กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--กรมสรรพสามิต
กรมสรรพสามิตจับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต โดยยึดหลักปรัชญากฎหมายภาษีอากรที่ดี ชี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม สอดรับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และสนับสนุนการแข่งขัน ในเวทีสากล
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ากรมสรรพสามิตได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าและโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ที่มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคของโลกการค้าไร้พรมแดน (Free Trade Area) ซึ่งระบบกฎหมายภาษีอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายภาษีสรรพสามิตถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย ดังนั้น เพื่อไม่ให้กฎหมายภาษีสรรพสามิตในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย และสอดรับตามแผนงานการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานกรมาสรรพสามิต กรมสรรพสามิตจึงมีนโยบายให้มีการศึกษาปัญหาและปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายภาษีสรรพสามิตอย่างบูรณาการ (Comprehensive Excise Tax Reform)
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวต่อว่า เพื่อให้การปรับปรุงกฎหมายภาษีสรรพสามิตครั้งนี้สัมฤทธิ์ผลสูงสุด สอดคล้องกับพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน และแผนงานการสร้างความโปร่งใสของกรมสรรพสามิต จึงเห็นควรปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายภาษีสรรพสามิต 5 ฉบับอย่างบูรณาการ คือ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 และพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486 โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกฎหมายภาษีสรรพสามิตฯ ให้ครอบคลุมใน 6 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
(1) ความสะดวกและชัดเจนของกฎหมาย (Simplicity) โดยการรวบรวมกฎหมายภาษีสรรพสามิตมาจัดหมวดหมู่ เพื่อสร้างความชัดเจน ต่อผู้เสียภาษีสรรพสามิตและเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติ
(2) ความเท่าเทียมและเป็นธรรม (Equity and Fairness) โดยการปรับระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
(3) ความโปร่งใส (Transparency) โดยการลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และสร้างความชัดเจนของระบบประเมินตนเองในประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต
(4) การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต(Competent tax administration) โดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต่อการบริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
(5) การป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี (Anti-tax Avoidance) เพิ่มเติมกฎหมายเพื่อต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิต และ
(6) การก้าวสู่ความเป็นสากล (Internationalization) โดยการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้การสอดรับกับการเข้าเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการจัดทำโครงการจัดทำประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต (Uniform Excise Tax Code) เป็นการพัฒนากฎหมายภาษีสรรพสามิตให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญและมีประสิทธิภาพทางการคลังของรัฐบาล รวมถึงสามารถส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยอย่างยั่งยืน กรมสรรพสามิตจึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันของภาครัฐที่มีชื่อเสียงเป็น ที่ยอมรับจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในการเข้าร่วมดำเนินการโครงการจัดทำประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ โดยจะมีระยะเวลาดำเนินการของโครงการฯ จำนวน 7 เดือน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การศึกษากฎหมายภาษีสรรพสามิตปัญหาทั้งหมด และเปรียบเทียบกับกฎหมายภาษีสรรพสามิตในต่างประเทศ อาทิ กฎหมายภาษีสรรพสามิตในกลุ่มประเทศยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อแนวทางปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิตเบื้องต้น เพื่อจัดทำประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต
ระยะที่ 2 ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านเพื่อปรับปรุงเป็นร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและทำประชาพิจารณ์
ระยะที่ 3 จัดทำร่างประมวลกฎหมายเพื่อเสนอผู้บริหารกรมสรรพสามิตและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับนี้ คาดว่าจะสามรถบังคับใช้เป็นกฎหมายสมบรูณ์ได้ภายใน ปี 2556
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวทิ้งท้ายว่า การศึกษาและปรับปรุงกฎหมายภาษีสรรพสามิตเป็นประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ จะทำให้กรมสรรพสามิตมีการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิตให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานกฎหมายภาษีอากรที่ดี 3 ประการ คือ ความสะดวกง่ายดาย ความเท่าเทียมยุติธรรม และความโปร่งใส ให้เป็นที่ยอมรับต่อสากลและกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางด้านการคลังของรัฐบาลและตอบสนองต่อการพัฒนาทั้งการค้าและอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวสู่การแข่งขันระดับสากลอย่างยั่งยืนต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกรม
กรมสรรพสามิต
โทร/โทรสาร 0 2241 4778