กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ 11-15 เม.ย. 54 เฉลี่ย ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.20 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 116.03 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.26 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 122.72 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลง 1.52 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 108.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.27 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 129.22 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.69 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 138.87 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาได้แก่
(+) สหรัฐฯ,อังกฤษและฝรั่งเศสมีท่าทีสนับสนุนการเพิ่มระดับการใช้กำลังทางอากาศต่อกองกำลังรัฐบาลลิเบียมากขึ้นหลังจากกองกำลังทหารฝ่ายผู้นำลิเบียยิงจรวดกว่า 100 นัดเพื่อโจมตีที่อยู่อาศัยของประชาชน และได้โจมตีท่าส่งออกน้ำมัน
(+) การประท้วงในเยเมนอาจรุนแรงขึ้นเมื่อฝ่ายค้านยืนยันให้ประธานาธิบดี Ali Abdullah Saleh ลาออกภายใน 2 สัปดาห์ และเกิดเหตุระเบิดขณะที่ประชาชนในประเทศซีเรียประท้วงเรียกร้องการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย
(+) ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) บ่งชี้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย FED รายงานอัตราผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเดือน มี.ค. 54 เพิ่มขึ้น 0.8%
(+) Reuters และ University of Michigan รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ระดับ 69.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.1 จุด
(+) เศรษฐกิจของจีนไตรมาสที่ 1/54 เติบโตที่ 9.7% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 9.5%
(-) รัฐบาลญี่ปุ่นยกระดับภาวะวิกฤตนิวเคลียร์จากระดับ 5 เป็นระดับ 7 ซึ่งรุนแรงที่สุด เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Chernobyl ประเทศยูเครนในปี 2529
(-) ปริมาณการกลั่นน้ำมันของจีนเดือน มี.ค. 54 อยู่ที่ 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 3.4% จากเดือนก่อน เนื่องจากโรงกลั่นขนาดใหญ่หลายแห่งปิดซ่อมบำรุง ขณะที่บางแห่งลดอัตราการกลั่นเพื่อลดการขาดทุนเนื่องจากราคาขายปลีกในประเทศถูกรัฐบาลควบคุม
(-) อัตราการกลั่นในยุโรปในเดือน มี.ค. 54 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75% ลดลงจากเดือนก่อน 5% จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
(-) Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 54 เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 359.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดีปริมาณสำรอง Gasoline ลดลง 7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 209.7 ล้านบาร์เรล และ Distillates ลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 150.8 ล้านบาร์เรล
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้ ในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent จะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 103-112 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และ 116-126 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ตามลำดับ โดยราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูง จากความไม่สงบในตะวันออกกลางซึ่งนอกจากทำให้การผลิตน้ำมันลดลงแล้วยังทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีความต้องการรายได้จากการขายน้ำมันมากขึ้นเพื่ออุดหนุนนโยบายประชานิยม ได้แก่ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และมีบทบาทในตลาดน้ำมันสูง ประกาศแผนใช้จ่ายระหว่างเดือน ก.พ. - มี.ค. 54 เพื่อเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชนทั้งที่อยู่อาศัย สุขภาพ และการจ้างงานวงเงินรวม 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ก่อภาระผูกพันต่องบประมาณ โดยราคาน้ำมันดิบจะต้องสูงกว่า 85 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ในปี 54 และ 95 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ในปี 55 เพื่อให้งบประมาณสมดุล อย่างไรก็ตามมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดของจีนโดยการเพิ่มสำรองธนาคารพาณิชย์ 0.25% มาอยู่ที่ 20.5% มีผลตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. 54 อาจลดความร้อนแรงของราคาน้ำมัน
โทร. 0 2537-1630 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทรสาร 0 2537 2171