สนช.-วว. —สภาอุตสาหกรรมฯ ผลักดัน 4 ผลงานวิจัยสู่ธุรกิจนวัตกรรม ผู้ว่าเพชรบูรณ์ขันอาสานำร่องนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 10, 2007 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือ “โครงการพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรม” เพื่อนำเสนอตัวอย่างความร่วมมือในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สนช. มุ่งเน้นการสร้างศักยภาพและการดำเนินงานสนับสนุนการยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ การสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และส่งเสริมความสำเร็จด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรม
ทั้งระดับอุตสาหกรรม ระดับองค์กร และระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งภายในเวลา 3 ปี สนช. ได้ให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมไปกว่า 170 โครงการ คิดเป็นวงเงินการสนับสนุน 188 ล้านบาท สร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท นอกจากการเร่งพัฒนาโครงการนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว สนช. ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงการนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ สภาพภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ และวัฒนธรรมที่โดดเด่นของแต่ละจังหวัด ในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมแก่ชุมชนในจังหวัดนั้น ดังนั้น สนช. จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมและผลักดันการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการ โดยเลือกจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดต้นแบบในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดในเชิงพาณิชย์”
ดร. นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบัน วว. มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมในเกิดการนำผลงานดังกล่าวไปพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง อันจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ของประเทศได้อย่างมหาศาล ในการนี้ วว. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นและเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำผลงานวิจัยที่มีศักยภาพมาพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งในเบื้องต้นโครงการที่วิจัยและพัฒนาโดย วว. และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ ได้แก่ เทคโนโลยีการออกแบบและผลิตอิฐบล็อกประสานขั้นสูง เป็นบล๊อกที่มีเดือยล๊อก เพื่อช่วยให้ก่อได้ง่ายขึ้น และใช้การยึดเหนี่ยวระหว่างก้อนปูนทรายเหลวแทนการใช้ปูนก่อทั่วไป เทคโนโลยีการเพาะเห็ดยานางิหรือเห็ดโคนญี่ปุ่นคุณภาพสูง เห็ดดังกล่าวมีรสชาดดี โดยมีลักษณะเนื้อดอก ก้านดอกกรอบแน่น และมีแนวโน้มเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งในประเทศไทย เทคโนโลยีการสกัดน้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวันที่มีความบริสุทธิ์สูง ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การรีไฟน์ด้วยวิธีทางเคมี (Chemical refining) และการรีไฟน์ด้วยวิธีทางกายภาพ (Physical refining) โดยขณะนี้ทั้ง 3 โครงการมีผู้สนใจจะเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว”
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศ ได้แก่ การสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าต้นแบบจากฟางข้าวโพด โดยโครงการดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพดและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรอื่นๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดถึง 1.3 ล้านไร่ และมีซังข้าวโพดเป็นวัสดุเหลือทิ้งหลายแสนตันต่อปี สามารถนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 9.9 เมกกะวัตต์ต่อวัน โดยการเผาซังข้าวโพดที่ใช้เทคโนโลยีระบบเตาเผาที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ความร้อนในการต้มน้ำให้ได้ไอน้ำไปหมุนปั่นสร้างกระแสไฟฟ้า ตัวระบบถูกออกแบบให้มีการดักกรองฝุ่นและควันได้ถึง 97% ทำให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนในการเป็นที่ปรึกษาจากโครงการ CDM (Clean Development Mechanism) ขององค์การสหประชาชาติ และยังได้ตกลงร่วมลงทุนกับบริษัท EPURON ประเทศเยอรมนี ในด้านการร่วมลงทุน และการวิจัยพัฒนาโครงการดังกล่าวร่วมกันอีกด้วย” ดร. นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
นายต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า “จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในด้านเทคโนโลยี ความพร้อมของผู้ประกอบการ ตลอดจนโอกาสในการสร้างให้เกิดธุรกิจขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้ร่วมกันคัดเลือกโครงการนวัตกรรมที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมในจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากจังหวัดเพชรบูรณ์มีอากาศหนาวเย็น จึงเหมาะแก่การเพาะเห็ดเมืองหนาว ซึ่งนับเป็นอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และยังสามารถพัฒนาต่อไปในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ยังมีการปลูกดอกทานตะวันและข้าวโพดจำนวนมาก จึงเหมาะกับการหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เทคโนโลยีการสกัดน้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวันที่มีความบริสุทธิ์สูง รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากซังข้าวโพดเหลือทิ้งนับแสนตันมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพด นอกจากนี้ ยังมีการสร้างกลุ่มเครือข่ายอิฐบล็อกประสานขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายบล็อกประสานที่มีคุณภพดีและได้รับมาตรฐาน อันจะนำมาซึ่งการสร้างบ้านราคาประหยัดและลดการใช้พลังงาน ตลอดจนการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้ในการสร้างอาคารบ้านเรือน จึงนับเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรในจังหวัด ตลอดจนช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย”
โครงการนวัตกรรมนำร่องที่มีศักยภาพในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมในจังหวัดเพชรบูรณ์
การออกแบบและผลิตอิฐบล็อกประสานขั้นสูง
เจ้าของผลงาน: นายวิทยา วุฒิจำนงค์
หน่วยงาน: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
มูลค่าทางเทคโนโลยี: อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าทางเทคโนโลยี
ผู้สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี: นาย นุสิทธิ์ ตันติบูล กลุ่มเครือข่ายบล็อกประสาน จังหวัดเพชรบูรณ์
ความเป็นนวัตกรรม: เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ บล็อกประสาน (Interlocking Block) เป็นบล็อกที่มีเดือยล็อก เพื่อช่วยให้ก่อได้ง่ายขึ้น และใช้การยึดเหนี่ยวระหว่างก้อนปูนทรายเหลว (Liquid Mortar) แทนการใช้ปูนก่อทั่วไป ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบเดือยล็อกเพื่อเพิ่มกำลังยึดเหนี่ยวระหว่างก้อน ช่วยทำให้ผนังบล็อกประสานสามารถรับแรงกระทำได้สูงขึ้น นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาออกแบบรูปทรงของบล็อกแบบต่างๆ ที่มีความสวยงาม ตลอดจนพัฒนาสารเคลือบผิวเพื่อป้องกันการสึกกร่อน บล็อกประสานจึงเป็นวัสดุสร้างบ้านในระบบผนังรับน้ำหนัก ก่อสร้างรั้ว และตกแต่งสถานที่ ที่มีความแข็งแรงสูง ก่อสร้างง่าย และราคาก่อสร้างที่ต่ำกว่าบ้านก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป 15-20% โดย วว. จะเป็นที่ปรึกษาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตบล็อกประสาน ตั้งแต่การออกแบบโรงงาน การจัดวางเครื่องจักรอุปกรณ์ภายในโรงงาน และขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ วว. ยังออกใบรับรองคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับ วว. เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพสำหรับลูกค้าในการนำบล็อกประสานที่ผลิตขึ้นจากโรงงานไปใช้
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอิฐบล็อกสำหรับก่อสร้างเป็นบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยประเมิณบล็อกประสานก้อนละจาก 8-10 บาท ซึ่งโรงงานมีกำลังผลิตประมาณ 5,000 ก้อน/วัน สามารถสร้างรายได้และส่วนแบ่งการตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท/ปี
การเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นมาตรฐาน EUREPGAP
เจ้าของผลงงาน: ดร. ชนะ พรหมทอง
หน่วยงาน: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
มูลค่าทางเทคโนโลยี: อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าทางเทคโนโลยี
ผู้สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี: ดร. จตุรพร พรศิลปทิพย์ กลุ่มเครือข่ายเห็ดเมืองหนาว
ความเป็นนวัตกรรม: เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นหรือเห็ดยานางิ ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งในประเทศไทย เพราะเป็นเห็ดที่มีรสชาดดี โดยมีลักษณะเนื้อดอก ก้านดอกกรอบแน่น นิยมใช้ประกอบอาหารหลายชนิด เนื่องจากเห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นเห็ดเมืองหนาวไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศบ้านเรา และยังขาดเทคโนโลยีขั้นตอนการผลิตที่ดี ทำให้ได้ผลผลิตต่ำและคุณภาพเห็ดไม่สม่ำเสมอ ทางกลุ่มผู้วิจัยได้พัฒนาโรงเรือนระบบปิดแบบต้นทุนต่ำที่ออกแบบให้มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ แสง ปริมาณ
อ็อกซิเจน และโรคแมลงได้ ตลอดจนพัฒนาสูตรอาหารและขั้นตอนการผลิตที่เหมาะสม จนสามารถเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นได้ปริมาณผลผลิตสูง มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และมีขนาดดอกและสีของเห็ดใหญ่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน EUREPGAP (Euro-Retailer Produce Working Group for Good Agricultural Practice)
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นเพื่อการส่งออก และการเพิ่มมูลค่าการแปรรูปผลผลิต เพราะไม่ถูกการกีดกันทางการค้าเนื่องจากมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นจากคุณภาพและปริมาณผลผลิตที่สูงขึ้น
การกลั่นน้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวันที่มีความบริสุทธิ์สูง
เจ้าของผลงาน: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
มูลค่าทางเทคโนโลยี: อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าทางเทคโนโลยี
ผู้สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี: นายธงชัย นุ่มฟู่ บริษัท อีเอช เกษตรอุตสาหกรรม
ความเป็นนวัตกรรม: เป็นนวัตกรรมระดับประเทศในการกลั่นน้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวันที่มีความบริสุทธิ์สูง ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การรีไฟน์ด้วยวิธีทางเคมี (Chemical refining) ประกอบด้วยกระบวนการลดกรด (Neutralization) ด้วยการใช้ด่างเข้าทำปฏิกิริยากับกรดไขมันอิสระที่มีอยู่ในน้ำมัน การฟอกสี และการดูดกลิ่น การรีไฟน์ด้วยวิธีทางกายภาพ (Physical refining) ประกอบด้วยการกำจักกัม (Deguming) ด้วยการใช้กรดฟอสฟอริคเข้ากำจัดกัมที่มีอยู่ในน้ำมัน การฟอกสี และการกลั่นกำจัดกลิ่นด้วยไอน้ำ ในปัจจุบันได้มีการเพาะปลูกทานตะวันเป็นพืชเศรษฐกิจในหลายจังหวัดของประเทศ โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวและจำหน่ายน้ำมันดอกทานตะวันในรูปของน้ำมันดิบ ซึ่งมีราคาต่ำ เนื่องจากเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันบริสุทธิ์เป็นของต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง ทางกลุ่มผู้วิจัยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันดอกทานตะวันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไทย ต้นทุนต่ำ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง สามารถจำหน่ายเป็นน้ำมันสำหรับบริโภคได้
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันดิบ โดยการกลั่นให้มีความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้น และเป็นการลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีราคาแพง
โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพด
เจ้าของผลงาน: บริษัท Lawi engineering (ประเทศเยอรมนี)
มูลค่าทางเทคโนโลยี: ถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว
ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี: นายประกิต วรรณบุษปวิช บริษัท โรงไฟฟ้าชีวมวล บึงสามพัน
ความเป็นนวัตกรรม: เป็นนวัตกรรมระดับประเทศในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพดและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรอื่นๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันจังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดถึง 1.3 ล้านไร่ และมีซังข้าวโพดเป็นวัสดุเหลือทิ้งนับแสนตันต่อปี ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 9.9 เมกกะวัตต์ต่อวัน โดยการเผาซังข้าวโพดที่ใช้ระบบเตาเผาที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ความร้อนจากการเผาในการต้มน้ำให้ได้ไอน้ำไปหมุนปั่นสร้างกระแสไฟฟ้า ตัวระบบได้ถูกออกแบบให้มีการดักกรองฝุ่นและควันได้ถึง 97% ทำให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทฯ ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทางด้านที่ปรึกษาจากโครงการ CDM (Clean Development Mechanism) ขององค์การสหประชาชาติ และยังได้ตกลงร่วมลงทุนกับบริษัท EPURON ประเทศเยอรมัน ในด้านการร่วมลงทุน และการวิจัยพัฒนาโครงการร่วมกัน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศด้านพลังงานทดแทนโดยใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทางบริษัทได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 25 ปี
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Patcharawadee Sutthipool
APPR Media Co.,Ltd.
1054/8 New Petchburi Rd,
Tel : +66 2655 6633 Fax: +66 2655 3560-1
Email : patcharawadee@apprmedia.com
http://www.apprmedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ