กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศและระเบียบควบคุมการนำเข้าหรือส่งออกยา เภสัชเคมีภัณฑ์
และสารเคมีบางชนิดตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการที่สำคัญคือ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประโยชน์ในทางสาธารณสุขรวมทั้งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีและบทบาทของประเทศไทยต่อประชาคมโลกในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
หรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมีการควบคุม ดังนี้
1. กลุ่มที่ต้องขออนุญาตนำเข้า
ได้แก่ ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือของเภสัชเคมีภัณฑ์ และเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป รวม 16 กลุ่ม อาทิ อริสโตโลเซีย (Aristolochia) คลอแรมฟินิคอล (Chloramphenicol) คลอโรฟอร์ม (Chloroform) เป็นต้นนอกจากนี้ ยังมีสารประเภทเร่งเนื้อแดงสำหรับการเลี้ยงสุกร ได้แก่ สารเคลนบิวเตอรอล(Clenbuterol) และ สารอัลบิวเตอรอล (Albuterol) หรือ สารซัลบิวตามอล (Salbutamol) สารที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ได้แก่ กาเฟอีน (Cafeine)
และโพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต (Potassium Permanganate) หรือที่รู้จักกันทั่วไปคือ “ด่างทับทิม” ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
สำหรับยา เภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือของเภสัชเคมีภัณฑ์ และเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งสารที่ใช้เร่งเนื้อแดงทั้งหลาย ในการนำเข้าต้องยื่นขออนุญาตต่อกรมการค้าต่างประเทศก่อนนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ จะต้องแนบหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกอบหลักฐานการซื้อขาย ได้แก่ สำเนาใบกำกับสินค้า (Invoice หรือ Proforma Invoice) หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงรายละเอียดการซื้อขายสินค้าดังกล่าว
เว้นแต่กรณี ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ในกลุ่มคลอโรฟอร์ม (Chloroform) จะต้องมีหนังสือรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
2. กลุ่มที่ต้องขออนุญาตนำเข้าและส่งออก ได้แก่ กาเฟอีน (Cafeine) และสารโพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต (Potassium Permanganate) การนำเข้าสารกาเฟอีน จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตนำเข้าพร้อมหนังสือรับรองการนำหรือสั่งสารกาเฟอีนเข้ามาในราชอาณาจักรจาก อย. หรือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมตามแต่กรณี และมีเอกสารประกอบการซื้อขายสินค้าทำนองเดียวกับ ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ข้างต้นมาแสดง ส่วนกรณีสารโพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต ผู้นำเข้าจะต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรมการค้าต่างประเทศก่อน และในการนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องจดแจ้งการนำเข้าก่อนวันที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรต่อกรมการค้าต่างประเทศอีกด้วย
การส่งออก กรณีสารกาเฟอีน ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตส่งออกพร้อมหนังสือแจ้งข้อมูลการส่งออกจาก อย. หรือจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วแต่กรณี พร้อมหลักฐานประกอบการซื้อขาย เช่น สำเนาใบกำกับสินค้า (Invoice) หรือใบเสนอราคาสินค้าล่วงหน้า (Proforma Invoice) หรือเอกสารทางการค้าอื่นใดที่แสดงถึงรายละเอียดการซื้อขายสินค้าดังกล่าว ส่วนกรณีส่งออกสารโพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต จะต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ส่งออกที่จะส่งสินค้าดังกล่าวไปให้ผู้นำเข้าในประเทศปลายทางจริง หรือมีหนังสือเห็นชอบให้ส่งออกได้แล้วแต่กรณีจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า
กรมการค้าต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการออกใบอนุญาตนำเข้าส่งออกสินค้าดังกล่าวข้างต้น โดยเน้นให้ผู้ประกอบการนำเข้าหรือส่งออกยา เภสัชเคมีภัณฑ์ รวมทั้งสารเคมีที่อยู่ในข่ายควบคุมดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎเกณฑ์การนำเข้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในการนำเข้าจะต้องขออนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน แล้วนำใบอนุญาตนำเข้าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรประกอบพิธีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร มิเช่นนั้นนอกจากจะต้องถูกปรับตามกฎหมายศุลกากรแล้วอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก หรือการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 อีกด้วย ทั้งนี้
รายละเอียดดูได้จากเว็บไซต์ www.dft.moc.go.th หรือติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักบริหารการนำเข้าส่งออกสินค้าทั่วไป หรือ สำนักบริการการค้าต่างประเทศ โทร.
02-5474771-86 หรือสายด่วน 1385