กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
เสียงขับเพลงบอกดังกังวานในงานแสดงการกุศล “มรภ.สงขลา ปันน้ำใจไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” เรียกความสนใจจากคนรอบข้างให้เดินตามเสียงเข้ามา พร้อมๆ กับยอดเงินบริจาคที่พุ่งสูงขึ้น และบรรดาสิ่งของจำพวกเสื้อผ้า ข้าวสารอาหารแห้ง ที่เหล่าผู้ใจบุญหลั่งไหลกันมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้
โครงการ มรภ.สงขลา ปันน้ำใจไทย ช่วยภัยน้ำท่วม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ณ บริเวณหน้าอาคาร 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อรวบรวมเงินและสิ่งของบริจาค นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ภายในงานดังกล่าว มีการจัดแสดงเพลงบอกและหนังตะลุงจากโครงการหนังดาวรุ่ง ตะลุงราชภัฏ พร้อมทั้งถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุ FM. 105.75 MHz. ขับกล่อมผู้ร่วมงาน และเพื่อให้ผู้ที่ฟังอยู่ทางบ้าน ได้ดื่มด่ำไปกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
นายธนาวุฒิ ซับมัน หรือ “บิ๊ก” แม่เพลงคณะเพลงบอก บิ๊ก ศ.สมปอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า เพลงบอกไม่ใช่ศิลปะที่มุ่งสร้างรายได้ให้แก่ผู้แสดง หรือสร้างความสนุกสนานแก่ผู้รับชม รับฟังไปวันๆ แต่เพลงบอกคือศิลปะที่ให้สาระ คติ และแง่คิดในการใช้ชีวิต และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือสังคมได้ ดังจะเห็นได้จากการแสดงในงาน มรภ.สงขลา ปันน้ำใจไทย ช่วยภัยน้ำท่วม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำเพลงบอกซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มาใช้ร่วมกับการทำประโยชน์เพื่อสังคม
“เสน่ห์ของเพลงบอกอยู่ที่อยู่ที่การใช้ไหวพริบ ปฏิภาณ ในการบอกเล่าเรื่องราวอย่างมีศิลปะ ตามฉันทลักษณ์ของแม่เพลง และการร้องรับของลูกคู่ ประกอบกับการใช้ฉิ่งเพื่อให้จังหวะสร้างความสนุกสนาน ที่ผ่านมาผมได้รับการหล่อหลอมด้านการขับเพลงบอก จนเกิดเป็นความรัก และตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เข้าแข่งขัน จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เยาวชนเพลงบอก ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ระดับภาคใต้ เมื่อครั้งศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5” นายธนาวุฒิ กล่าว
นายจรูญศักดิ์ บุญญาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า เราสามารถนำศิลปวัฒนธรรมไทย มาหลอมรวมกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของนักศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยของเรา คาดหวังให้นักศึกษาไม่ลืมรากเหง้าความเป็นไทย และมีจิตสำนึกต่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนได้รับการปลูกฝังให้รู้จักการประคับประคองสังคม
“ความสามารถด้านการขับเพลงบอกของ ธนาวุฒิ นับว่าเด่นชัดและฉายแววอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพราะนั่นเป็นที่มาของโอกาสและช่องทางในการฝึกฝนและอวดฝีไม้ลายมือ ตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการหนังดาวรุ่ง ตะลุงราชภัฏ การแสดงเพลงบอกในงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษา งานออกค่ายเพื่อสังคม เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งนอกจากการสืบสานการละเล่นถิ่นใต้แล้ว เขายังได้ถ่ายทอดวิชาขับเพลงบอกให้กับน้องๆ ส่งผลให้ทุกวันนี้เขาสามารถแต่งเพลงบอก และด้นสดเพลงบอกได้ด้วยตนเอง”
ในยุคที่คนรุ่นใหม่มองว่าการละเล่นเพลงบอกเป็นเรื่องล้าสมัย แต่สำหรับบางคน นี่อาจเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ สืบสาน และถ่ายทอดศิลปะอันทรงคุณค่าให้ดำรงอยู่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป