กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--พพ.
พพ.เผยข่าวดีโครงการ CDM ของไทย UN ได้รับรองคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นทางการเพิ่มอีก 1 โครงการ ส่งให้ธุรกิจพลังงานสีเขียวของไทย 3 แห่ง สามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเกิน 100 ล้านบาทต่อปี ชี้มีโครงการ CDM ได้รับหนังสือรับรองแล้ว 131 โครงการ และได้ขึ้นทะเบียนจากยูเอ็น 44 โครงการ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันกว่า 11 ล้านตันต่อปี
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้รับรายงานจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรืออบก. ที่ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดของไทย หรือ CDM ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีโครงการใหม่ที่ได้รับการประกาศปริมาณคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นทางการจากสหประชาชาติ (CERs) ได้แก่ โครงการไบโอแก๊ส ของบริษัท ยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด(มหาชน) จ.กระบี่ โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิต 4,346 ตันคาร์บอนต่อปี ซึ่งถือเป็นโครงการ CDM ลำดับ 3 ของไทยที่ได้รับ CERs ต่อจากโครงการเอที ไบโอพาวเวอร์ จำกัด จ.พิจิตร และโครงการโคราช เวสทู เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าโครงการ ฯ ทั้งหมดสามารถทำรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นปริมาณที่ลดก๊าซเรือนกระจกได้รวม 0.82 ล้านตันคาร์บอนต่อปี รวมทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ในการร่วมดำเนินกิจกรรมกับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกด้วย
สำหรับภาพรวมโครงการ CDM ของไทย มีโครงการที่ได้รับหนังสือรับรองเป็นโครงการ CDM จากอบก. หรือ(Letter of Approval: LoA) แล้วทั้งสิ้น 131 โครงการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 84 เป็นโครงการประเภท ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ รองลงมาได้แก่กลุ่มพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ อาทิ ลม และแสงอาทิตย์ เป็นต้น คิดเป็นปริมาณที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 8.16 ล้านตันต่อปี โดยจากโครงการทั้งหมดที่ได้รับ LoA แล้ว พบว่าได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองโครงการ CDM จากสหประชาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (UNFCCC) จำนวน 44 โครงการ คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการได้ทั้งสิ้น 2.38 ล้านตันคาร์บอนต่อปี
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อการพัฒนาโครงการ CDM ภายใต้พิธีสารเกียวโต ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประโยชน์และโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ CDM พพ. ได้จัดทำคู่มือการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ภาคพลังงานขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาโครงการ CDM โดยแสดงข้อมูลหลักเกณฑ์และลักษณะโครงการที่จะเข้าข่ายเป็นโครงการ CDM ขั้นตอนการดำเนินโครงการ และตัวอย่างของโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ CDM แล้วเป็นต้น ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.dede.go.th หรือติดต่อขอรับคู่มือได้ที่ศูนย์บริการวิชาการพลังงานทดแทน 02 224 -7373 หรือรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : dede_ redp