กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--เวเบอร์ แชนด์วิค
ในสภาวะที่อากาศในบ้านเราเปลี่ยนแปลงบ่อย การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแต่สุขภาพของตัวท่านเท่านั้น หากท่านคือผู้ใช้รถใช้ถนน ท่านก็ยังต้องหมั่นใส่ใจตรวจสภาพรถยนต์ของตนเองอีกด้วย หากรถยนต์ของท่านไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้จากสภาพอากาศที่แปรปรวนนี้ได้
ในการตรวจสอบสุขภาพของรถยนต์นั้น นอกจากผู้ขับขี่จะตรวจสอบระบบการทำงานต่างๆ ของรถยนต์ อาทิ ระบบเบรค ที่ปัดน้ำฝน และระบบไฟต่างๆ แล้ว อีกส่วนประกอบหนึ่งของรถยนต์ที่ผู้ขับขี่ต่างให้ความสำคัญ ก็คือยางรถยนต์ เพราะเจ้าของรถทุกคนตระหนักดีว่า ยางรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพดี จะยิ่งช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่มากยิ่งขึ้น
คุณวีระพงษ์ พุ่มผกา บรรณาธิการ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ มอเตอร์ เรดิโอ เอฟเอ็ม 101 ให้คำแนะนำแก่ผู้ขับขี่ ถึงวิธีการดูแลรักษายางรถยนต์ว่า ผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจสอบลมยางอย่างสม่ำเสมอ โดยเติมลมยางให้อยู่ในระดับที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนด และเมื่อต้องขับรถในขณะฝนตกที่พื้นถนนลื่น ก็ไม่ควรขับรถเร็วมาก และหลีกเลี่ยงการเบรคกระทันหัน
“นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ ยังควรที่จะหลีกเลี่ยงการใช้งานในสภาพถนนไม่เอื้ออำนวย และควรมีการสลับยางรถยนต์ทุกๆ 6 เดือน ซึ่งสามารถทำได้โดยสลับจากหน้าซ้ายไปหลังขวา หลังขวาไปหน้าขวา หน้าขวาไปหลังซ้าย แล้วหลังซ้ายไปหน้าซ้าย ขึ้นกับความเหมาะสม เพื่อช่วยให้ยางมีการสึกหรอเท่าๆ กัน หรือใกล้เคียง นอกจากนี้ เราควรดูแลรักษาสภาพของระบบรองรับน้ำหนักหรือช่วงล่างไปพร้อมๆกัน เพราะหากมุมของล้อผิดเพี้ยนไป หรือช่วงล่างเสียหาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้ยางสึกไม่เท่ากันได้ และเป็นต้นเหตุทำให้ยางเสียหายเร็วขึ้นได้” คุณวีระพงษ์ กล่าว
คุณสมศักดิ์ เชาว์รังสรร บรรณาธิการและผู้ดำเนินรายการวิทยุในเครือออโต้มีเดีย ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงรถยนต์มากว่า 25 ปี เสริมว่า นอกจากการดูแลสภาพยางรถยนต์แล้ว ผู้ขับขี่ควรคำนึงถึงพฤติกรรมการขับขี่ของตน ที่อาจมีผลทำให้ยางเสื่อมสภาพ และส่งผลต่อสมรรถนะของยางในระยะยาวได้
“การที่ผู้ขับขี่ไม่ดูแลเรื่องแรงดันของลมยาง มีการใช้ยางที่เกินกว่าสภาพยางที่ถูกผลิตขึ้นมา หรือจอดรถเบียด หรือชนกับขอบฟุตบาททำให้โครงสร้างยางบิด-หัก-งออยู่เสมอ อีกทั้งยังขาดการตรวจสอบร่องรอยจากวัตถุแหลมคมที่ติดมากับยาง หรือเลือกซื้อยางชนิดที่ต่ำกว่าสภาพการใช้งานจริง ก็จะทำให้ยางเสื่อมสภาพเร็วก่อนกำหนดได้” คุณสมศักดิ์ เผย
หากยางรถยนต์มีการใช้งานจนเสื่อมสมรรถภาพ จนมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อยางใหม่ คุณถิรพร เนาว์ถิ่นสุข นักทดสอบรถ เจ้าของนิตยสาร ออน เดอะ โรด ก็ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจเอาไว้ว่า นอกจากปัจจัยเรื่องราคาแล้ว ผู้ขับขี่ยังควรคำนึงถึงลักษณะการใช้งานของตนด้วย
“ในการเลือกซื้อยางนั้น ผู้ใช้รถคงต้องพิจารณาก่อนว่าต้องการยางที่ให้ความนุ่มเงียบนิ่มนวล หรือต้องการเน้นการยึดเกาะถนนในแบบรถสปอร์ต อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับภูมิประเทศ โดยดูว่ารถที่เราใช้นั้น ใช้งานในเมืองบนถนนหลวงอย่างเดียว หรือว่าวิ่งนอกถนนหลวงบ่อยๆ ต้องขนของหนักอยู่เสมอหรือไม่ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความต้องการของยางที่แตกต่างกันไป แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเงินในกระเป๋า เพราะยางดีๆราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าแลกกับคุณสมบัติเด่นต่างๆ และความปลอดภัยเวลาเดินทางก็คุ้มค่า” คุณถิรพร กล่าว
คุณถิรพร ยังเผยต่อไปว่า เวลาผู้ขับขี่ปรึกษาเรื่องการเลือกซื้อยาง คำถามที่มักได้ยินบ่อยได้แก่คำถามเรื่องอายุของยาง ว่าอายุยังที่แตกต่างกันมีผลต่อประสิทธิภาพหรือไม่ แท้ที่จริงแล้ว ควรเริ่มนับอายุยางเมื่อไร และจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่ายางหมดอายุแล้ว ในเรื่องนี้ คุณถิรพร อธิบายว่า “หลายคนอาจจะคิดว่าอายุของยาง จะเริ่มนับจากวันที่ออกมาจากโรงงานไปอีก 3-5 ปี คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะตราบใดยางยังไม่ลงพื้นหรือประกอบใส่กับล้อ ยังไม่เจอกับแรงดันจากลมยาง แรงกระทำจากการขับขี่ น้ำและสารเคมีต่างๆ บนพื้นถนน รวมไปถึงความร้อนที่เกิดจากการยืดหดตัวของยางขณะใช้งาน ยางก็ไม่กลับบ้านเก่าไปง่ายๆ”
ในกรณีเรื่องการนับอายุของยางนั้น ได้มีการศึกษาและวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐบาลและบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และTUV Rheinland Group Ltd, กรมคมนาคมของประเทศสหรัฐอเมริกา, และองค์กร ADAC ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อผู้ขับขี่รถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนีเพื่อพิสูจน์ว่า แท้จริงแล้ว วันผลิตของยางไม่ได้มีผลกับสมรรถนะของยางอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโดยปกติยางที่ผลิตออกมานั้น เมื่อมีการจัดเก็บที่ดีพอ เช่น การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม และยังไม่ได้เริ่มใช้งาน ก็จะสามารถเก็บยางเส้นนั้นๆ ได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่เสื่อมสภาพ
“อย่างไรก็ตาม หากกำหนดอายุการใช้งานเป็นกิโลเมตร ก็คงประมาณ 50,000-70,000 กม.โดยเริ่มนับจากวันแรกที่เริ่มใช้งานยางเส้นนั้น แต่ทั้งนี้ก็ควรสังเกตเนื้อยางและดอกยาง ไปจนถึงคุณสมบัติในการเกาะถนนว่าแตกต่างจากเดิมหรือเปล่า” คุณถิรพร กล่าวเสริม
คุณวีระพงษ์ เสริมว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไป สามารถตรวจสอบเรื่องการเสื่อมสภาพของยางได้ด้วยตนเอง โดยการตรวจสอบความลึกของร่องดอกยางว่ายังสึกไม่ถึงสะพานยาง ซึ่งมีลักษณะเป็นสันยางเล็กๆ ที่ถูกยกขึ้นมาจากฐานของร่องดอกยาง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบความลึกของดอกยาง นอกจากนี้ยังต้องดู ลักษณะการสึกของดอกยาง เช่น หากยางสึกไม่สม่ำเสมอ หรือสึกเป็นบั้งๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ลมยางไม่เหมาะสม หรือช่วงล่างของรถอาจมีปัญหา ก็ควรรีบแก้ไข
“แต่บางครั้ง เราก็ไม่สามารถสังเกตยางที่เสื่อมสภาพได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ จึงควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญ ทำการตรวจสอบยางอย่างสมำเสมอ” คุณถิรพร เผย
ขณะที่ คุณสมศักดิ์ กล่าวว่า “นอกจากการสังเกตดูจากร่องรอยการสึกหรอ เทียบกับสะพานยางที่ผู้ผลิตทำขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตแล้ว ผู้ขับขี่ยังสามารถตรวจสอบสภาพยาง โดยดูว่ายางมีลักษณะที่ผิดแผกไปจากเดิมหรือไม่ อาทิ มีร่องรอยการแตกลายงา ยางมีการหลุดร่อน เป็นต้น นอกจากนี้พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมของการขับขี่ ก็มีผลต่ออายุการใช้งานของยางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การขับขี่ในพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวย มีการบาดตำจากวัตถุแปลกปลอม เช่น ตะปู ก้อนหินแหลมคม ทำให้ยางรั่วซึม การขับรถตกหลุม หรือกระแทกอย่างรุนแรง อาจทำให้โครงสร้างของยางเสียหาย เกิดอาการบวมได้ หากพบอาการผิดปกติดังกล่าวควรให้ตรวจสอบโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ”
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว แม้ว่าจะผ่านสภาวะอากาศที่มีทั้งแดดร้อน พายุฝนและลมหนาว ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่านก็คงอุ่นใจว่าจะได้รับความปลอดภัยในการขับขี่ จากการดูแลสภาพรถยนต์ และสมรรถนะยางรถยนต์ให้มีความพร้อมในการใช้งานอยู่เสมอ อย่าลืมตรวจเช็คสภาพรถยนต์และยาง ก่อนเดินทางไกลในช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์นี้นะคะ
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ
ฤทัยวรรณ ศิลปาจารย์ หรือต้องหทัย สุดดี
เวเบอร์ แชนด์วิค ประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2343-6000 ต่อ 067 หรือ 174
อีเมล์ ruthaiwan@webershandwick.com หรือ tonghathai@webershandwick.com