พม. ร่วมสาน “สายใยรักแห่งครอบครัว” เร่งขยายผล “เล่านิทานฯ” สู่ 30 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Tuesday April 19, 2011 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์ การพัฒนามนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ในช่วงอายุตั้งแต่ 0-6 ปี เพราะเป็นช่วงวัยที่เซลสมองจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนามากที่สุด ดังนั้นการที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีต้นทุนชีวิตที่ดีทั้งกายและใจจึงต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย สถาบัน “ครอบครัว” คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ดังพระประณิธานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงกล่าวไว้ว่า... “ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงประณิธานเกี่ยวกับโครงการสายใยรักฯ ซึ่งในเบื้องต้นเกิดมาจากความต้องการของข้าพเจ้าที่อยากจะดูแลปัญหาเยาวชนที่ไม่มีอนาคต หรือพวกเร่ร่อนจรจัด ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ยาก คือต้องแก้ไขที่สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นต้นเหตุโดยการให้ความอบอุ่นแก่เด็กตั้งแต่แม่เริ่มตั้งครรภ์จนคลอด และเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องซึ่งความอบอุ่นของครอบครัวจะทำให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีสุขภาพจิตที่ดี อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะติดตัวเด็กไปในอนาคต” “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเครือข่ายต่างๆร่วมกันสืบสานพระปณิธาน เพื่อทำงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว อันจะนำไปสู่การสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและต้นทุนสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ และเพื่อเป็นการสืบสานพระปณิธาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในการสร้างสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ดำเนินโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ภายใต้ “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว” ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยการสร้าง “วิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก” ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการเด็ก เทคนิค วิธีการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก รวมไปถึงสามารถจัดกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่พ่อแม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเด็กด้วยการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกส่งผ่านจากวิทยากรไปสู่พ่อแม่หรือผู้ปกครองนั้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการเลี้ยงดูบุตรหลาน หลายครอบครัวมีมุมมองในการเสริมสร้างพัฒนาการของลูกหลานที่เปลี่ยนไป มองเห็นประโยชน์ของการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก ว่ามีผลต่อการส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาการทางภาษา และที่สำคัญกระบวนการเหล่านี้ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความรัก ความอบอุ่น และความผูกพันให้เกิดขึ้นในครอบครัวอย่างแน่นแฟ้น นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยว่า โครงการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดวิทยากรฯกว่า 1,000 คนในพื้นที่ดำเนินงานของ“ศูนย์ 3 วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว” ทั้ง 19 จังหวัด และได้สร้างเวทีเรียนรู้พ่อแม่รวม 75 เวที โดยมีพ่อแม่และผู้ปกครองเข้าร่วมเวทีเรียนรู้รวม 3,260 คน หรือประมาณ 2,500 ครอบครัว ซึ่งในปี 2554 จะขยายการดำเนินการในสร้างวิทยากรกระบวนการออกไปอีก 11 จังหวัด และตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายผลการดำเนินงานออกไปให้ครบทุกจังหวัดภายในปี 2555 โดยมุ่งหวังให้เกิดวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก และทุกฝ่ายในสังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กร่วมกัน “ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าอยากให้เด็กฉลาดก็ต้องเล่านิทานให้ฟัง ถ้าอยากให้เด็กฉลาดมากขึ้นก็ต้องเล่านิทานให้ฟังมากขึ้น เพราะการเล่านิทานอ่านและเล่นกับลูก ทำให้ร่างกายของเด็กได้เคลื่อนไหว ตาได้ดู หูได้ฟัง จิตใจอารมณ์ก็มีความสุข มีความสนุก และการที่พ่อแม่ได้กอดได้อุ้มได้ใกล้ชิดกับลูก ก็จะสร้างสร้างให้เกิดสัมพันธ์ภาพที่เต็มไปด้วยความรักและความอบอุ่นในครอบครัว และที่สำคัญก็คือเรื่องของสติปัญญา เพราะเด็กในช่วง 0-6 ปีสมองจะมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ถ้าเราไม่พัฒนาเด็กในช่วงนี้ก็เรียกว่าแทบจะสายไปแล้ว ดังนั้นโครงการนี้ จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของเด็กให้มากที่สุดเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาตัวของเด็กเองและครอบครัวในอนาคต” นายปกรณ์กล่าว และในปีนี้ยังได้มีการต่อยอดการดำเนินงานโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก”ออกไปสู่เด็กในช่วงอายุ 7-9 ปี โดยจัดให้มีกิจกรรม “วัยซนค้นโลก” ประกวดแข่งขันการทำ “ของเล่นลอยน้ำ” โดยนำร่องกับโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ศูนย์ 3 วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว 30 แห่งทั่วประเทศ และสถานสงเคราะห์เด็ก ในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อีกจำนวน 10 แห่ง เพื่อชิงโล่ประทาน เกียรติบัตร และเงินรางวัลกว่า 1.5 แสนบาท “เพราะเด็กในช่วงอายุ 7-9 ปีจะเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น ประกอบกับน้ำก็เป็นวิถีชีวิตของคนไทย จึงได้จัดให้มีการประกวดของเล่นลอยน้ำขึ้น โดยให้เด็กใช้ทักษะกระบวนการเรียนรู้ 8 ส. คือ สงสัย สำรวจ สังเกต สัมผัส สรุปผล สื่อสาร สร้างสรรค์ และสั่งสม ให้เด็กๆ ได้มาลองออกแบบและประดิษฐ์ของเล่นลอยน้ำขึ้นตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น และตามที่จินตนาการของเด็กจะสร้างขึ้นมา ซึ่งกิจกรรมนี้จะเป็นการสอนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวหรือ เรียนรู้จากการกระทำ โดยการมีส่วนร่วมของบ้าน โรงเรียน และชุมชน” นายปกรณ์กล่าวถึงแนวคิดในการจัดกิจกรรมวัยซนค้นโลก ซึ่งการดำเนินงานโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” รวมไปถึงกิจกรรม “วัยซนค้นโลก” นั้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มุ่งหวังที่จะสร้างให้เกิดความรักความอบอุ่นขึ้นในสถาบันครอบครัว ตามแนวทางของ “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว” เพื่อสร้างเด็กไทยรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพและสามารถก้าวไปแข่งขันกับสังคมโลกได้ “เราเชื่อว่าการทำให้เด็กไทยมีร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่พร้อมในช่วงวัยนี้ จะทำให้เด็กไทยมีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งพร้อมยืนได้อย่างมั่นคงและก้าวไปอย่างมีความสร้างสรรค์ในอนาคตได้ ที่สำคัญเราต้องการจุดประกายให้สังคมไทยเห็นว่า อย่าไปรอที่จะพัฒนาเด็ก เพราะเด็กสามารถพัฒนาได้ตั้งแต่ในครรภ์ ไม่ต้องอาศัยความพร้อมจากที่ไหน เพราะความพร้อมอยู่ที่ตัวของพ่อแม่ ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และในตัวของเราเอง จึงไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาวัสดุอุปกรณ์ที่มีราคาแพง เพราะหัวใจของการพัฒนาครอบครัวคือ เวลา กิจกรรม และการเรียนรู้ โดยพ่อแม่จะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก” อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกล่าวสรุป. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เหมวดี พลรัฐ บริษัท ไอแอมพีอาร์ จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ