กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กระทรวงยุติธรรม
ยุติธรรมระดมสรรพกำลังช่วยเหยื่อสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง กระทรวงยุติธรรมระดมสรรพกำลังประสานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกช่องทาง ตั้งคณะทำงาน ศปภ.ยธ.เป็นหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่และสนับสนุนการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ จนกว่าสถานการณ์ภัยพิบัติจะยุติ
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เหตุการณ์ธรณีพิบัติจากคลื่นใต้น้ำ (TSUNAMI) ซึ่งเป็นผลจากการเกิดแผ่นดินไหวในตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ส่งผลให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สิน ตลอดจนสภาพธรรมชาติใน 6 จังหวัด คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง สตูล และระนอง ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
กระทรวงยุติธรรมจึงแต่งตั้งคณะทำงานปฏิบัติงานประจำศูนย์อำนวยการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศปภ.ยธ.) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ รวมทั้งการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ให้แก่ผู้ประสบภัย การประสานการปฏิบัติงาน การฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหาย ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งประกอบด้วย
1. คณะทำงานอำนวยการ มีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติของศูนย์อำนวยการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 661 / 2547 และประสานแผนการปฏิบัติของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคราชการ ประชาชน และอาสาสมัคร รวมทั้งกำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของศปภ.ยธ. ตลอดจนติดตามผลการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นหัวหน้าคณะทำงาน
2. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประกอบด้วย
(1) ฝ่ายอำนวยการ โดยมีนางชูจิรา กองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรมเป็นหัวหน้ามีหน้าที่ อำนวยการ กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของ ศปภ.ยธ .ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ประสานแผนและ การปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงาน ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุก ๆ ด้าน
(2) ฝ่ายเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ให้ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ และมีหัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กองกลาง เป็นผู้ช่วยมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง พร้อมทั้งประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติ ฯ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และแจ้งเตือนภัย ตลอดจนรายงานข้อมูล สถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกระยะ
(3) ฝ่ายประสานการช่วยเหลือและการบรรเทาภัย ให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาพฤตินิสัย เป็นผู้รับผิดชอบ และมีผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ช่วย มีหน้าที่จัดระบบข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการให้ความช่วยเหลือ การบรรเทาภัย และการฟื้นฟูบูรณะให้แก่ผู้ประสบภัย พร้อมสรุปการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ด้านเทคโนโลยีให้แก่หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมกับประสานงานกับหน่วยงานในการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ ครุภัณฑ์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่
(4) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ให้ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ และหัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ช่วย มีหน้าที่ ประสานสื่อมวลชนในการแถลงข่าว จัดทำข่าวประชาสัมพันธ์สถานการณ์ภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับสื่อมวลชนทราบทุกระยะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ประสานการช่วยเหลือและให้ข้อมูลข่าวสารการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยแก่ส่วนราชการ เอกชน ประชาชน สถานทูต และชาวต่างประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง
(5) ฝ่ายรับบริจาคเงินและสิ่งของ ให้ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบ มีหน้าที่รับบริจาคเงินและสิ่งของจากส่วนราชการ เอกชน ประชาชน ผู้มีจิตศรัทธา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พ.ศ. 2522 และจัดระบบการรับบริจาคเงิน สิ่งของ ระบบการส่งมอบให้แก่ ผู้ประสบภัยโดยเร็ว พร้อมทั้งจัดทำระบบบัญชีเพื่อควบคุมให้เงินและสิ่งของบริจาคถึงมือผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง ตลอดจนจัดทำสรุปรายงานการรับบริจาคเสนอผู้อำนวยการศปภ.ยธ.ทราบทุกระยะ
(6) ฝ่ายเก็บรักษาและส่งมอบสิ่งของบริจาค ให้ผู้แทนกระทรวงยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง และสตูล เป็นผู้รับผิดชอบ มีหน้าที่เก็บรักษาสิ่งของที่ได้รับ พร้อมจัดหายานพาหนะส่งมอบสิ่งของให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
(7) ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ประสบภัย ให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านอำนวยความยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบ และผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อธิบดีกรม รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้ช่วย และมีผู้แทนกระทรวงยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง สตูล และจังหวัดใกล้เคียงพื้นที่ประสบภัยเป็นผู้ปฏิบัติ พร้อมกับจัดชุดเคลื่อนที่เร็วจัดเครื่องมือและอุปกรณ์เข้าไปปฏิบัติหน้าที่พื้นที่เพื่อระงับภัย กู้ภัย และบรรเทาภัย ระดมสรรพกำลังและอาสาสมัครเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจความเสียหายและแจกแจงและรายงานสรุปความเสียหาย พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการปฏิบัติทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และภายหลังเกิดภัย รวมทั้งวิธีการให้ความช่วยเหลือ การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย การซ่อมแซม สาธารณประโยชน์ที่อยู่อาศัย และสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนรับบริจาคเงิน สิ่งของแล้วจัดทำบัญชี ไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาค และการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. 2522 และเก็บรักษาสิ่งของที่ได้รับบริจาค จัดยานพาหนะเพื่อส่งมอบสิ่งขอให้แก่จังหวัดที่ประสบภัย
(8) ฝ่ายประสานงานการฟื้นฟูผู้ประสบภัย ให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเสริมสร้างความยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบ และมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้ช่วย มีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์และสภาพความเป็นอยู่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว และรวบรวมโครงการของจังหวัดที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อขออนุมัติงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งประสานติดตามและจัดทำสรุปรายงานการสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
(9) ฝ่ายประสานงานการฟื้นฟูผู้ประสบภัย ให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเสริมสร้างความยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบ และมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ช่วย มีหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการปฏิบัติ ภายหลังเกิดภัย วิธีการให้ความช่วยเหลือ ทางด้านกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประสบภัย และติดต่อประสานงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรการกุศล มูลนิธิ เพื่อขอรับการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมติดตาม ตรวจสอบ และสรุปข้อมูลสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกระยะ
ทั้งนี้ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง พิจารณามอบหมายให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในหน่วยงานปฏิบัติงานในหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เพื่อให้การอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงและทันต่อเหตุการณ์ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2547 จนกว่าสถานการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์จะยุติ--จบ--