กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--กบข.
กบข. ในฐานะสถาบันเงินออมเพื่อวัยเกษียณขนาดใหญ่ เตือนไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนะคนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการออมมากขึ้น
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วง 18 ปีข้างหน้า โครงสร้างประชากรของไทย จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ซึ่งเรื่องนี้ กบข. ตระหนักมาโดยตลอด และพยายามให้ความรู้และความเข้าใจถึงความจำเป็นในการออมเพื่อวัยเกษียณผ่านสื่อทุกแขนง
ทั้งนื้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2546 และจากการคาดประมาณประชากรขององค์การสหประชาชาติปี 2547 พบว่าประเทศไทยในอีก 18 ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 2568 จะมีประชากรผู้สูงอายุ 14.45 ล้านคน จากจำนวนประชากร 72.28 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2548 อย่างมาก กล่าวคือในปี 2548 ไทยมีที่มีประชากรสูงอายุเพียง 6.69 ล้านคน จากจำนวนประชากร 64.76 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.3 ของประชากร จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึง 7.75 ล้านคน ในขณะที่ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 7.52 ล้านคน
อนาคตไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น อัตราการพึ่งพิงของประชากรวัยเด็ก และวัยชราต่อประชากรในวัยทำงานที่ เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจและปัญหาด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น และเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ของประเทศ ดังจะเห็นได้จากหน่วยงานภาครัฐพยายามให้ข้อมูลความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้น
เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กบข. ได้ให้ความรู้ความเข้าใจในการเตรียมพร้อมรับวัยเกษียณอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อทุกช่องทางของ กบข. เช่น ข้อมูลการออมและการลงทุนในแต่ละช่วงวัย ข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยเป็นไปด้วยความพร้อมและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป เพราะถ้าคนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ส่งผลให้ประเทศมีความมั่นคงเช่นเดียวกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ยุวพร นนท์ภาษโสภณ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข.)
Government Pension Fund
Tel. 02-636-1000 Ext.263 , 01-612-2322
Fax. 02-636-1691