รพ.สวนสราญรมย์ กับ การเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยใต้...จากผู้ที่เคยได้รับการเยียวยา

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2011 13:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กรมสุขภาพจิต จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ เศษซากปรักหักพัง และข้าวของเครื่องใช้ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่งของผลกระทบที่จะลืมไม่ได้ คือ ผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นความเศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสียทรัพย์สินเครื่องใช้ หรือความหวาดกลัวตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การให้ความช่วยเหลือทางด้านปัจจัยสี่ ที่พักพิงหลบภัยรวมทั้งการเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบภัยทางด้านจิตใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้... นพ.พงศ์เกษม ไข่มุก ผอ.โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งจากคำบอกเล่าของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ประสบภัย ทุกคนต่างบอกว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี โดยที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ได้เปิดเป็นศูนย์พักพิงสำหรับช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ด้วย ทั้งๆที่ทางโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างเข้มแข็งเพื่อที่จะเป็นกำลังหลักสำคัญในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ยืนหยัดอยู่ได้ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ อ.พุนพิน จากเดิมที่เคยดูแลแค่ผู้ป่วยจิตเวช ได้กลายเป็นกำลังหลักสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของการช่วยเหลือ เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่ในที่สูงสามารถใช้เป็นที่พักพิงหลบภัยของชาวบ้านได้ โดยเฉพาะในช่วงสภาวะคับขัน หลังจากการเกิดอุทกภัยและสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วนั้น ทาง รพ.สวนสราญรมย์ สามารถจัดทำแผนรองรับในการป้องกันและบรรเทาภัย พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานต่างๆได้อย่างสอดคล้อง เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และสามารถให้ความช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะไม่ใช่ภารกิจหลักของโรงพยาบาลโดยตรง แต่ด้วยคุณธรรมและความมีน้ำใจของการเป็นคนไทยด้วยกันที่ต้องช่วยเหลือกันยามเดือดร้อน ทางโรงพยาบาลสวนสราญรมย์จึงได้จัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงขึ้น และได้ให้การช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 300 ชีวิต ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ในเบื้องต้นได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำดื่มสะอาด ที่พักพิง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อจะได้มีแรงและเข้มแข็งพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเองในวันต่อไป นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังได้ผู้ป่วยจิตเวชที่จำหน่ายออกไปแล้ว(อดีตผู้เข้ารับการรักษา/ผ่านการรักษาแล้วและสามารถใช้ชีวิตปกติอย่างคนทั่วไปได้) ที่ได้เข้ามาเป็นกำลังเสริมในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็น การบริจาคเงินและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งยังเป็นกำลังสำคัญให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการแพ็คและขนย้ายสิ่งของต่างๆที่ได้รับบริจาค และช่วยนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัยในพื้นที่ การเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันของผู้ป่วยทางจิตที่ผ่านกระบวนการรักษา ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นภาพว่า ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้ว นอกจากจะสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้แล้ว ยังมีจิตใจเอื้ออาทรและยังมีความสามารถที่จะช่วยสังคมด้วย ซึ่งจะช่วยลดทัศนะคติในทางลบที่สังคมมีต่อผู้ป่วยทางจิตได้เป็นอย่างดี นายแดง(นามสมมุติ)หนึ่งในอดีตผู้ป่วย บอกเล่าความรู้สึกของพวกเขาว่า "เขารู้สึกภาคภูมิใจ และเต็มใจที่ได้มีส่วนร่วม และยังบอกอีกว่าเขามีโอกาสได้ติดตามข่าวสาร และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้พาไปดูพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม เขารู้สึกเห็นใจ และอยากให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่าหมดกำลังใจขอให้สู้ต่อไป เพราะชีวิตข้างหน้ายังมีหวัง และพวกเขายังคอยเป็นกำลังใจให้" นพ.พงศ์เกษม ไข่มุก ผอ.โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิกฤติสุขภาพจิตที่จะมีผลกระทบกับผู้ประสบภัยในอนาคต ทางโรงพยาบาลจะมีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะในการเข้าไปพูดคุย พร้อมกับให้กำลังใจ รักษาจิตใจในขั้นพื้นฐานไปก่อน หลังจาก 72 ชั่วโมงถึง 2 อาทิตย์ ก็จะทำแบบทดสอบความเครียด หากเริ่มมีอาการแปลก ไม่พูดคุย หรือคุยน้อย เก็บตัว ก็จะทำการประเมินว่าขณะนี้เขามีความเครียดมากน้อยขนาดไหน มากถึงขนาดมีอาการ ซึม เศร้า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หมดอาลัยชีวิต หรือคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ หากเป็นมากก็จำเป็นต้องให้ยาคลายเครียด หรือถ้าซึมเศร้าฉุกเฉินก็จะนำส่งผู้เชี่ยวชาญในการรักษา เมื่อผู้ประสบภัยตั้งหลักได้ก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติต่อไป ในส่วนระยะที่เกิน 2 อาทิตย์ หรือ 2 เดือน ต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติไม่เคยเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่มาก่อนในรอบ 80 ปี บวกกับสภาพความเสียหายของบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ปรักหักพังไปตามกระแสน้ำ บางคนนั้นแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จึงทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจมาก กลุ่มนี้อาจจะมีอาการซึมเศร้าในอนาคต หรือเครียดอย่างรุนแรง ทางโรงพยาบาลจะติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลในระยะยาวต่อไป ผอ.โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวปิดท้ายด้วยว่า ขอให้ผู้ประสบภัยอย่าตื่นตระหนก ค่อย ๆคิดและวางแผนในการแก้ไขปัญหา ตามลำดับความรุนแรงก่อนหลัง อย่าแก้หลายเรื่องพร้อมกัน เพราะจะทำให้สับสน และขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง ขอให้มองอนาคต หากรู้สึกว่าตัวเองเครียด เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ฝันร้าย ขอให้หาเพื่อนคุย เพื่อปรับทุกข์ ซึ่งจะทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น ไม่ควรอยู่คนเดียว หากอาการไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ได้ตลอดเวลา หรือโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 029511374 กรมสุขภาพจิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ