกหรอของเครื่องจักรอุปกรณ์ในอัตราที่สูงกว่า ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในระหว่างปี 2552-2553 กลุ่ม AA ได้มีการปรับโครงสร้างภายในกลุ่ม โดยบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายมีฐานะเป็นบริษัทหลักในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม AA บริษัทได้ซื้อหุ้น 100% ของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 จำกัด (NPP5) และ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 11 จำกัด (NPP11) ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่งนี้ซื้อโรงไฟฟ้า 3 โรงจาก AA ในราคา 3,774 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2552 หรือคิดเป็น 34 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยบริษัทใช้แหล่งเงินทุนบางส่วนจากเงินกู้ยืมจำนวน 2,300 ล้านบาทในการซื้อโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรง NPP5 และ NPP11 เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 100% ภายใต้โครงการ SPP ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 107 เมกะวัตต์ โดยมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) จำนวน 75 เมกะวัตต์ อายุ 25 ปีกับ กฟผ. หลังการซื้อหุ้นดังกล่าว กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 435 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ 328 เมกะวัตต์ นอกจากการซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน 1 บริษัท พร้อมทั้งลงทุนในกิจการที่สนับสนุนการดำเนินงานผลิตไฟฟ้า 3 บริษัท รวมทั้งเพิ่มทุนในบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าอีก 3 โรง รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,200 ล้านบาทในระหว่างปี 2552-2553 บริษัทย่อยใหม่ประกอบด้วย บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ เอทานอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ด้วยกำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน บริษัท เอ็นพีเอส โอเชี่ยน สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเรือขนส่งถ่านหินทางทะเลขนาด 52,000 ตัน และ บริษัท อินเตอร์ สตีวีโดริ่ง 5 จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเล โดยบริษัทได้ทยอยเพิ่มทุนเป็น 9,354 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2554 จาก 3,386 ล้านบาทในปี 2551 เพื่อนำเงินมาลงทุนในบริษัทเหล่านี้ รายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายและบริษัทย่อยมีความมั่นคงเนื่องจากมีสัญญา PPA จำนวน 255 เมกะวัตต์ อายุ 25 ปีกับ กฟผ. และสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 74 เมกะวัตต์ อายุ 5-19 ปีกับ AA และสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่ บริษัท ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด เพื่อจำหน่ายต่อไปยังลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 304 บริษัทขายไอน้ำที่ผลิตได้ทั้งหมดให้แก่ AA ภายใต้สัญญาจัดหาไอน้ำอายุ 19 ปี และ 25 ปี หลังจากการรวมงบการเงินของ NPP5 และ NPP11 เต็มปีในปี 2553 แล้ว บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% จาก AA คิดเป็น 35% และลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม 25% โดยถ่านหินซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน ประมาณ 50% ของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้ารวมในปี 2552 ได้ปรับตัวลดลงเป็น 46% ในปี 2553 เนื่องจากบริษัทลดต้นทุนโดยการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่วนเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของต้นทุนรวมจะจัดหาตามสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงและสัญญาจ้างจัดหาเชื้อเพลิงภายใต้สัญญาระยะยาวกับ AA และ บริษัท คันนาและเขตที่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม AA เช่นกัน ในด้านการจัดหาเชื้อเพลิงถ่านหินนั้น นอกเหนือจากการซื้อถ่านหินจาก Marubeni Corporation ภายใต้สัญญาจัดหาถ่านหินอายุ 15 ปีแล้ว ในปี 2552 และปี 2553 บริษัทยังได้ทำสัญญาจัดซื้อถ่านหินกับ Glencore International AG และสัญญาซื้อถ่านหินจาก Noble Resources Pte. โดยกำหนดราคาอ้างอิงกับดัชนี Japanese Power Utility (JPU) ด้วย ดังนั้น ต้นทุนถ่านหิน 70% ที่ใช้ในการผลิตในปี 2553 จะอ้างอิงตามดัชนี JPU ซึ่งเป็นดัชนีราคาอ้างอิงที่ กฟผ. ใช้ในการจ่ายค่าเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลอยตัวทำให้บริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากต้นทุนถ่านหินที่สูงขึ้นเนื่องจากค่า Ft ที่อาจปรับตามเพิ่มขึ้นไม่ทัน ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2553 บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายมีกำไรสุทธิรวม 1,229 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากปี 2552 กำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 92 ล้านบาทและการกลับสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 615 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายลดลงเป็น 27.3% ในปี 2553 เทียบกับ 33.7% ในปี 2552 สาเหตุมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าบริษัทได้ลดต้นทุนบางส่วนโดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแล้วก็ตาม นอกจากนี้ อัตรากำไรที่ลดลงยังเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและค่าไฟฟ้าสำรอง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทย่อยด้วย อัตรากำไรดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับในปี 2548-2550 ที่บริษัทเคยทำได้ถึง 38%-44% ในด้านการดำเนินงานนั้น บริษัทมีเสถียรภาพในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ามากขึ้นหลังการหยุดซ่อมครั้งใหญ่ระหว่างปี 2550-2551 แม้ว่าการหยุดซ่อมฉุกเฉินจะสูงขึ้นเป็น 3.4% ในปี 2553 จาก 2.0% ในปี 2552 จากปัญหาท่อควบแน่นรั่ว แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าในช่วงปี 2549-2551 ที่มีการหยุดซ่อมฉุกเฉินสูงถึง 5.2%-7.6% มาตรการซ่อมบำรุงก่อนเกิดปัญหาและแผนการจัดเตรียมเชื้อเพลิงช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า ในปี 2553 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเพียง 3% เป็น 2,118 ล้านบาทแม้ว่าจะรวมผลการดำเนินงานของ NPP5 และ NPP11 แล้วก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.87 เท่าในปี 2553 จาก 3.64 เท่าในปี 2552 เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทย่อยลดลง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นเป็น 43.7% ในปี 2553 จาก 65% ในปี 2551 เนื่องจากมีการเพิ่มทุนจำนวน 5,600 ล้านบาทในปี 2552-2553 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ดีขึ้นเป็น 18.2% ในปี 2553 จาก 15.8% ในปี 2552 ในระยะสั้นถึงปานกลาง บริษัทมีความเสี่ยงจากต้นทุนถ่านหินและชีวมวลที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมัน ซึ่งบริษัทสามารถลดต้นทุนได้ในระดับหนึ่งจากแผนการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงชีวมวล ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจเอทานอลซึ่งจะเริ่มการผลิตในเดือนกันยายน 2554 ความเสี่ยงของธุรกิจเอทานอลรวมถึงความเสี่ยงทางด้านราคาจากการกำหนดเพดานราคาขายเอทานอลโดยรัฐบาล ในขณะที่ต้นทุนมันสำปะหลังมีความผันผวนจากความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ โครงสร้างเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะสูงขึ้นจากสิ้นเดือนธันวาคม 2553 ที่ระดับ 43.7% เนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนรวมมูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาทที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ แผนการลงทุนประกอบด้วยโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ IPP จำนวน 1 โรง โรงไฟฟ้า SPP ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 2 โรง และโรงงานเอทานอลอีก 1 แห่ง กำหนดการเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้า SPP จะเริ่มตั้งแต่ปี 2556-2557 ส่วนโรงไฟฟ้า IPP จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558-2559 หากแผนการลงทุนทั้งหมดแล้วเสร็จก็จะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,235 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 3 เท่าของกำลังการผลิตในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทจะพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งหมดได้ตามกำหนดโดยไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินยังเป็นประเด็นกังวลต่อสถานะอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB อันดับเครดิตตราสารหนี้: หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2557 BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ