รายงานตลาดรับสร้างบ้าน Q1 และแนวโน้มครึ่งปีแรก 2554

ข่าวอสังหา Monday April 11, 2011 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ภาวะตลาดรับสร้างบ้านไตรมมาสแรก ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Constructions Association: THCA) เปิดเผยข้อมูลปริมาณและสัดส่วนผู้บริโภคที่ใช้บริการกับ “บริษัทรับสร้างบ้าน” หรือธุรกิจรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด เฉพาะในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ พบว่าไตรมาสแรกปี 2554 หรือในช่วงเดือนมกราคม.-มีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนผู้บริโภคใช้บริการเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สัดส่วนคิดเป็น 27% และในพื้นที่ต่างจังหวัด มีสัดส่วนคิดเป็น 73% หรือประมาณเกือบ 3 เท่าของจำนวนผู้ใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้านทั้งหมด โดยผู้บริโภคในพื้นที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับ 1 สัดส่วนคิดเป็น 31% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด ในขณะที่ผู้บริโภคในพื้นที่ “ภาคใต้” มีจำนวนผู้ใช้บริการน้อยที่สุด หรือประมาณ 3% เท่านั้น ทั้งนี้ข้อมูลที่รวบรวมได้จากสมาชิกสมาคมฯ สามารถแบ่งสัดส่วนออกตามพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ได้ดังนี้ - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นสัดส่วน 31% - กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นสัดส่วน 27% - ภาคกลางและภาคตะวันออก คิดเป็นสัดส่วน 27% - ภาคเหนือ คิดเป็นสัดส่วน 12% - ภาคใต้ คิดเป็นสัดส่วน 3% อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบพิจารณาสัดส่วนดังกล่าวกับสถิติปี 2553 แล้วพบว่าตลาดรับสร้างบ้าน “พื้นที่ต่างจังหวัด” มีสัดส่วนคิดเป็น 79% และพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนคิดเป็น 21% ซึ่งตัวเลขสถิติไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็สะท้อนได้ว่าตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไตรมาสแรกปีนี้ มีสัดส่วนขยายตัวกว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ในขณะที่สัดส่วนตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดก็เติบโตตามด้วยเช่นกัน ความต้องการและกำลังซื้อผู้บริโภค ฝ่ายพัฒนาธุรกิจฯ คาดการณ์ว่าตลาดรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีแรก ยังมีทิศทางและแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลและต่างจังหวัด ทั้งนี้เป็นเพราะมีแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มผู้ประกอบการที่รวมตัวกันในนามสมาคมฯ มีการกระตุ้นการรับรู้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนแรก ผ่านกิจกรรม Event Marketing และ Social Network โดยเฉพาะการเน้นเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ และขยายการรับรู้สู่ผู้บริโภคในวงกว้างอย่างน่าสนใจ กอปรกับในช่วงไตรมาสสองนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี สำหรับการจะลงมือสร้างบ้านหลังใหม่ “นอกจากนี้การแข่งขันของสถาบันการเงิน เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยหรือสร้างบ้านหลังใหม่ ก็เป็นแรงบวกอีกแรงหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้ดี โดยเฉพาะผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่ก่อนหน้านี้เข้าถึงสินเชื่อปลูกสร้างบ้านได้ยาก ซึ่งเมื่อบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำจับมือกับธนาคาร อย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธอส. ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมอัดโปรโมชั่น ลด แจก แถม และมอบสิทธิพิเศษมากมาย ทำให้ตลาดรับสร้างในต่างจังหวัดคึกคักขึ้นมาก” ฝ่ายพัฒนาธุรกิจฯ คาดว่ากำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านในครึ่งปีแรก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดน่าจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 10-12% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว อย่างไรก็ดีแม้ว่ากำลังซื้อและความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้น หากแต่ก็มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะรายใหม่ที่เข้ามาแข่งขันพร้อมกับความแบบมืออาชีพ มีทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายใหญ่ ซึ่งเข้ามาแข่งขันทำตลาดในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ฉะนั้นการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้าน อาจไม่ได้ช่วยให้การแข่งขันลดความรุนแรงลง แต่น่าจะเป็นแรงกดดันและทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก-รายกลางที่เป็นรายเดิม ซึ่งอยู่ในตลาดนี้มาก่อนต้องเร่งปรับตัวอย่างมาก เพื่อจะสามารถแข่งกับรายใหม่ที่มีความพร้อมกว่า ทั้งในความเป็นมืออาชีพ เงินทุน แบรนด์สินค้า ความน่าเชื่อถือ และเครือข่ายหรือช่องทางจำหน่าย ฯลฯ อย่างเช่น เอสซีจี พีดีเฮ้าส์ เป็นต้น ธุรกิจรับสร้างบ้านเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต ที่ผ่านมากลุ่มวิชาชีพสถาปนิกและวิศวกรมักเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันผู้ก้าวเข้ามาใหม่ในธุรกิจรับสร้างบ้านนี้ มีทั้งนักการตลาด นักบริหาร นักการเงิน หรือแม้กระทั่งผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ก็กระโดดเข้ามาในธุรกิจรับสร้างบ้านนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดีหากมองในมุมผู้บริโภคก็นับเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจมีการตื่นตัวมากขึ้น เพื่อจะแข่งขันกันพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพให้เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง เมื่อประเทศไทยเปิดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (Asian Economic Community: AEC) ในอีกเพียงแค่ 3 ปีเศษเท่านั้น ชี้แนะข้อควรระวังและผลกระทบ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาคแรงงงานในธุรกิจรับสร้างบ้านเผชิญกับปัญหาแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการชั้นนำหลายรายมีการปรับตัวเอง โดยหันมาศึกษาและมองหาระบบก่อสร้างสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป มาใช้ในการสร้างบ้านแทนวิธีก่อสร้างแบบเดิมๆ ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากและระยะเวลาก่อสร้างนานกว่า การเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงแรงงานกันไม่แพ้การแย่งชิงลูกค้า โดยพบว่ามีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างรายวันและค่าจ้างเหมางานเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงจ้างเหมาปูกระเบื้องเซรามิคปรับเพิ่มขึ้นจาก 110-120 บาทเป็น 150-180 บาท และค่าแรงช่างฉาบปูนปรับเพิ่มจากวันละ 280-300 บาท ปรับเพิ่มเป็น 350-380 บาท ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าในอดีตที่ผ่านมา แรงงานภาคก่อสร้างโดยส่วนใหญ่มิใช่แรงงานหลัก แต่เป็นแรงงานที่มาจากภาคเกษตรที่ว่างเว้นจากฤดูเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว หรือทิ้งภาคเกษตรมาทำงานก่อสร้างเพราะราคาพืชผลตกต่ำ แต่ในปัจจุบันพืชผลเกษตรเกือบทุกชนิดราคาดีมาก ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้กลับคืนสู่ภาคเกษตร และส่งผลให้ภาคธุรกิจก่อสร้างเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากขึ้นทั่วประเทศ บทบาทสมาคมไทยรับสร้างบ้านต่อการพัฒนาธุรกิจ นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกเร่งปรับตัว และนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้ในงานสร้างบ้านมากขึ้น เพื่อจะได้ลดการพึ่งพาแรงงานในระดับล่างให้มากที่สุด ซึ่งถือว่ามีการปรับตัวกันได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือ ยังไม่สามารถลดต้นทุนลงได้ เนื่องเพราะมีต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดีสมาคมฯ ยังมีความพยายามที่จะสนับสนุนสมาชิก โดยช่วยกันศึกษาและมองหาเทคโนโลยีก่อสร้างใหม่ๆ สำหรับมาใช้ในการก่อสร้างและช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการสมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง โดยมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำ “แผนพัฒนาธุรกิจรับสร้างบ้าน” ภายใต้แนวทาง “การพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างและบุคลากร สำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านในการรองรับการเปิดเสรีทางการค้า และเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน” ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดทำแผนฯให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน” นอกจากนี้สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ในฐานะตัวแทนจากภาคธุรกิจก่อสร้าง ยังได้รับการแต่งตั้งจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดย คุณอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจก่อสร้าง เพื่อจัดทำ “ร่างแผนพัฒนาธุรกิจก่อสร้าง” เสนอต่อกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอแผนพัฒนาธุรกิจฯ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเพื่อจะพิจารณาบรรจุไว้ในแผนฯ ฉบับที่ 11 (2555-2559) อันจะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่สมาคมฯ จะได้มีแสดงบทบาทต่อการพัฒนาภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้เติบโตอย่างมีทิศทางและยั่งยืน นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกนี้ พบว่าผู้บริโภคที่ใช้บริการรับสร้างบ้านกับสมาชิกสมาคมฯ นิยมปลูกสร้างบ้านในระดับราคา 2.5 - 4 ล้านบาทมากที่สุด หรือคิดเป็นสัดส่วน 38% ของจำนวนทั้งหมด อันดับรองลงมาคือ ระดับราคาบ้านไม่เกิน 2.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31% ระดับราคา 4 - 6 ล้านบาท 22% และระดับราคา 6 ล้านบาทขึ้นไป คิดเป็น 9% ตามลำดับ ซึ่งจากสถิติดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกับที่สมาคมฯคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากข้อมูลดังกล่าว สมาคมฯ จึงได้นำเสนอให้สมาชิกนำไปวางแผนพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อจะตอบโจทย์ลูกค้าที่สนใจใช้บริการให้มีความพึงพอใจ ทั้งในด้านดีไซน์แบบบ้านและวัสดุก่อสร้างที่เลือกใช้ โดยเฉพาะวัสดุที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลสำรวจพบว่าได้รับความนิยมและตอบรับจากผู้บริโภคดีมาก เหตุผลมาจากกระแสภัยธรรมชาติในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรง และมีผลกระทบใกล้ตัวเข้ามามากขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายสำคัญของสมาคมฯ เช่นกันที่รณรงค์ให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหันมาตื่นตัวมาอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ