ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศผลกำไรไตรมาสแรก 282 ล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2011 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยแจ้งผลการดำเนินงานก่อนการสอบทาน ไตรมาส 1 ปี 2554 มีรายได้รวม 1.5 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 282 ล้านบาท พร้อมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตขึ้นในอัตราเลข 2 หลัก โดยยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ด้วยอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 2.7% นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยรายได้และสินเชื่อมีอัตราเติบโตที่แข็งแกร่งและมีที่มาของรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ไว้ได้ ซึ่งธนาคารเชื่อว่าจะสามารถรักษามาตรฐานในการดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือเพื่อให้ผลประกอบการทั้งปี เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” สำหรับผลการดำเนินงานก่อนการสอบทานของธนาคารและบริษัทย่อย สำหรับไตรมาส 1 ปี 2554 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 1 ปี 2553 ที่มีรายได้รวม 1.6 พันล้านบาท ลดลง 106 ล้านบาท หรือ 6% โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้นเพิ่มขึ้น 95 ล้านบาท หรือ 9% สะท้อนการเติบโตของสินเชื่อ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 29 ล้านบาท หรือ 24% ตามค่าธรรมเนียมจากการให้สินเชื่อและประกันภัยที่เพิ่มขึ้น รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง 281 ล้านบาท หรือ 69% เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2553 ธนาคารมีกำไรจากรายการพิเศษคือ การขายอาคารสำนักงานใหญ่ที่สาทร หากหักรายการพิเศษนี้ออก รายได้จากการดำเนินงานอื่นควรจะสูงขึ้น 13% อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin — NIM) สำหรับไตรมาส 1 ปี 2554 และปี 2553 อยู่ที่ 3.8%เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคาร ณ ไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ 9.72 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ 31 ธันวาคม 2553 ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี ขณะที่ยอดเงินฝากและตั๋วแลกเงิน ณ ไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่จำนวน 1.06 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 1.11 แสนล้านบาท หรือ 5% สะท้อนยุทธศาสตร์การลดต้นทุนของธนาคาร ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของกลุ่มธนาคาร (รวมตั๋วแลกเงิน) อยู่ที่ 92% ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเฉพาะธนาคาร (รวมตั๋วแลกเงิน) อยู่ที่ 91% จากการดำเนินการตามนโยบายของธนาคารในการเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมทั้งการดำเนินการขายบริษัทบริหารสินทรัพย์ สาทร จำกัด และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ออกไปในไตรมาส 4 ปี 2553 ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Gross NPLs) ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 ลดลงเหลือเพียงจำนวน 2.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) 2.7% ดีขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2553 ที่ 10.2% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อสำหรับไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ 0.3% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 0.8% สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ และคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ 97.1% ปรับตัวดีขึ้นมากจากสิ้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 91.4% ตามนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดและเพื่อลดความผันผวนของรายได้ในกรณีเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 34 ล้านบาทหรือ 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ลดลง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 75% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 68% เนื่องจากรายการพิเศษขายอาคารสำนักงานใหญ่ที่สาทรดังที่กล่าวมาแล้ว หากไม่นับรายการพิเศษดังกล่าว อัตราส่วนค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จะดีขึ้นจาก 83% ณ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 75% ในปีนี้ สำหรับเงินกองทุนของธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2554 มีจำนวน 1.67 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 13.96% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 8.45% ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มี 151 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังให้บริการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท ให้บริการกองทุนรวม การจัดการสินทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริการต่างๆผ่านทางบริษัทในเครือและสาขา ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดิมรู้จักกันในชื่อ ไทยธนาคาร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มซีไอเอ็มบี ในปี 2552 เมื่อกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้เข้าถือหุ้น 93.15% โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 สินทรัพย์และกองทุนผู้ถือหุ้นของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าคิดเป็น 138,965,719,584 และ 7,623,461,927 บาทตามลำดับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น ‘บวก’ (Positive) จากเดิมที่จัดอยู่ในระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ (Stable) เมื่อเร็วๆนี้ อันเป็นผลลัพธ์จากการที่ธนาคารได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มซีไอเอ็มบี ที่แข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB-’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1 (tha)’ อันดับเครดิตในประเทศสำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier2) ของ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่ ‘A-(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคารที่ ‘2’ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ จิตติมา ชวลิตนิมิตกุล (เต้ย) สำนักสื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์: +66 2638 8000 ต่อ 8249 โทรสาร: +66 2657 3084 อีเมล์: jittima.c@cimbthai.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ