กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--แบรนด์เอเชีย คอมมิวนิเคชั่น
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA -Thai Seed Trade Association) มีมวลสมาชิกประกอบด้วยองค์กร บริษัท ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย สมาคมต่างๆ นักวิทยาศาสตร์การเกษตร นักปรับปรุงพันธุ์ นักวิชาการ นักการตลาด ได้มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เมื่อวันที่31 มีนาคม 2554 โดยมีวัตถุประสงค์ สรุปผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเกษตรด้วยเป็นต้นธารของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่หล่อเลี้ยงประชากรและปศุสัตว์ รวมทั้งเป็นความมั่นคงของประเทศ
ในโอกาสนี้นายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA )ฯและคณะกรรมการบริหาร ได้เชิญนายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มานำเสนอมุมมองและข้อคิดเห็น ในหัวข้อเรื่อง “การนับถอยหลังสู่ฮับเมล็ดพันธุ์...รับมือวิกฤตอาหารและภัยธรรมชาติ” ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถ.วิภาวดีรังสิต
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาต่อการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชของูไทย ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐเพียงส่วนเดียวคงไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาได้ และภาคเอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการอย่างโดดเดี่ยวได้เหมือนกัน กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาอุตสาหกรรมสารเคมีเกษตรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้ แผนพัฒนาด้านเมล็ดพันธุ์ของปี 2553-2555 ใน 3 ทิศทาง คือ 1.ให้มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรในประเทศ โดยสนับสนุนส่งเสริมวิจัยพืชพันธุ์ที่ดี เพื่อให้เกษตรกรได้ปัจจัยที่มีมาตรฐาน เพื่อให้มีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตที่มากขึ้น เมื่อประเทศมีปัจจัยที่ได้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากลแล้ว การจะเข้าสู่การเป็นฮับแห่งเอเชียไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ส่วนด้านเทคโนโลยีประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ 2.สนับสนุนให้ความสำคัญภาคเอกชน มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม รัฐบาลต้องลดบทบาทลงเพื่อเปิดโอกาสการลงทุนในภาคเอกชน เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ภาครัฐผลิตประมาณ 10% ของความต้องการใช้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินลงทุนน้อย ในขณะเดียวกันรัฐควรทำการตลาดให้กับเกษตรกร ให้เกิดการกระจายเมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพ ให้มีพื้นที่เหมาะสม ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มเกษตรกร 3.สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในภาคพื้นเอเชีย โดยสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาในเรื่องการผลิต เมล็ดพันธุ์ต้องมีคุณภาพในกระบวนการผลิต สามารถนำเมล็ดพันธุ์เข้าสู่มาตรฐานสากลได้ สนับสนุนพัฒนาการวิจัย พัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบ (Lab) เมล็ดพันธุ์พืชให้ได้ระบบมาตรฐานสากล และจัดสรรเครื่องมือให้เพียงพอ ส่งเสริมให้เพิ่มพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ เวียดนาม และอินเดีย
ในทุกปีมีการกำหนดเป้าหมายในการสุ่มตรวจเมล็ดพันธุ์ให้ได้ตามมาตรฐาน การดำเนินการเข้าตรวจสอบร้านค้า คำนึงถึงองค์ประกอบตำแหน่งการวางเมล็ดพันธุ์ อุณหภูมิในการจัดเก็บที่เหมาะสม ซึ่งมีร้านค้าจดทะเบียนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กว่า 17,000 ร้านค้า ผ่านการตรวจสอบแล้ว ร้านค้ามีมาตรฐานถึง 93% ในปีนี้ทำการสุ่มตรวจถึง 59 ครั้ง ในรอบ 3 เดือน ซึ่งได้ตามมาตรฐานทุกร้านค้า ถือเป็นสัญญาณที่ดี ในการลดความเสื่อมของเมล็ดพันธุ์ลงได้ ในอนาคตอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทยจะก้าวไกล และเข้าสู่การเป็นฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียได้
นายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ผู้จัดงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก การเสริมสร้างศักยภาพบทบาทประเทศไทยให้โดดเด่นบนเวทีโลกในการก้าวเป็น ฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชีย (Seed Hub of Asia) ท่ามกลางสภาวะโลกที่ปรวนแปรด้วยภาวะเศรษฐกิจ ภัยพิบัติธรรมชาติและภาวะโลกร้อน ยังมีอุปสรรคที่สำคัญยิ่งและไม่ควรมองข้าม คือ พรบ.กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ซึ่งคำจำกัดความของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ไม่เป็นสากลและกลายเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยพัฒนาเกษตรของประเทศไทย
www.thasta.com
PR AGENCY : BRAINASIA COMMUNICATION
Tel. ประภาพรรณ 02-911-3282 (5 Auto Lines) Fax 02-911-3208
Email: brainasiapr@hotmail.com